อย่ายอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้รบ
อย่ายอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้รบ
—————————-
คติทหารสอนกันมาว่า “อย่าบอกว่าทำไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ทำ”
หมายความว่า ภารกิจใดๆ ก็ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย อย่าเพิ่งปฏิเสธทันทีว่าทำไม่ได้ แต่จงเตรียมตัวให้ดีที่สุด แล้วลงมือทำ ก็จะรู้เองว่า จริงๆ แล้วเราก็ทำได้ แต่จะได้แค่ไหนอย่างไรก็ค่อยว่ากันอีกที ขอให้มีความตั้งใจที่จะทำ และไม่ยอมเลิกก่อนที่จะสำเร็จเท่านั้น
พระภิกษุสามเณรสมัยนี้มักจะบอกว่า พระวินัยข้อนั้นปฏิบัติตามไม่ได้ ศีลข้อนี้ถ้าปฏิบัติตามจะอยู่เป็นพระได้ยากมากหรืออยู่ไม่ได้เอาเลย
หมายความว่า เริ่มต้นก็คิดเสียแล้วว่าทำไม่ได้
และต่อจากนั้นก็คือไม่คิดจะทำ ไม่ตั้งใจที่จะปฏิบัติตาม เพราะบอกตัวเองว่าทำตามไม่ได้ มีเหตุผลเยอะแยะไปหมดที่สนับสนุนว่า-ทำไม่ได้ ไม่ต้องทำ และไม่ต้องทำก็ไม่เป็นไร
การสมัครเข้าไปอยู่ในพระธรรมวินัย คนสมัยก่อนมีคติว่า –
……………………..
ทำไม่ได้ อย่าเข้าไป
ทำไม่ไหว ถอยออกมา
……………………..
แต่คนในสมัยนี้บอกกันว่า –
……………………..
ทำไม่ได้ ไม่เป็นไร
ทำไม่ไหว ไม่ต้องทำ
……………………..
ทำไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรหรอก เข้าไปเถอะ ไม่มีใครว่าอะไรหรอก
ทำไม่ไหว ก็ไม่ต้องทำ เราไม่ใช่พระอริยะนี่ ช่วยรักษาวัดไว้นี่ก็ดีเท่าไรแล้ว อยู่ไปแบบนี้แหละ
—————-
ในท่ามกลางความคิดเช่นนี้ จึงเกิดหลักนิยมขึ้นมาอย่างหนึ่ง
……………………
มีพระประพฤติบกพร่อง
ดีกว่าไม่มีพระ
……………………
ใครแสดงอุดมคติจะให้พระเคร่งครัด ก็จะถูกย้อนว่า ไปเกณฑ์ให้พระเคร่งครัดมากนัก เดี๋ยวก็ไม่มีใครบวชเท่านั้นเอง อยากให้ศาสนาเราไม่เหลือพระอยู่เลยยังงั้นหรือ มีพระประพฤติบกพร่องก็ยังดีกว่าไม่มีพระ
เมื่อถือหลักนิยมเช่นนี้ก็ไม่ต้องทำอะไร พระเณรจะประพฤติย่อหย่อนอย่างไร ก็ไม่ต้องไปว่าอะไร มีเหตุผลสนับสนุนเยอะแยะไปหมด
พระสมัยนี้เป็นปุถุชน ไม่ใช่พระอริยะ
ใครอยากได้พระเคร่งครัดก็เชิญมาบวชเองสิ
มีพระไว้รักษาวัดก็ดีเท่าไรแล้ว
จบลงด้วยประโยคยอดนิยม-จะเอาอะไรกันนักกันหนา
—————-
ผมว่ายังมีหลักนิยมเชิงอุดมคติที่เรามองข้ามหรือหลงลืมหรือไม่สนใจที่จะคิด นั่นคือ –
……………………
ช่วยกันถวายกำลังใจพระเณรไม่ให้ประพฤติบกพร่อง
ช่วยกันหาช่องให้พระเณรรักษาพระธรรมวินัยได้สะดวกขึ้น
……………………
ตัวอย่างเช่นพระเณรรับเงินเอง จ่ายเงินเอง ผิดวินัย
ผมเสนอให้ช่วยกันคิดทำ “บัตรปวารณา”
บัตรปวารณาทำหน้าที่เหมือนไวยาวัจกรหรือกัปปิยการก
พระเณรพกบัตรนี้เหมือนมีไวยาวัจกรตามไปรับ-จ่ายเงินแทน
ไม่ต้องรับเงินเอง จ่ายเงินเองให้ผิดวินัย
เล่าให้ จนท.ธนาคารฟัง เขาบอกว่าทำได้
เล่าให้คนเก่งกลไกไฮเทคฟัง เขาบอกว่า เรื่องกล้วยๆ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเรื่องเดียว
วินัยข้ออื่นๆ ก็ช่วยกันคิดทำนองนี้-เพื่อให้พระปฏิบัติได้ด้วย และอยู่เป็นพระได้ด้วย
แต่ผู้บริหารการพระศาสนาไม่คิดจะทำ
และไม่คิดจะทำอะไรทั้งสิ้น
—————-
มองอะไรที่ต่ำกว่า อาจจะสบายใจ
แต่เราจะไม่มีอะไรดีขึ้น
มองอะไรที่สูงกว่า อาจจะหวั่นหวาด
แต่เรามีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
เคยฉุกคิดไหมครับว่า เรากำลังทำพลาดอย่างสำคัญ
พลาดตรงที่-เริ่มต้นก็ไม่คิดที่จะรักษาพระธรรมวินัย ปล่อยไปตามบุญตามกรรม แล้วพยายามช่วยกันหาเหตุผลมาอธิบายว่า ที่ละเมิดพระธรรมวินัยข้อนั้นข้อนี้เป็นความจำเป็นตามสภาพสังคม ไม่ใช่เรื่องเสียหายร้ายแรงอะไร และพยายามยกหลักข้อนั้นข้อโน้นมาอ้างว่า-ทำได้ ไม่ผิด
ถ้าเรามาช่วยกันถวายกำลังใจให้พระภิกษุสามเณรที่มีอยู่ ณ วันนี้ฮึดสู้ ตั้งใจรักษาวิถีชีวิตสงฆ์ ตั้งใจรักษาพระธรรมวินัยกันให้เคร่งครัด
ปรับแก้ท่าทีกันใหม่จะดีไหม?
ติดขัดตรงไหน ช่วยกันคิดแก้ไข หาทางออกให้ท่าน
………………………………
เคยได้ยินท่านผู้หนึ่งบอกว่า พระภิกษุโดยสารรถ ผิดวินัย เว้นไว้แต่อาพาธ
ดีแล้วที่ท่านยกหลักพระวินัยมาให้ความรู้แก่พระเณรและชาวบ้าน
แต่ขอแรงช่วยกันคิดหาทางออกให้พระเณรด้วย
พระเณรจะเดินทางอย่างไรไม่ให้เสียงานด้วย และไม่ผิดวินัยด้วย
ช่วยกันคิดด้วยสิครับ
นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง
………………………………
จากวิธียอมแพ้ = ปล่อยตัวตามสบาย ละเมิดวินัยไปเรื่อยๆ
เปลี่ยนมาใช้วิธีหันกลับมาสู้ = ช่วยกันคิดหาทางให้พระอยู่รอดด้วย รักษาพระธรรมวินัยได้ด้วย
นักประดิษฐ์หรือนักผลิต เมื่อลงมือทำ แรกๆ ก็ผิดพลาดล้มเหลว เสียมากกว่าดี แต่เมื่อเรียนรู้ไป แก้ไขข้อผิดพลาดไป ในที่สุดก็สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพสมบูรณ์ขึ้นมาให้มนุษย์ใช้กันอยู่ทุกวันนี้
ชาวพุทธช่วยกันคิดหาทางช่วยให้พระเณรอยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุขด้วย รักษาพระวินัยได้ด้วย แรกๆ อาจจะขลุกขลักขัดข้อง แต่เมื่อลงมือทำ วันหนึ่งก็จะสามารถทำได้ และทำได้เป็นอย่างดี
……………………
วิธียอมแพ้หรือเดินหนี เราแพ้ตลอดไป
วิธีหันกลับมาสู้ เรามีโอกาสชนะ
……………………
ผมว่าเราพลาดที่ไม่ได้คิดถึงยุทธศาสตร์ยุทธวิธีแบบนี้
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๔
๑๑:๒๗
……………………………………
อย่ายอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้รบ