สุรศักดิ์ (บาลีวันละคำ 3,474)
สุรศักดิ์
ความสามารถของผู้กล้า
อ่านว่า สุ-ระ-สัก
ประกอบด้วยคำว่า สุร + ศักดิ์
(๑) “สุร”
บาลีเป็น “สูร” (สู-ระ สู– สระ อู) รากศัพท์มาจาก สุรฺ (ธาตุ = กล้าหาญ) + อ (อะ) ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ สุ-(รฺ) เป็น อู (สุรฺ > สูร)
: สุรฺ + อ = สุร > สูร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กล้าหาญ”
“สูร” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) วีรบุรุษ, คนกล้า (a hero, a valiant man)
(2) กล้าหาญ, แกล้วกล้า (valiant, courageous)
(3) ความกล้าหาญ (valour)
บาลี “สูร” สันสกฤตเป็น “ศูร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศูร : (คำนาม) วีรบุรุษ; พระอาทิตย์; สิงห์; วราหะ; ปิตามหะของกฤษณะ; a hero; the sun; a lion; a boar; the grandfather of Krishṇa.”
บาลี “สูร” ภาษาไทยใช้เป็น “สุร” (สุ- สระ อุ) ก็มี คงเป็น “สูร” ก็มี ในที่นี้ใช้เป็น “สุร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุร– ๑ : (คำนาม) ผู้กล้าหาญ, นักรบ; พระอาทิตย์. (คำวิเศษณ์) กล้าหาญ, เข้มแข็ง. (ป. สูร; ส. ศูร).”
(๒) “ศักดิ์”
บาลีเป็น “สตฺติ” อ่านว่า สัด-ติ รากศัพท์มาจาก –
(1) สกฺ (ธาตุ = สามารถ) + ติ ปัจจัย, แปลง กฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (นัยหนึ่งว่า ลบ กฺ ซ้อน ตฺ)
: สกฺ + ติ = สกฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่สามารถ” หมายถึง ความสามารถ, กำลัง, อำนาจ (ability, power)
(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ
: สสฺ + ติ = สสฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน” หมายถึง หอก, หลาว; มีด, กริช, ดาบ (a spear, javelin; knife, dagger, sword)
บาลี “สตฺติ” สันสกฤตเป็น “ศกฺติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศกฺติ : (คำนาม) ‘ศักติ,’ กำลัง, แรง, ความกล้า; หอกหรือศรเหล็ก; เตชัส (หรือเดช) ของเทพดา, อันโรปยติเปนชายาของเธอ; นัยหรือความหมายของศัพท์; power, strength, prowess; an iron spear or dart; the energy of a deity, personified as his wife; signification or meaning of words.”
ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ศักดิ”
กรณีที่ต้องการอ่านว่า “สัก” เขียน “ศักดิ์” (การันต์ที่ ดิ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศักดิ์ : (คำนาม) อํานาจ, ความสามารถ, เช่น มีศักดิ์สูง ถือศักดิ์; กำลัง; ฐานะ เช่นมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญานี้ทุกประการ; หอก, หลาว. (ส. ศกฺติ; ป. สตฺติ).”
สุร + ศักดิ์ = สุรศักดิ์ (สุ-ระ-สัก) แปลตามประสงค์ว่า “ความสามารถของผู้กล้า”
อภิปรายขยายความ :
คำว่า “สุรศักดิ์” ในภาษาไทยนิยมใช้เป็นชื่อผู้ชาย ใช้กันทั่วไปจนแทบจะรู้สึกว่าเป็น “ชื่อโหล” ทำนองเดียวกับคำว่า “สมชาย” แต่ไม่ถึงขนาดนั้น
คำว่า “สุรศักดิ์” มีความหมายที่ดี เหมาะที่จะใช้เป็นชื่อผู้มีอาชีพทางตำรวจทหาร แต่เมื่อใช้กันมากจนดูเป็นชื่อธรรมดา อาจไม่มีใครคิดถึงความหมายจริงๆ แม้แต่ตัวเจ้าของชื่อนั่นเอง ถามความหมายของชื่อ อาจตอบไม่ได้เพราะไม่เคยคิดถึงรากศัพท์
คำว่า “สุรศักดิ์” ถ้าเทียบกลับเป็นบาลี ก็จะเป็น “สูรสตฺติ” อ่านว่า สู-ระ-สัด-ติ
ถ้าเป็นรูปคำบาลี “สูรสตฺติ” อาจแปลได้ว่า “หอกของผู้กล้า” แปลอย่างนี้ความหมายก็จะเป็นคนละอย่างกับ “ความสามารถของผู้กล้า” ทั้งๆ ที่เป็นคำเดียวกัน แม้จะใช้ในภาษาไทยเป็น “สุรศักดิ์” ก็อาจจะมีผู้แปลแบบหาเรื่อง ยักเยื้องคำแปลเป็น “หอกของผู้กล้า” ก็ได้ จะไปว่าเขาแปลผิดก็ไม่ได้เพราะรูปคำสามารถแปลเช่นนั้นได้จริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อใช้เป็นชื่อคนหรือชื่อเฉพาะ จึงต้องแสดงเจตนารมณ์จำกัดความหมายให้แน่นอนว่าประสงค์จะให้มีความหมายว่าอย่างไรแน่
ในคัมภีร์บาลี ยังไม่พบคำว่า “สูรสตฺติ” แปลงเป็น “ศูรศกฺติ” ตามรูปสันสกฤต สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ฉบับที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เป็นคู่มืออยู่ก็ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้
“สุรศักดิ์” จึงเป็นคำที่คิดขึ้นใช้ในภาษาไทยโดยตรง
…………..
: บางคนกล้าบริจาค เพราะกลัวจนในชาติหน้า
: แต่บางคนไม่กล้า เพราะกลัวจนในชาตินี้
ดูก่อนภราดา!
ท่านกลัวจนในชาติไหน?
#บาลีวันละคำ (3,474)
16-12-64
…………………………….