บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ตั้งเปรียญ

คำว่า “พระมหา” มีกฎหมายรองรับหรือเปล่า (๒)

——————————————-

จากข้อสงสัยว่า คำนำหน้าชื่อพระว่า “พระมหา” มีมติ กฎหมาย หรือคำสั่งอะไรรับรองหรือไม่ ทำให้ต้องหาหลักฐาน

หลักฐานเท่าที่ผมหาได้ก็มี “ประกาศกรมการศาสนาเรื่อง การเรียกคำนำหน้าชื่อของพระสงฆ์” ออกมาเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๒๗ บอกว่า 

………………………………

พระภิกษุธรรมดาทั่วไป ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระ” เช่น พระสวัสดิ์ ควรต่อท้ายด้วยฉายา เป็น พระสวัสดิ์ สิริปุญฺโญ แต่ถ้าเป็นเปรียญตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไป ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” ต่อท้ายด้วยฉายา เช่น พระมหาสวัสดิ์ สิริปุญฺโญ

………………………………

เมื่อค้นไปอีก ก็ไปเจอมติมหาเถรสมาคม เรื่องการใช้คำนำหน้านามของพระภิกษุสามเณร ออกมาเมื่อปี ๒๕๔๖ ขอคัดมาให้ดูดังนี้ 

………………………………

มติมหาเถรสมาคม

ครั้งที่ ๒๐/๒๕๔๖

สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

มติที่ ๓๖๕/๒๕๔๖

เรื่อง การใช้คำนำหน้านามของพระภิกษุสามเณร

ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๒๐/๒๕๔๖ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ตามที่ปรากฏว่า สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ออกแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรจากฐานข้อมูลจากทะเบียน โดยใช้คำว่านาย นำหน้า นาม-ฉายา ของพระสงฆ์ อาทิ พระเมธีธรรมาจารย์ เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพมหานคร ถูกแก้ไขเป็นนายเมธีธรรมาจารย์ ผ่องสุภาพ และกรมการปกครองได้มีหนังสือขอข้อมูลเกี่ยวกับสมณศักดิ์ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้คำนำหน้านามของพระภิกษุสามเณรนั้น

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือเป็นการภายในกับเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนกลางแล้ว ได้ข้อสรุปเบื้องต้น ดังนี้

๑. การระบุสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานของพระภิกษุในทะเบียนราษฎรของวัดให้พิจารณาดำเนินการตามหลักฐานหนังสือสุทธิประกอบกับหลักฐานการได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ของพระภิกษุ และเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานทะเบียนราษฎร ให้ระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ของพระภิกษุประกอบด้วย โดยวงเล็บต่อท้ายสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน

๒. การใช้คำนำหน้านามพระภิกษุที่ไม่เคยได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ในทะเบียนราษฎรของวัด ให้ใช้คำว่า “พระ” เป็นคำนำหน้านาม โดยให้ใช้คำว่า “พระ” แล้วตามด้วยชื่อตัว ชื่อสกุลของพระภิกษุ

๓. การใช้คำนำหน้านามของสามเณรในทะเบียนราษฎรของวัด ให้ใช้คำว่า “สามเณร” เป็นคำนำหน้านาม โดยให้ใช้คำว่า “สามเณร” แล้วตามด้วย ชื่อตัว ชื่อสกุล ของสามเณร

สำนักทะเบียนกลางจะได้ดำเนินการตรวจสอบทะเบียนราษฎรของวัดในพื้นที่ หากพบว่ามีข้อบกพร่อง หรือมีการลงรายการที่ไม่สอดคล้องตามข้อสรุปนี้ จะได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งนี้ ในการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายการจะปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง มิให้พระภิกษุสามเณรได้รับความเดือดร้อน

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพิจารณาแล้ว เห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณาและขอดำเนินการทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม

ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติให้ความเห็นชอบ และให้ดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม

(ลงชื่อ) สุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์

(นายสุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์)

เลขาธิการมหาเถรสมาคม

………………………………

ที่มา: หนังสือ คู่มือพระสังฆาธิการ สถาบันพระสังฆาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๘ 

หน้า ๑๙๗ (เลขหน้าไฟล์ pdf 203) 

ดาวน์โหลดไฟล์ได้ที่ลิงก์นี้:

………………………………

http://www.esbuy.net/_files_school/00000837/document/00000837_0_20160529-203451.pdf

………………………………

เรื่องก็คือ สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ออกแบบรายการทะเบียนราษฎร โดยใช้คำว่า “นาย” นำหน้าชื่อ-ฉายา ของพระสงฆ์ เช่น พระเมธีธรรมาจารย์ ถูกแก้ไขเป็น “นายเมธีธรรมาจารย์ ผ่องสุภาพ” 

เข้าใจว่า เหตุเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ ตามปีที่บันทึกมติมหาเถรสมาคม

ถ้าเป็นไปตามนี้ ก็เป็นอันว่า พระทุกรูปจะถูกกรมการปกครองแก้ไขคำนำหน้าชื่อเป็น “นาย” ทั้งหมด

พระมหาทองย้อย วรกวินฺโท แสงสินชัย

ก็จะกลายเป็น “นายพระมหาทองย้อย แสงสินชัย”

แต่คงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะกรมการปกครองได้ขอข้อมูลเกี่ยวกับสมณศักดิ์และขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้คำนำหน้านามของพระภิกษุสามเณรไปที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ประชุมหารือเป็นการภายในกับเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ได้ข้อสรุปเบื้องต้นที่เกี่ยวกับคำนำหน้าชื่อพระ ดังนี้ –

๑ พระที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ให้ระบุชื่อตัว ชื่อสกุลไว้ในวงเล็บต่อท้ายสมณศักดิ์ (มติข้อ ๑)

ตัวอย่างเช่น “พระเมธีธรรมาจารย์ (พีร์ ผ่องสุภาพ)” (มติฯ ไม่มีตัวอย่าง ผมยกเอง)

๒ พระที่ไม่มีสมณศักดิ์ ให้ใช้คำว่า “พระ” ตามด้วยชื่อตัว ชื่อสกุล (มติข้อ ๒)

เช่น “พระทองย้อย แสงสินชัย” (มติฯ ไม่มีตัวอย่าง ผมยกเอง)

ตามข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกับกรมการปกครองนี้ จะเห็นได้ว่า คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” ไม่ปรากฏในข้อตกลง (หรือในบันทึกมติมหาเถรสมาคม)

ซึ่งถ้ายุติเพียงแค่นี้ คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” ก็จะกลายเป็นคำนำหน้าชื่อเถื่อน คือไม่มีมติ กฎหมาย หรือคำสั่งอะไรรับรอง

เว้นไว้แต่จะมีข้อตกลงอื่นใดนอกเหนือไปจากที่นำมาเสนอในที่นี้ที่ระบุชัดเจนว่า คำว่า “พระมหา” เป็นสมณศักดิ์ และให้ใช้นำหน้าชื่อพระภิกษุผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยคขึ้นไปในรายการทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง

อีกข้อหนึ่งที่ควรสังเกต คือ ตามประกาศกรมการศาสนาเรื่อง การเรียกคำนำหน้าชื่อของพระสงฆ์ (อ้างแล้วในบทความตอนก่อน) ในข้อ ๑ บอกว่า 

……………………………

พระภิกษุธรรมดาทั่วไป ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระ” เช่น พระสวัสดิ์ ควรต่อท้ายด้วยฉายา เป็น พระสวัสดิ์ สิริปุญฺโญ ….

……………………………

แต่ตามข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกับกรมการปกครอง ปรากฏว่า “ฉายา” ของพระถูกตัดออกไป

ซึ่งถ้ายุติเพียงแค่นี้ ก็เป็นอันว่า ฉายาของพระซึ่งเคยมีความสำคัญมากถึงขนาดว่า แม้ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็ยังติดไปกับคำที่เรียกขาน เช่น สมเด็จพระสังฆราช อัมพรมหาเถระ (“อัมพร” ในที่นี้คือนามฉายา “อมฺพโร”) ต่อไปนี้ก็จะหมดความสำคัญลงไป อย่างน้อยก็ในรายการทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง

ผมคิดในทางอกุศลว่า อะไรๆ ที่เกิดขึ้นมันเหมือนกับเป็นการเตรียมการที่จะทำให้พระภิกษุสามเณรค่อยๆ หมดสถานภาพ หรือค่อยๆ กลายเป็นชาวบ้านธรรมดาเข้าไปทุกทีๆ 

ผมไม่มีเวลาที่จะสืบค้นให้ก้าวหน้าไปกว่านี้ ญาติมิตรท่านใด-โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระคุณท่านที่ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “พระมหา” หากจะมีแก่ใจสอบสวนสืบค้นเรื่องนี้ให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ก็อดไม่ได้ที่จะพูดคำเดิม นั่นคือ กิจอย่างนี้คณะสงฆ์นั่นแลที่ควรจะทำอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องของสมาชิกในสังฆมณฑลโดยตรงโดยแท้

…………………..

ก ที่ ๑ “กรณียะ” กิจที่ควรทำมีอยู่มากมาย

ก ที่ ๒ “การก” คือคนที่พร้อมจะทำก็มีอยู่สะพรึบพร้อม

ก ที่ ๓ “กัมมูปการะ” คือส่วนที่จะสนับสนุนก็มีอยู่บริบูรณ์

แต่ ก ที่ ๔ “กรณะ” คือการลงมือทำ ไม่มี

ทั้งนี้เพราะเราขาด ก ที่ ๕ คือ “กรุณาสหะ” = “บุคคลที่ทนนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้เพราะมีน้ำใจกล้าหาญที่จะลงมือแก้ปัญหา” (ดูพุทธศาสนสุภาษิตเล่ม ๑ ข้อ ๒๐๖) ซึ่งก็คือคนที่เราเรียกกันว่า “มหาบุรุษ”

เรารอมหาบุรุษกันอยู่

แต่เราส่วนมาก-รออยู่อย่างนิ่งเฉย 

ไม่ทำอะไร และไม่ช่วยทำอะไรทั้งนั้น

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๗:๓๖

—————–

คำว่า “พระมหา” มีกฎหมายรองรับหรือเปล่า (๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ตามไปอ่านบทความของนาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย ทั้งหมดได้ที่ลิงก์นี้:

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

คำว่า “พระมหา” มีกฎหมายรองรับหรือเปล่า (๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *