บาลีวันละคำ

สงฺขฺยา (บาลีวันละคำ 306)

สงฺขฺยา

อ่านแบบบาลีว่า สัง-ขฺยา (-ยา-เสียงสามัญ ออกเสียงเหมือน “สัง-เคีย” จะได้เสียงที่ใกล้เคียงที่สุด)

อ่านแบบบาลีไทยว่า สัง-ขะ-หฺยา (-ยา ห- นำ เสียงจัตวา)

สงฺขฺยา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังขยา” (สัง-ขะ-หฺยา) ศัพท์นี้มีความหมายหลายอย่าง คือ การระบุ, การนับ, การคำนวณหรือประมาณ, จำนวน (number), การตั้งชื่อ, การนิยาม, ถ้อยคำ, ชื่อ

ความหมายที่เข้าใจกันมากที่สุด คือ การนับ หรือการระบุจำนวน

สงฺขฺยาการนับ ในภาษาบาลีมี 2 อย่าง คือ

1 นับระบุจำนวนของสิ่งที่นับ เรียกว่า “ปกติสังขยา” (แปลว่า “นับตามปกติ”) เช่น เอก ทฺวิ ติ จตุ ปญฺจ .. 1 2 3 4 5  .. = ระบุจำนวนหมดทั้ง 5

2 นับเฉพาะลำดับของสิ่งที่นับ เรียกว่า “ปูรณสังขยา” (แปลว่า “นับจำนวนที่ครบ”) เช่น ปฐม ทุติย ตติย จตุตฺถ ปญฺจม ..ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ ที่ห้า .. = ระบุเฉพาะลำดับที่นับ

ตัวอย่างเช่นนับว่า “สิบสามวัน” อย่างนี้คือปกติสังขยา = ทั้ง 13 วันรวมอยู่ในการนับ

แต่ถ้านับว่า “วันที่สิบสาม” อย่างนี้คือปูรณสังขยา = อยู่ในการนับเฉพาะวันที่ 13 วันเดียว

ควรทราบ :

– รูปคำของสังขยาทั้งสองแบบจะต่างกัน เช่น “หนึ่ง” ปกติสังขยาคือ “เอก” = one แต่ปูรณสังขยาจะเป็น “ปฐม” = the first

– ภาษาบาลีไม่มีตัวเลขใช้ในการนับ

วาทะของนักเรียนบาลี :

สังขยาไทย – หวาน

สังขยาบาลี – ขม

บาลีวันละคำ (306)

13-3-56

สงฺขยา อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

การนับ, การคำนวณ.

สงฺขยาน นป.

การนับ.

สงฺขา, สงฺขฺยา (บาลี-อังกฤษ)

การระบุ, การนับ, การคำนวณหรือประมาณ enumeration, calculation, estimating

สังขยา number

การตั้งชื่อ, การนิยาม, ถ้อยคำ, ชื่อ denomination, definition, word, name

สงฺขา = การกล่าว, การนับ, การคำนวณ (ศัพท์วิเคราะห์)

สงฺขายติ กถียติ เอตายาติ สงฺขา กิริยาเป็นเครื่องกล่าว

สํ บทหน้า ขา ธาตุ ในความหมายว่ากล่าว, ปรากฏ, ประจักษ์ ณ ปัจจัย

สังขยา ๑

 [-ขะหฺยา] น. การนับ, การคํานวณ. (ป. สงฺขฺยา; ส. สํขฺยา).

สังขยา ๒

 [-ขะหฺยา] น. ชื่อขนมชนิดหนึ่ง โดยมากทําด้วยไข่ขาว นํ้าตาล และกะทิ, ถ้าทำเป็นหน้าข้าวเหนียวไม่ใส่กะทิ; ขนมชนิดหนึ่ง ทำด้วยไข่ น้ำตาลทราย กะทิหรือนมข้น บางทีมีน้ำใบเตยเล็กน้อย กวนในกระทะ กินกับขนมปัง.

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย