เข้าทางพอดี
เข้าทางพอดี
————–
ไม่แน่ใจว่าคนไทยรุ่นใหม่รู้จักคำว่า “จันทรคติ” และ “สุริยคติ” หรือเปล่า
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –
……………………………………….
จันทรคติ : (คำนาม) วิธีนับวันและเดือนโดยถือเอาการเดินของดวงจันทร์เป็นหลัก เช่น ขึ้น ๑ คํ่าถึงแรม ๑๕ คํ่า เป็นการนับวันทางจันทรคติ เดือนอ้ายถึงเดือน ๑๒ เป็นการนับเดือนทางจันทรคติ. (ส.).
สุริยคติ : (คำนาม) วิธีนับวันและเดือนแบบสากล โดยถือกําหนดตําแหน่งดวงอาทิตย์เป็นหลัก เช่น วันที่ ๑ ถึงวันที่ ๓๑ เป็นการนับวันทางสุริยคติ เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม เป็นการนับเดือนทางสุริยคติ.
……………………………………….
คำว่า “จันทรคติ” และ “สุริยคติ” ไม่มีปัญหาในทางรูปศัพท์ แต่อาจมีปัญหาในทางความเข้าใจสำหรับคนไทยรุ่นใหม่
จับหลักแบบง่ายๆ “จันทรคติ” คือขึ้นแรม “สุริยคติ” คือวันที่
คติของไทยเราแต่เดิมนั้นบอกวันเดือนปีทางจันทรคติ คือ –
(๑) “วัน” บอกเป็นขึ้นแรม เช่น ขึ้น ๑ ค่ำ (หรือขึ้นค่ำ ๑) แรม ๒ ค่ำ
(๒) “วันในรอบสัปดาห์” คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร เป็นต้น
(๓) “เดือนไทย” คือ เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือน ๓ เป็นต้น
(๔) “ปีนักษัตร” คือ ชวด ฉลู ขาล เป็นต้น
เช่นวันนี้ (๑๑ เมษายน ๒๕๖๕) เราก็จะบอกว่า วันจันทร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ ปีฉลู
ถ้าอ่านพงศาวดารหรือจดหมายเหตุเก่าๆ จะพบการบอกวันเดือนปีเป็นจันทรคติทั้งสิ้น
พึงทราบว่า วันเดือนปีในพระพุทธศาสนาก็กำหนดเป็นจันทรคติเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันนี้เราบอกวันเดือนปีกันเป็นสุริยคติ คือบอกเป็นวันที่ ๑ ๒ ๓ เดือนมกรา กุมภา ที่ยังบอกตรงกันก็เพียง “วันในรอบสัปดาห์” คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร ส่วนปีก็ใช้ปีศักราช คือใช้ปีพุทธศักราชอย่างเป็นทางการ
ที่ว่ามานี้ไม่ได้แปลว่า เราควรย้อนกลับไปใช้วันเดือนปีทางจันทรคติในชีวิตประจำวันเหมือนเมื่อก่อน
แต่หมายความว่าเราควรศึกษาเรียนรู้คติเดิมของเราเอาไว้
สมมุติว่า มีฝรั่งมาถามเราว่า วันนี้กี่ค่ำ คนไทยสมัยใหม่คงตอบไม่ได้
แล้วถ้าฝรั่งคนนั้นเกิดตอบได้ บอกถูก เราจะอายฝรั่งเขาไหม
หรือว่าเราไม่รู้จักแล้วว่าอายเป็นอย่างไร?
หรือว่าเราจะมาตกลงกันว่า เราไม่จำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องเดิมเรื่องเก่าของเรา เราควรอยู่กับปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเขานิยมอะไรอย่างไร เราก็นิยมตามนั้น ง่ายๆ แค่นี้ จบ
ตกลงว่าเอากันแบบนี้ จบ?
ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่นิยมคติไทย
วัฒนธรรมไทยก็จบ
วัฒนธรรมไทยจบ
ประเทศชาติไทยคือความเป็นไทยก็จบเหมือนกัน
ต่อไป อะไรที่ “เป็นไทยๆ” ก็ไม่ต้องมี
มีแต่อะไรๆ ที่เป็นสากล
ดังเช่นเวลานี้เราก็บอกปีเป็นคริสต์ศักราชกันทั่วไปแล้ว
อ้างกันว่าเป็นศักราชสากล
คือที่ไหนๆ เขาก็ใช้กันทั่วโลก
……………………………………….
อีกไม่นาน ประเทศไทยจะประกาศให้ใช้ปีคริสต์ศักราชเป็นทางการ และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางราชการ
ปีพุทธศักราชจะถูกประกาศให้เป็นศักราชของคนพื้นเมือง
ภาษาไทยก็จะถูกประกาศให้เป็นภาษาของคนพื้นเมือง
อีกไม่เกิน ๓๐๐ ปี-ช่วยจำคำพยากรณ์ของผมไว้ให้ดีเถิด
……………………………………….
น่าคิดตรงที่ว่า “สากล” ตามที่เรานิยมนั้นมาจากฝรั่งทั้งนั้น
เครื่องแต่งกายแบบฝรั่ง เราเรียกว่าชุดสากล
เพลงฝรั่ง เราก็เรียกว่าเพลงสากล
และวัฒนธรรมฝรั่งมาจากศาสนาคริสต์
ศาสนาคริสต์เลยเป็นศาสนาสากลสบายไปเลย
ทุกอย่างเป็นอนิจจัง
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปล่อยวาง
เข้าทางพอดี
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๑ เมษายน ๒๕๖๕
๑๐:๕๓
…………………………………………..
เข้าทางพอดี
…………………………………………..