อุปนิสินนกถา (บาลีวันละคำ 3,475)
อุปนิสินนกถา
“จับเข่าคุยกัน”
อ่านว่า อุ-ปะ-นิ-สิน-นะ-กะ-ถา
ประกอบด้วยคำว่า อุปนิสินน + กถา
(๑) “อุปนิสินน”
เขียนแบบบาลีเป็น “อุปนิสินฺน” (มีจุดใต้ นฺ ตัวหน้า) อ่านว่า อุ-ปะ-นิ-สิน-นะ) แยกศัพท์เป็น อุป + นิสินฺน
(ก) “อุป” อ่านว่า อุ-ปะ
ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “อุป-” :
“อุป-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) อ่านว่า อุ-ปะ- เป็นคำจำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค”
นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “อุป : เข้าไป, ใกล้, มั่น”
“อุป” ในบาลีใช้ในความหมายตามบริบทต่างๆ ประมวลได้ดังนี้ –
(1) ข้างบน, บน (on upon, up)
(2) ข้างนอก (out)
(3) สุดแต่ (up to)
(4) สูงขึ้น, ข้างต้น (higher, above)
(5) ใกล้ชิด, ใกล้เคียง, ใกล้ (close by, close to, near)
(6) ทีเดียว, โดยประการทั้งปวง (quite, altogether)
(7) เกือบ, ราว ๆ, ค่อนข้าง, เล็กน้อย, รอง, โดย –, น้อย ๆ, ทำตามแบบ (nearly, about, somewhat, a little, secondary, by — , miniature, made after the style of)
(ข) “นิสินฺน” อ่านว่า นิ-สิน-นะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + สิทฺ (ธาตุ = หยุด, จบ, จม) + ต ปัจจัย, แปลง ต กับ ทฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺน
: นิ + สิทฺ = นิสิทฺ + ต = นิสิทต > นิสินฺน แปลตามศัพท์ว่า “นั่งแล้ว” คือ นั่งลง, นั่งอยู่ (sitting down, seated)
อธิบายแทรก :
(1) นิ + สิทฺ ธาตุ ทำให้ความหมายของธาตุเปลี่ยนไป = “นั่ง”
(2) ตำราบางแห่งบอกว่า “นิสินฺน” รากศัพท์มาจาก นิ + สทฺ (ธาตุ อยู่, ยินดี ฯลฯ) = “นั่ง” แปลง สทฺ เป็น สิทฺ
อุป + นิสินฺน = อุปนิสินฺน (อุ-ปะ-นิ-สิน-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “เข้าไปนั่ง” หรือ “นั่งใกล้”
คำกริยาสามัญของ “อุปนิสินฺน” คือ “อุปนิสีทติ” (อุ-ปะ-นิ-สี-ทะ-ติ) แปลว่า นั่งอยู่ใกล้ ๆ หรือนั่งลงข้าง ๆ (to sit close to or down by)
(๒) “กถา”
รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กถฺ + อ = กถ + อา = กถา แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องอันท่านกล่าวไว้”
“กถา” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การพูด, การคุย, การสนทนา (talk, talking, conversation)
(2) ถ้อยคำ, เทศนา, ปาฐกถา (speech, sermon, discourse, lecture)
(3) เรื่องยาวๆ (a longer story)
(4) คำพูด, ถ้อยคำ, คำแนะนำ (word, words, advice)
(5) การอธิบาย, การขยายเนื้อความ (explanation, exposition)
(6) การสนทนาหรืออภิปราย (discussion)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กถา : (คำนาม) ถ้อยคํา, เรื่อง, คําอธิบาย, คํากล่าว. (ป.).”
อุปนิสินฺน + กถา = อุปนิสินฺนกถา (อุ-ปะ-นิ-สิน-นะ-กะ-ถา) แปลตามศัพท์ว่า “ถ้อยคำของผู้นั่งใกล้” หมายถึง เข้าไปนั่งใกล้ๆ กัน และพูดคุยกัน
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของ “อุปนิสินนกถา” ไว้ดังนี้ –
…………..
อุปนิสินนกถา : “ถ้อยคำของผู้เข้าไปนั่งใกล้”, การนั่งคุยสนทนาอย่างกันเองหรือไม่เป็นแบบแผนพิธี เพื่อตอบคำซักถาม แนะนำชี้แจง ให้คำปรึกษา เป็นต้น
…………..
ตามคำอธิบายนี้ อาจแปล “อุปนิสินนกถา” แบบชาวบ้านๆ ว่า “จับเข่าคุยกัน”
เชื่อหรือไม่ คำว่า “จับเข่าคุยกัน” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ ด้วย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จับเข่าคุยกัน, จับหัวเข่าพูด : (ภาษาปาก) (คำกริยา) พูดปรับความเข้าใจกันอย่างใกล้ชิด.”
…………..
เชื่อหรือไม่ว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วนมากเกิดจากการที่คนไม่ใช้ “อุปนิสินนกถา” = พูดปรับความเข้าใจกันอย่างใกล้ชิด
และปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วแก้ได้ยากที่สุด ก็เนื่องมาจากคนไม่ใช้วิธี “พูดปรับความเข้าใจกันอย่างใกล้ชิด” = อุปนิสินนกถา นั่นเอง แต่นิยมการติฉินนินทากันอยู่ห่างๆ
“จับเข่าคุยกัน” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
แต่ “อุปนิสินนกถา” ยังไม่ได้เก็บไว้ อาจต้องรอให้กรรมการฯ มีเวลาจับเข่าคุยกันสักพักก่อน
หมายเหตุ :
“จับเข่าคุยกัน” ตามสำนวนไทยนั้น หมายถึง นั่งคุยกันใกล้ๆ ในระยะที่ฝ่ายหนึ่งสามารถเอื้อมมือไปจับเข่าของอีกฝ่ายหนึ่งได้
ไม่ได้หมายถึงต่างคนต่างนั่งจับเข่าของตัวเองแล้วคุยกันอย่างในภาพที่เห็น
…………..
ดูก่อนภราดา!
แม้จะมีโอกาส “จับเข่าคุยกัน” ก็อย่าเพิ่งวางใจสนิท
: คนพาลมักจะพูดกันผิดๆ
: แต่บัณฑิตย่อมพูดกันดีๆ
#บาลีวันละคำ (3,475)
17-12-64
…………………………….