องค์กร (บาลีวันละคำ 4,626)

องค์กร
แปลตามตัวอักษรว่าอย่างไร
อ่านว่า อง-กอน
คำว่า “องค์กร” แยกศัพท์เป็น องค์ + กร
(๑) “องค์”
บาลีเป็น “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ (อะ) ปัจจัย
: องฺคฺ + อ = องฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” คือทำให้รู้ต้นกำเนิด (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นอวัยวะ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “องฺค” (นปุงสกลิงค์) ดังนี้ –
(1) part of the body, a limb, part, member, cause, reason, status symbol (ส่วนของร่างกาย, แขนขา, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, เหตุ, เครื่องหมาย);
(2) a constituent part of a whole or system or collection (ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือขององค์)
“องฺค” ในภาษาไทยใช้เป็น “องค์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(๑) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, (ราชาศัพท์) ตัว (ใช้แก่หม่อมเจ้า) เช่น รู้สึกองค์ แต่งองค์.
(๒) ส่วนย่อยที่เป็นองค์ประกอบ เช่น มรรคมีองค์ ๘.
(๓) ในราชาศัพท์ใช้เป็นลักษณนามเรียกอวัยวะ สิ่งของ หรือคำพูด เป็นต้น ของกษัตริย์หรือเจ้านาย เช่น พระทนต์ ๑ องค์ (ฟัน ๑ ซี่) พระสุพรรณภาชน์ ๑ องค์ พระศรี ๑ องค์ (หมาก ๑ คำ) พระที่นั่ง ๑ องค์ พระบรมราโชวาท ๒ องค์.
(๔) ลักษณนามใช้เรียกสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา เช่น พระพุทธรูป ๑ องค์ พระเจดีย์ ๒ องค์, (ภาษาปาก) ลักษณนามใช้เรียกภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุ ๑ องค์.
(๒) “กร”
บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ (อะ) ปัจจัย
: กรฺ + อ = กร แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)
(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)
(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กร” ไว้ว่า –
(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทำ, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).
(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท); (ราชา) มือ, แขน, ปลายแขน, ใช้ว่า พระกร หรือ กร. (ป., ส.).
(3) กร ๓ : (คำนาม) แสง, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น รัชนีกร นิศากร. (ป.).
ในที่นี้ “กร” มีความหมายตามข้อ (1)
องค์ + กร = องค์กร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้เป็นตัว”
คำนี้ถ้าเขียนตามหลักคำสมาสต้องเป็น “องคกร” (ไม่มีการันต์ที่ ค) และต้องอ่านว่า อง-คะ-กอน
แต่ชะรอยว่าผู้คิดคำนี้ต้องการให้อ่านว่า อง-กอน จึงจงใจสะกดอย่างนี้เพื่อตัดปัญหาอ่านผิด จึงต้องถือว่าเป็นคำพิเศษ คือสะกดผิดเพื่อให้อ่านถูก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “องค์กร” ไว้ดังนี้ –
“องค์กร : (คำนาม) บุคคล คณะบุคคล หรือสถาบันซึ่งเป็นส่วนประกอบของหน่วยงานใหญ่ที่ทำหน้าที่สัมพันธ์กันหรือขึ้นต่อกัน เช่น คณะรัฐมนตรีเป็นองค์กรบริหารของรัฐ สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรของรัฐสภา, ในบางกรณี องค์กร หมายความรวมถึงองค์การด้วย. (อ. organ).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า คำว่า “องค์กร” คำอังกฤษว่า organ
ทำให้คิดไปได้ว่า ผู้คิดคำว่า “องค์กร” น่าจะต้องการล้อเสียงคำว่า organ ด้วย
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล organ เป็นไทยดังนี้ –
1. หีบเพลง นับแต่หีบเพลงในโบสถ์ฝรั่ง หีบเพลงในห้องรับแขก หีบเพลงกระบอก จนถึง หีบเพลงปาก
2. อวัยวะ
3. เครื่องมือ
4. องค์
5. ปากเสียง, หนังสือพิมพ์
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล organ เป็นบาลีดังนี้:
(1) mahāturiya มหาตุริย (มะ-หา-ตุ-ริยะ) = เครื่องดนตรีขนาดใหญ่
(2) indriyāyatana อินฺทฺริยายตน (อิน-เทรียะ-ยา-ยะ-ตะ-นะ) = หน่วยที่ทำหน้าที่ติดต่อประสานงาน
(3) avayava อวยว (อะ-วะ-ยะ-วะ) = ส่วนย่อยที่ผสมกัน
(4) kālikasaṅgaha กาลิกสงฺคห (กา-ลิ-กะ-สัง-คะ-หะ) = การรวมตัวกันตามโอกาสหรือตามเหตุการณ์
ขยายความ :
นอกจาก “องค์กร” แล้ว ยังมี “องค์การ” อีกคำหนึ่ง ซึ่งมีอาการอย่างเดียวกัน คือสะกดผิดเพื่อให้อ่านถูก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “องค์การ” ไว้ดังนี้ –
องค์การ : (คำนาม) ศูนย์รวมกลุ่มบุคคลหรือกิจการที่ประกอบกันขึ้นเป็นหน่วยงานเดียวกัน เพื่อดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือในตราสารจัดตั้งซึ่งอาจเป็นหน่วยงานของรัฐ เช่น องค์การของรัฐบาล หน่วยงานเอกชน เช่น บริษัทจำกัด สมาคม หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ. (อ. organization).”
โปรดสังเกตคำอังกฤษว่ามีรากเดียวกัน
“องค์กร” = organ
“องค์การ” = organization
ในภาษาไทย ถ้าสังเกตก็จะพบว่ามีผู้ใช้คำว่า “องค์กร” กับ “องค์การ” ปน ๆ กันไป อย่างที่ภาษาปากเรียกว่า มั่ว” คือไม่ได้ระวังว่า คำไหนหมายถึง organ คำไหนหมายถึง organization จนบางคนเข้าใจว่า “องค์กร” กับ “องค์การ” สองคำนี้ใช้แทนกันได้ มีความหมายเหมือนกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อยู่คนเดียว มีสิทธิ์เที่ยว และกิน ๆ นอน ๆ
: อยู่กับองค์กร มีหน้าที่ทำงาน และทำตามกติกา
#บาลีวันละคำ (4,626)
10-2-68
…………………………….
…………………………….