บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ทำความเข้าใจเรื่องอจินไตย

ทำความเข้าใจเรื่องอจินไตย

—————————-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า

อจินไตย : (คำวิเศษณ์) ที่พ้นความคิด, ไม่ควรคิด, (สิ่งที่เป็นอจินไตยมีอยู่ ๔ อย่างด้วยกัน คือ พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑). (ป. อจินฺเตยฺย; ส. อจินฺตฺย).”

อจินไตย” แปลว่า “เรื่องที่ไม่ควรคิด” หมายความว่าเรื่องที่จะคิดหาคำตอบด้วยหลักเหตุผลธรรมดาไม่ได้

สิ่งที่เป็น “อจินไตย” มี ๔ อย่าง คือ –

๑ “พุทธวิสัย” เช่น ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงทราบสรรพสิ่ง หรือทรงปฏิบัติการบางอย่างได้เหนือมนุษย์

๒ “ฌานวิสัย” คือความสามารถของผู้สำเร็จฌานสมาบัติ เช่น ทำไมคนที่สำเร็จฌานจึงเหาะเหินเดินอากาศได้ แสดงอิทธิฤทธิ์แปลกประหลาดมหัศจรรย์ได้ 

๓ “กรรมวิบาก” คือการให้ผลแห่งกรรม เช่น ทำไมกรรมจึงตามสนองคนที่ทำชั่วทำดีได้แปลกประหลาดคาดไม่ถึง เช่นเครื่องบินตก คนตายหมด แต่รอดมาได้คนเดียว

หรือว่า-ทำไมกรรมจึงตามให้ผลแก่คนทำกรรมนั้นได้ถูกตัวแน่นอนแม่นยำ ทั้งๆ ที่พลโลกมีเป็นร้อยล้านพันล้าน หรือข้อสงสัยว่ากรรมมีกำลังหรือมีแรงส่งผลข้ามภพข้ามชาติได้อย่างไร 

๔ “โลกจินดา” คือความคิดเรื่องโลก เช่น โลกนี้เกิดมีขึ้นมาได้อย่างไร ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์มีมาได้อย่างไร สัตว์ชนิดนั้นพืชพันธุ์ชนิดนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร 

ทั้ง ๔ เรื่องนี้ คิดไปก็หาคำตอบที่จุใจตัวเองไม่ได้ นอกจากจะเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงเสียก่อนจึงจะหมดสงสัย 

เรื่องอจินไตยมาในพระไตรปิฎก คือคัมภีร์อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๗๗ ขอยกมาเสนอเพื่อเจริญปัญญา ดังนี้ –

…………..

จตฺตารีมานิ  ภิกฺขเว  อจินฺเตยฺยานิ  น  จินฺเตตพฺพานิ  ยานิ  จินฺเตนฺโต  อุมฺมาทสฺส  วิฆาตสฺส  ภาคี  อสฺส. 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย ๔ อย่างนี้ไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า

กตมานิ  จตฺตาริ.

อจินไตย ๔ คืออะไรบ้าง 

พุทฺธานํ  ภิกฺขเว  พุทฺธวิสโย  อจินฺเตยฺโย  น  จินฺเตตพฺโพ  ยํ จินฺเตนฺโต  อุมฺมาทสฺส  วิฆาตสฺส  ภาคี  อสฺส. ฯเปฯ

พุทธวิสัยแห่งพระพุทธทั้งหลายเป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า ฯลฯ

…………..

คัมภีร์มโนรถปูรณีอันเป็นอรรถกถาของอังคุตรนิกาย ขยายความไว้ดังนี้ 

…………..

พุทฺธวิสโยติ  พุทฺธานํ  วิสโย  สพฺพญฺญุตญาณาทีนํ  พุทฺธคุณานํ  ปวตฺติ  จ  อานุภาโว  จ.

คำว่า พุทฺธวิสโย แปลว่า “วิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” คือ ความเป็นไปและอานุภาพของพระพุทธคุณมีพระสัพพัญญุตญาณเป็นต้น

ฌานวิสโยติ  อภิญฺญาฌานวิสโย. 

คำว่า  ฌานวิสโย ได้แก่ ฌานวิสัยในอภิญญา

กมฺมวิปาโกติ  ทิฏฺฐธมฺมเวทนียาทีนํ  กมฺมานํ  วิปาโก.

คำว่า กมฺมวิปาโก ได้แก่ วิบากแห่งกรรมมีทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในปัจจุบันทันตาเห็น) เป็นต้น 

โลกจินฺตาติ  เกน  นุ  โข  จนฺทิมสุริยา  กตา  เกน  มหาปฐวี  เกน  มหาสมุทฺโท  เกน  สตฺตา  อุปฺปาทิตา  เกน  ปพฺพตา  เกน  อมฺพตาลนาฬิเกราทโยติ  เอวรูปา  โลกจินฺตา.

คำว่า โลกจินฺตา หมายถึงความคิดเรื่องโลก เช่นว่า-ใครหนอสร้างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ใครสร้างแผ่นดินใหญ่ ใครสร้างมหาสมุทร ใครสร้างสัตว์ให้เกิด ใครสร้างภูเขา ใครสร้างต้นมะม่วง ต้นตาล และต้นมะพร้าวเป็นต้น 

ที่มา: มโนรถปูรณี ภาค ๒ หน้า ๕๓๔

…………..

หมายเหตุเฉพาะ “โลกจินฺตา

คำว่า “โลกจินฺตา” หรือ “โลกจินดา” นี้ บางท่านเข้าใจว่าหมายถึง-ความคิดจิตใจของชาวโลก รวมตลอดถึงพฤติกรรมพฤติการณ์ต่างๆ ของมนุษย์และสัตว์ เช่น-ทำไมคนเราจึงชอบทำอย่างนั้น ชอบคิดอย่างนี้ ซึ่งชวนให้เห็นว่าเป็นเรื่องซับซ้อนหาเหตุผลไม่ได้ จึงจัดว่าเป็น “อจินไตย” เรื่องที่ไม่ควรคิด 

แต่เมื่อดูคำอธิบายของอรรถกถาแล้ว ไม่ใช่เช่นนั้น “โลกจินดา” หมายถึงความคิดสงสัยเรื่องโลก เช่นโลกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครสร้างโลกเป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่หาคำตอบแน่นอนไม่ได้ บางทฤษฎีที่เคยเชื่อกัน แต่มาภายหลังก็ถูกหักล้างว่าไม่ใช่เช่นนั้น แม้ทฤษฎีที่ค้นพบใหม่ๆ ตอนนี้ ในอนาคตก็อาจจะถูกหักล้างอีก เป็นอันหาคำตอบแน่นอนไม่ได้อยู่นั่นเอง

ปัญหา “โลกจินดาใครสร้างโลก” นี้ บางศาสนาตอบคลุมลงไปว่า “พระเจ้าสร้าง” แต่เมื่อมีคนช่างสงสัยย้อนถามว่า แล้วใครสร้างพระเจ้า คำตอบที่ว่า-พระเจ้าเป็นสยัมภู เกิดเองเป็นเองไม่มีใครสร้าง ก็ชวนให้สรุปว่า ก็ถ้าพระเจ้าเกิดเองได้ โลกและสรรพสิ่งจะเกิดเองบ้างไม่ได้หรือ 

จะเห็นได้ว่า ในที่สุดก็ไม่มีคำตอบที่สมเหตุสมผล ท่านจึงว่า “โลกจินดา” เป็น “อจินไตย” เรื่องที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง

…………..

เรื่องอจินไตยนี้ท่านไม่ได้ห้ามสงสัย ใครจะสงสัยก็ได้ เชิญสงสัยได้เต็มที่ แต่จะค้นหาคำตอบที่จุใจหรือพอใจตัวเองนั้น จะหาไม่พบ ได้คำตอบตรงนี้ ก็จะไปเจอข้อเยื้องแย้งตรงโน้น ซึ่งในที่สุดก็มักจะจบลงด้วยคำว่า “เป็นไปไม่ได้” คือยุติไม่ได้ว่าเป็นอย่างไรกันแน่ ทั้งนี้เพราะเอาวิสัยหรือขอบเขตของผู้คิดหาคำตอบนั่นเองเป็นเกณฑ์

…………..

ตามหลักในพระพุทธศาสนา สิ่งที่เป็นอจินไตยมี ๔ อย่าง

ไม่ใช่ทุกอย่างล้วนเป็นอจินไตย

ความคิดที่ว่า “ทุกอย่างล้วนเป็นอจินไตย” อาจเป็นความคิด ความเห็น หรือความเข้าใจส่วนตัวของใครบางคนหรือบางสำนัก อาจเข้าใจเช่นนั้นเพราะไม่ได้ศึกษาพระไตรปิฎก หรือศึกษามาแล้ว แต่ไม่เชื่อหรือไม่เห็นด้วย จึงตั้งความเชื่อความเห็นของตนขึ้นมาเอง

พระไตรปิฎกว่า อจินไตยมี ๔ อย่าง ไม่ใช่ทุกอย่าง

ข้าพเจ้าว่า ทุกอย่างล้วนเป็นอจินไตย ไม่ใช่แค่ ๔ อย่าง

นี่ก็เป็นเสรีภาพอย่างหนึ่ง-เสรีภาพทางความคิดเห็น

…………………………………..

อจินติตสูตร อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๗๗

https://84000.org/tipitaka/read/?21/77

…………………………………..

หลักสำคัญที่พึงจำและพึงปฏิบัติตามวิถีของผู้เจริญแล้วก็คือ หลักคำสอนในพระไตรปิฎกหรือในคัมภีร์ มีว่าอย่างไร คงของท่านไว้ เราไม่มีสิทธิ์ไปแย่งยื้อรื้อทิ้ง 

จะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะนับถือหรือไม่นับถือ นั่นคือสิทธิ์ของเรา 

คนมาทีหลังเขาจะได้เห็นเหมือนกับที่เราได้เห็น เขาจะได้มีโอกาสใช้สิทธิ์เชื่อหรือไม่เชื่อเหมือนกับที่เรามีโอกาสใช้

ถ้าเราแน่ใจว่า หลักคำสอนที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎกหรือในคัมภีร์นั้นผิดพลาดคลาดเคลื่อน หรือไม่ถูกไม่จริง และเราประสงค์จะโต้แย้งหักล้าง เราก็มีสิทธิ์ที่จะยกความเห็นของเราขึ้นมาสู้กัน สู้กันด้วยเหตุด้วยผลตามวิถีของผู้เจริญแล้ว

ที่มักปรากฏในปัจจุบันนี้ก็คือ แสดงความคิด ความเห็น ความเชื่อ หรือ “ลัทธิ” ของตัวเองนำหน้าขึ้นมาก่อน หลักคำสอนในพระไตรปิฎกหรือในคัมภีร์มีว่าอย่างไรไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ 

ครั้นปรากฏว่าลัทธิที่ตนแสดงออกมานั้นไม่ตรงกับพระไตรปิฎกคือไม่ตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้า คราวนี้ชักยุ่งแล้ว จะยอมรับว่าข้าพเจ้าเข้าใจผิดไป ก็เสียหน้า ส่วนมากมักจะดันทุรังต่อไปว่าลัทธิของข้าพเจ้าไม่ผิด พยายามหาเหตุผลสารพัดมาสนับสนุน ถ้าจัดหามวลชนได้เก่ง มีผู้เชื่อถือเห็นคล้อยตามด้วยมากๆ คราวนี้ก็เลยเกิดเป็นสำนักใหม่ หรือดีไม่ดีกลายเป็นนิกายใหม่ขึ้นมา

…………………………………..

๑ ศึกษาให้เข้าใจชัดเจนก่อนว่าท่านสอนอะไร-ไม่ได้สอนอะไร แล้วจึงค่อยนับถือเลื่อมใส จึงค่อยเข้าไปในศาสนาของท่าน

๒ เข้าไปแล้ว ไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจกับคำสอนข้อไหน อยากจะตั้งลัทธิของตัวเอง ก็ออกไปจากศาสนาของท่านเสียก่อน ออกไปแล้วจะไปตั้งลัทธิอะไรอย่างไรก็บอกไปชัดๆ ตรงๆ ว่านี่เป็นคำสอนของข้าพเจ้าเอง ให้คนเขานับถือเลื่อมใสคำสอนของข้าพเจ้าแท้ๆ ล้วนๆ อย่าเอาไปอิงไว้กับคำสอนของท่าน

…………………………………..

ถ้ากล้าทำอย่างนี้ ก็จะไม่ก่อปัญหาเรื่องความแตกแยกในหลักคำสอน เป็นการใช้เสรีภาพทางศาสนาหรือเสรีภาพทางความคิดเห็นที่ถูกต้องชอบธรรมด้วย

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ ธันวาคม ๒๕๖๔

๑๕:๔๖

……………………………………

ทำความเข้าใจเรื่องอจินไตย

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *