สัปดาห์ (บาลีวันละคำ 307)
สัปดาห์
“สัปดาห์” รูปคำสันสกฤตเป็น “สปฺตาห” (สับ-ตา-หะ) บาลีเป็น “สตฺตาห” (สัด-ตา-หะ)
“สตฺตาห” มาจาก สตฺต (= จำนวนเจ็ด) + อห (อะ-หะ = วัน, กลางวัน) = สตฺตาห แปลตามศัพท์ว่า “เจ็ดวัน” หมายถึงรอบ ๗ วัน เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันเสาร์ หรือระยะเวลา ๗ วัน
เมื่อพูดว่า “วัน” เราคุ้นกับคำว่า “ทิวา” มากที่สุด แต่คำบาลีที่แปลว่า “วัน” ยังมีอีก เช่น ทิน, ทิวส, วาร, วาสร และ อห
บาลี “สตฺต” สันสกฤตเป็น “สปฺต” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น สัปด
สัปด + อห = “สัปดาห” ไม่ออกเสียง หะ จึงใส่การันต์ที่ ห เขียนเป็น “สัปดาห์”
คำนี้มีประวัติการออกเสียง คือเดิมก็ออกเสียงตามถนัดว่า สับ-ปะ-ดา
ต่อมาผู้รู้ท่านบอกว่า “สปฺต” สันสกฤตออกเสียงว่า สับ-ตะ เพราะฉะนั้น “สัปดาห์” ต้องออกเสียงว่า สับ-ดา จึงกำหนดให้อ่านคำนี้ว่า สับ-ดา
แต่เนื่องจากธรรมชาติของการเปล่งเสียง คำว่า “สับ” เมื่ออ้าปากแล้วต้องปิดริมฝีปากจึงจะเป็นเสียง “สับ” และเมื่อจะเปล่งเสียง “ดา” ต่อไปก็ต้องเปิดริมฝีปาก ทำให้มีเสียง “ปะ” เกิดขึ้นตามธรรมชาติก่อนแล้วจึงจะเป็นเสียง “ดา”
ในที่สุดจึงต้องยอมให้อ่านว่า “สับ-ปะ-ดา” เหมือนเดิม แต่จะอ่าน สับ-ดา ก็ถูก
สัจธรรม : มาจากธรรมชาติ ควรอยู่กับธรรมชาติ เพราะในที่สุดก็ต้องกลับไปสู่ธรรมชาติ
บาลีวันละคำ (307)
14-3-56
อห นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
วัน, เมื่อคำอื่นอยู่หลังในรูปสมาส. เป็นอโห เช่น อโหรตฺต = และวันคืน.
สัปดาห์, สัปดาหะ
[สับดา, สับปะดา, สับดาหะ] น. รอบ ๗ วัน เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันเสาร์, ระยะ ๗ วัน เช่น สัปดาห์แห่งการส่งเสริมพระพุทธศาสนา สัปดาห์แห่งการเขียนจดหมาย. (ส. สปฺตาห).
สัตตาห-
น. เจ็ดวัน.
สัตตาหกรณียะ
[สัดตาหะกะระนียะ, สัดตาหะกอระนียะ] น. กิจที่พึงทำเป็นเหตุให้ภิกษุออกจากวัดไปพักแรมในที่อื่นในระหว่างพรรษาได้ไม่เกิน ๗ วัน เช่นเพื่อไปพยาบาลภิกษุสามเณรหรือบิดามารดาที่ป่วยไข้หรือเพื่อบำรุงศรัทธาของทายก.
สัตตาหกาลิก
น. ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียง ๗ วัน ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕ คือ เนยใส เนยข้น นํ้ามัน นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย. (ป.).