บาลีวันละคำ

สาราณียธรรม (บาลีวันละคำ 3,476)

สาราณียธรรม

ไม่ใช่แค่รู้จำ แต่ควรทำให้ได้จริง

อ่านว่า สา-รา-นี-ยะ-ทำ

ประกอบด้วยคำว่า สาราณีย + ธรรม

(๑) “สาราณีย” 

อ่านว่า สา-รา-นี-ยะ รากศัพท์มาจาก สรณ + อีย ปัจจัย

(ก) “สรณ” อ่านว่า สะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = กำจัด, เบียดเบียน; คิดถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น

: สรฺ + ยุ > อน = สรน > สรณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลสโดยเฉพาะแห่งมรรคสี่” (2) “การเบียดเบียน” (3) “ที่เป็นที่นึกถึงการกระทำที่ดีและไม่ดี” 

สรณ” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) ที่กำบัง, บ้าน (shelter, house) 

(2) ที่พึ่ง, สรณะ (refuge, protection) 

(3) การระลึกถึง (remembrance; remembering)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สรณ-, สรณะ : (คำนาม) ที่พึ่ง, ที่ระลึก; ความระลึก. (ป.; ส. ศรณ).”

(ข) สรณ + อีย ปัจจัย 

: สรณ + อีย = สรณีย (สะ-ระ-นี-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง” หมายถึง สิ่งที่ควรระลึกถึง (something to be remembered)

คัมภีร์สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย ภาค 1 หน้า 523 อธิบายไว้ว่า – 

…………..

สรณียนฺติ  วตฺตพฺเพ  ทีฆํ  กตฺวา  สาราณียนฺติ  วุตฺตํ  ฯ

เมื่อควรจะพูดว่า “สรณีย” ท่านก็ทำทีฆะพูดว่า “สาราณีย

…………..

ขยายความว่า “สรณีย” นั่นเอง ยืดเสียง อะ ที่ สร– ทั้ง 2 พยางค์เป็น อา : สร– > สารา

ดังนั้น “สรณีย” (สะ-ระ-นี-ยะ) จึงเป็น “สาราณีย” (สา-รา-นี-ยะ)

สาราณีย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) มีอัธยาศัย, สุภาพ, เป็นกันเอง  (courteous, polite, friendly) 

(2) ทำให้มีความสุข, ทำให้ดีใจ, ทำให้ถูกใจ (making happy, pleasing, gladdening)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สาราณีย-, สาราณียะ : (คำวิเศษณ์) เป็นที่ตั้งแห่งความระลึก. (ป.; ส. สฺมรณีย).”

(๒) “ธรรม” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” ความหมายเน้นหนักตามข้อ (1) (2) (3) และ (6)

สาราณีย + ธมฺม = สาราณียธมฺม (สา-รา-นี-ยะ-ทำ-มะ) > สาราณียธรรม (สา-รา-นี-ยะ-ทำ) แปลว่า “ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สาราณียธรรม : (คำนาม) ธรรมอันเป็นไปเพื่อความระลึกถึงกันและกัน. (ป. สาราณีย + ส. ธรฺม).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “สาราณียธรรม” มีคำอธิบายดังนี้ –

…………..

สาราณียธรรม : ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ทำให้มีความเคารพกัน ช่วยเหลือกัน และสามัคคีพร้อมเพรียงกัน มี ๖ อย่าง คือ 

๑. ตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร 

๒. ตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร 

๓. ตั้งมโนกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนภิกษุสามเณร 

๔. แบ่งปันลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม 

๕. รักษาศีลบริสุทธิ์เสมอกับเพื่อนภิกษุสามเณร (มีสีลสามัญญตา) 

๖. มีความเห็นร่วมกันได้กับภิกษุสามเณรอื่นๆ (มีทิฏฐิสามัญญตา); 

สารณียธรรม ก็เขียน

…………..

เพื่อความเจริญปัญญายิ่งขึ้นไป ขอนำ “สารณียธรรม 6” จากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [273] มาเสนอควบคู่กันไปดังต่อไปนี้ 

…………..

สารณียธรรม 6 (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน, ธรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคี, หลักการอยู่ร่วมกัน — Sāraṇīyadhamma: states of conciliation; virtues for fraternal living) สาราณียธรรม ก็ใช้

1. เมตตากายกรรม (ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมหมู่คณะด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง — Mettākāyakamma: to be amiable in deed, openly and in private)

2. เมตตาวจีกรรม (ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — Mettāvacīkamma: to be amiable in word, openly and in private)

3. เมตตามโนกรรม (ตั้งเมตตามโนกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน — Mettāmanokamma: to be amiable in thought, openly and in private)

4. สาธารณโภคิตา (ได้ของสิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน — Sādhāraṇabhogitā: to share any lawful gains with virtuous fellows) ข้อนี้ ใช้ อัปปฏิวิภัตตโภคี ก็ได้

5. สีลสามัญญตา (มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ — Sīlasāmaññatā: to keep without blemish the rules of conduct along with one’s fellows, openly and in private)

6. ทิฏฐิสามัญญตา (มีทิฏฐิดีงามเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญอันจะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา — Diṭṭhisāmaññatā: to be endowed with right views along with one’s fellows, openly and in private)

ธรรม 6 ประการนี้ มีคุณคือ เป็น สารณียะ (ทำให้เป็นที่ระลึกถึง — making others to keep one in mind) เป็น ปิยกรณ์ (ทำให้เป็นที่รัก — endearing) เป็น ครุกรณ์ (ทำให้เป็นที่เคารพ — bringing respect) เป็นไปเพื่อ ความสงเคราะห์ (ความประสานกลมกลืน — conducing to sympathy or solidarity) เพื่อ ความไม่วิวาท (to non-quarrel) เพื่อ ความสามัคคี (to concord; harmony) และเพื่อ เอกีภาพ (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน — to unity)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่ดูหมิ่นศีลธรรมว่าคร่ำครึ

มีรึที่สังคมจะไม่ร่มเย็นเป็นสุขสโมสร

: นี่เพราะดูถูกศีลธรรมว่าคร่ำคร่าไม่อาทร

เดือดร้อนแล้วก็ยังไม่รู้ว่า เออนี่กูลืมอะไรไป

#บาลีวันละคำ (3,476)

18-12-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *