ถวาย-ให้เป็นสังฆทาน ไม่ใช่ “ถวายสังฆทาน”
ถวาย-ให้เป็นสังฆทาน ไม่ใช่ “ถวายสังฆทาน”
————————————-
ถวายสังฆทาน-เลิกพูดกันเสียที
ใช้หลักวากยสัมพันธ์บาลีตัดสินคำถวายสังฆทาน
พอพูดว่า “ถวายสังฆทาน” คนส่วนมากจะรู้จัก
แต่แทบทั้งหมดรู้จักอย่างผิดๆ และผิดโดยไม่รู้ว่าผิด
และพอพูดว่า “วากยสัมพันธ์” นักเรียนบาลีทุกคน-โดยเฉพาะท่านที่ได้นามว่า “มหาเปรียญ”-จะต้องรู้จักและเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะวากยสัมพันธ์เป็นวิชาหนึ่งที่ต้องสอบผ่านจึงจะมีสิทธิ์เป็น “มหา” ได้
หลักของวิชา “วากยสัมพันธ์” ก็คือ
๑ ศึกษาให้รู้ว่าคำที่เอามาเรียงกันเข้าเป็นประโยคนั้นแต่ละคำทำหน้าที่อะไร คือมีคำนั้นอยู่ตรงนั้นเพื่อจะให้ทำหน้าที่อะไรในประโยค เช่นทำหน้าที่เป็นประธาน เป็นกิริยา เป็นกรรมเป็นต้น
๒ ศึกษาให้รู้ว่าคำนั้นๆ นอกจากทำหน้าที่ของตัวเองแล้วยังต้องเกี่ยวข้อง คือ “สัมพันธ์” กับคำไหนอีกบ้าง และเกี่ยวข้องในฐานะอะไร
ทีนี้ ถามว่า “ถวายสังฆทาน” คือถวายอะไร ขอให้ตอบโดยใช้หลักวากยสัมพันธ์
คำถวายสังฆทานที่กำลังใช้กัน (อย่างผิดๆ) อยู่ในขณะนี้ คือ
……………………………………..
อิมานิ มยํ ภนฺเต สงฺฆทานานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสงฆสฺส โอโณชยาม …
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งสังฆทานทั้งหลาย พร้อมทั้งของบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ …
……………………………………..
หลัก “วากยสัมพันธ์” บอกว่าอย่างไร?
(ท่านที่ไม่ได้เรียนบาลี อ่านไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นท่านข้ามไปได้เลย เว้นไว้แต่จะอ่านเพื่อเป็นอุปนิสัยปัจจัย)
……………………………………..
ภนฺเต (ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ) อาลปนะ
มยํ (อันว่าข้าพเจ้าทั้งหลาย) สยกัตตา ใน โอโณชยาม
โอโณชยาม (ขอน้อมถวาย) อาขยาตบท กัตตุวาจก
อิมานิ (เหล่านี้) ก็ดี สปริวารานิ (พร้อมทั้งของบริวาร) ก็ดี วิเสสนะของ สงฺฆทานานิ
สงฺฆทานานิ (ซึ่งสังฆทานทั้งหลาย) อวุตตกัมมะ ใน โอโณชยาม
ภิกฺขุสงฆสฺส (แก่พระภิกษุสงฆ์) สัมปทานะ ใน โอโณชยาม
……………………………………..
ตามหลักวากยสัมพันธ์ที่แสดงมานี้ ภาษาไทยพูดว่า “ถวายสังฆทาน” ก็คือถวาย “สงฺฆทานานิ” (ซึ่งสังฆทานทั้งหลาย)
มีนักเรียนบาลีช่วยกันแปล “สงฺฆทานานิ” ว่า “สิ่งของอันบุคคลพึงถวายแก่สงฆ์” ซึ่งเป็นการแปลที่ถูกต้องตามหลักการตั้งวิเคราะห์ (ตั้งวิเคราะห์: การกระจายคำเพื่อหาความหมาย)
แต่เมื่อใช้คำว่า “สงฺฆทานานิ” ก็ผิดหลักวากยสัมพันธ์
ผิดอย่างไรโปรดอ่านต่อไป
………………
เป็นอันว่า ตามคำ “ถวายสังฆทาน” ที่ใช้กันอยู่นั้น “สงฺฆทานานิ” เป็นสิ่งของชนิดหนึ่งที่สามารถเอาไปถวายสงฆ์ได้ เพราะเป็น “สิ่งของอันบุคคลพึงถวายแก่สงฆ์”
ถามต่อไปว่า ถ้าเราเอา “สงฺฆทานานิ” (สิ่งของอันบุคคลพึงถวายแก่สงฆ์) ไปถวายภิกษุรูปใดรูปหนึ่งให้เป็นของส่วนตัวของภิกษุรูปนั้น การที่เราถวายเช่นนั้นจะเป็นการ “ถวายสังฆทาน” หรือไม่?
เราเอา “สงฺฆทานานิ” ไปถวายแก่สงฆ์ จึงเป็นการ “ถวายสังฆทาน” ถ้าใช้ตรรกะเดียวกัน เราเอา “สงฺฆทานานิ” ไปถวายภิกษุรูปใดรูปหนึ่งให้เป็นของส่วนตัวของภิกษุรูปนั้น ก็ต้องเป็นการ “ถวายสังฆทาน” ด้วยเช่นกัน เพราะสิ่งที่เราถวาย (คือ “สงฺฆทานานิ”) เป็นสิ่งเดียวกัน ใช่หรือไม่?
เมื่อพิจารณาประเด็นนี้ ผู้ที่รู้หลักของ “สังฆทาน” ย่อมจะบอกได้ว่า การถวายที่จะเป็น “สังฆทาน” ได้ ผู้ถวายต้องตั้งเจตนาถวายให้เป็นของสงฆ์เท่านั้น ถวายเป็นของส่วนตัวไม่เป็น “สังฆทาน”
จะเห็นได้ว่า ตามหลักการของ “ถวายสังฆทาน” ที่ว่านี้ จะเป็นสังฆทานหรือไม่เป็นสังฆทาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งของที่ถวาย หากแต่ขึ้นอยู่กับเจตนาของการถวาย
เพราะฉะนั้น ที่พูดกันว่า “ถวายสังฆทาน” จึงเป็นการพูดผิด หรือถ้าจะพูดอย่างประนีประนอมก็บอกได้ว่าเป็นการพูดลัดตัดความ (จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด)
คำพูดที่ถูกต้อง ต้องพูดว่า “ถวาย–ให้เป็นสังฆทาน” คือถวายสิ่งของอันสมควรแก่สมณบริโภคให้เป็นของสงฆ์ นั่นคือ “ถวาย–ให้เป็นสังฆทาน” ไม่ใช่ “ถวายสังฆทาน” อย่างที่พูดกันผิดๆ หรือพูดลัดตัดความ
พูดด้วยภาษาวากยสัมพันธ์ว่า “สังฆทาน” ไม่ใช่อวุตตกัมมะใน “ถวาย”
แต่ “สังฆทาน” เป็นกิริยาวิเสสนะใน “ถวาย”
หรืออีกนัยหนึ่ง “สังฆทาน” เป็นวิกติกัมมะใน (กตฺวา) ที่เติมเข้ามา
คือแปลว่า “ถวาย (กระทำให้เป็น) สังฆทาน”
ดังนั้น จึงไม่ใช่ “ถวายซึ่งสังฆทาน”
และด้วยเหตุผลทางหลักวิชาวากยสัมพันธ์เช่นนี้ “สงฺฆทานานิ” จึงไม่ใช่ อวุตตกัมมะ ใน โอโณชยาม ดังที่แสดงไว้ข้างต้น (ดูที่ย่อหน้า-หลัก “วากยสัมพันธ์” บอกว่าอย่างไร?-ข้างต้น)
และตามหลักวากยสัมพันธ์บาลี คำที่เป็นกิริยาวิเสสนะนิยมลง อํ ทุติยาวิภัตติอย่างเดียว ส่วนคำที่เป็นวิกติกัมมะ “มักประกอบให้เป็นเอกวจนะอย่างเดียว แม้บทนามนามที่เป็นเจ้าของจะเป็นพหุวจนะก็ไม่คล้อยไปตาม” (ดู อธิบายวากยสัมพันธ์ เล่ม ๑ หน้า ๑๔๘ พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร)
ดังนั้น คำว่า “สงฺฆทานานิ” จึงเป็นคำที่ผิดหลักวากยสัมพันธ์บาลี เพราะ
๑ สิ่งที่ถวายไม่ใช่ “สังฆทาน” จึงใช้ “สงฺฆทานานิ” ไม่ได้
๒ “สงฺฆทาน” อยู่ในฐานะเป็นวิกติกัมมะ ถ้าจะให้มีคำนี้อยู่ด้วย ต้องเป็น “สงฺฆทานํ” ไม่ใช่ “สงฺฆทานานิ”
แต่เหตุผลในข้อ ๒ ยังไม่จบแค่นี้ กล่าวคือ ในคำถวายมีระบุไว้ชัดเจนว่า “ภิกฺขุสงฆสฺส โอโณชยาม” ซึ่งแปลว่า “ขอน้อมถวายแก่พระภิกษุสงฆ์” คำนี้เป็นการยืนยันเจตนาของผู้ถวายอยู่ในตัวแล้วว่า “ถวาย-ให้เป็นของสงฆ์” เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีคำว่า “สงฺฆทานํ” หรือ “สงฺฆทานานิ” อะไรอยู่ในคำถวายอีก
ถ้าเข้าใจและยอมรับดังที่ได้อธิบายมานี้ ก็คงมีคำถามว่า เมื่อ “สงฺฆทานานิ” เป็นคำที่ไม่ถูกต้องแล้ว จะใช้คำว่าอะไรจึงจะถูกต้อง
คราวนี้ก็ตอบได้ไม่ยาก เพราะหลักการมีอยู่แล้ว
๑ ถ้าถวายก่อนเที่ยง ของถวายมีภัตตาหารเป็นหลัก ของอื่นเป็นส่วนประกอบ ใช้คำถวายว่า
“อิมานิ มยํ ภนฺเต ภัตตานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสงฆสฺส โอโณชยาม…”
(ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหาร พร้อมทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ …)
๒ ถ้าถวายหลังเที่ยง ห้ามมีภัตตาหาร หรือกรณีถวายก่อนเที่ยง แต่ไม่มีภัตตาหาร ก็คือที่นิยมถวายกันทั่วไป ใช้คำถวายว่า
“อิมานิ มยํ ภนฺเต กปปิยภณฺฑานิ ภิกฺขุสงฆสฺส โอโณชยาม…”
(ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งกัปปิยภัณฑ์ทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ …)
อธิบายเพิ่มเติม:
๑ คำว่า “กปปิยภณฺฑานิ” เขียนแบบคำอ่านเป็น “กัปปิยะภัณฑานิ” รูปคำเดิมคือ “กปปิยภณฺฑ” (กับ-ปิ-ยะ-พัน-ดะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งของอันสมควรแก่สมณบริโภค”
๒ เมื่อใช้คำว่า “กปปิยภณฺฑานิ” ไม่ต้องมีคำว่า “สปริวารานิ” (พร้อมทั้งของบริวาร) ทั้งนี้เพราะของทุกอย่างรวมอยู่ในคำว่า “กัปปิยภัณฑ์” หมดแล้ว
๓ คำว่า “กัปปิยภัณฑ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายไว้ว่า –
“สิ่งของที่ควรแก่ภิกษุ ได้แก่ ปัจจัย ๔ คือ จีวร อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และสิ่งอื่น ๆ เช่น ร่ม รองเท้า.”
บางสำนักใช้คำว่า “กัปปิยภัณฑ์” หมายถึงเงิน แต่โปรดเข้าใจว่า ตามความหมายของศัพท์ “กปปิยภณฺฑ” ไม่ได้แปลว่า “เงิน” และไม่ได้หมายถึง “เงิน” โดยเฉพาะ แต่ “เงิน” อาจรวมอยู่ในคำว่า “กปปิยภณฺฑ” ได้ด้วย
เมื่อถวายสิ่งของให้เป็นสังฆทานโดยที่ไม่มีภัตตาหารรวมอยู่ด้วย (แบบที่นิยมถวายกันทั่วไป) ใช้คำว่า “อิมานิ มยํ ภนฺเต กปปิยภณฺฑานิ ภิกฺขุสงฆสฺส โอโณชยาม…” จึงถูกต้องที่สุด
ยังอยากจะพูดลัดตัดความว่า “ถวายสังฆทาน” ก็พูดไป แต่โปรดเข้าใจให้ถูกต้องว่า สิ่งที่ถวายนั้นไม่ใช่ “สังฆทาน” แต่เราถวาย “สิ่งของที่ควรแก่ภิกษุ” ให้เป็นสังฆทาน สิ่งของชนิดเดียวกันนั่นเองถวายให้เป็นของส่วนตัวของภิกษุก็ได้ แต่จะไม่เป็น “สังฆทาน” เป็นการยืนยันว่า “สังฆทาน” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งของที่ถวาย
สำหรับนักเรียนบาลี ควรช่วยกันใช้ความรู้แก้ไขสิ่งที่ผิดให้เป็นถูก อย่าใช้ความไม่รู้อธิบายผิดให้กลายเป็นถูก
อิมานิ มยํ ภนฺเต สงฺฆทานานิ … ควรจะเลิกใช้กันเสียทีเถิดเจ้าข้า
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔
๑๗:๑๗
………………………………………….
ถวาย-ให้เป็นสังฆทาน ไม่ใช่ “ถวายสังฆทาน”