บาลีวันละคำ

อรุณสวัสดิ์ (บาลีวันละคำ 4,427)

อรุณสวัสดิ์

สวัสดีตอนเช้า

อ่านตามหลักภาษาว่า อะ-รุน-นะ-สะ-หฺวัด

อ่านตามสะดวกปากว่า อะ-รุน-สะ-หฺวัด

…………..

คำในชุดนี้มี 3 คำ คือ –

อรุณสวัสดิ์” เทียบคำอังกฤษว่า good morning

สายัณหสวัสดิ์” เทียบคำอังกฤษว่า good evening

ราตรีสวัสดิ์” เทียบคำอังกฤษว่า good night

…………..

อรุณสวัสดิ์” ประกอบด้วยคำว่า อรุณ + สวัสดิ์

(๑) “อรุณ

บาลีอ่านว่า อะ-รุ-นะ รากศัพท์มาจาก อรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อุณ ปัจจัย

: อรฺ + อุณ = อรุณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “แสงที่เป็นไปโดยมีแสงแดงอ่อนๆ” “มีแสงแดงอ่อนๆ” “แสงที่เป็นไปโดยเป็นสีทอง

อรุณ” มีความหมาย 2 อย่างคือ (1) ดวงอาทิตย์ (the sun) (2) รุ่งอรุณ (the dawn)

บาลี “อรุณ” สันสกฤตก็เป็น “อรุณ” เช่นกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อรุณ : (คำนาม) นามพระอาทิตย์; เช้า; สีหรือแสงอรุณ; ชายใบ้; name of the sun; the dawn; the colour of the sun; a dumb man.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อรุณ : (คำนาม) เวลาใกล้พระอาทิตย์จะขึ้น มี ๒ ระยะ คือ มีแสงขาวเรื่อ ๆ (แสงเงิน) และแสงแดงเรื่อ ๆ (แสงทอง), เวลาย่ำรุ่ง. (ป., ส.).”

(๒) “สวัสดิ์” 

บาลีเป็น “สุวตฺถิ” อ่านว่า สุ-วัด-ถิ รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + อตฺถิ ( = มี, เป็น)

(1) “อตฺถิ” เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) ลบที่สุดธาตุ + ติ (วิภัตติอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์) แปลง ติ เป็น ตฺถิ

: อสฺ > + ติ > ตฺถิ : + ตฺถิ = อตฺถิ แปลว่า ย่อมมี, ย่อมเป็น 

(2) สุ + อตฺถิ :

สุ แผลงเป็น สุว + อตฺถิ หรือ สุ + (คำประเภท “อาคม”) + อตฺถิ : สุ + + อตฺถิ = สุวตฺถิ (สุ-วัด-ถิ) 

(ลองออกเสียง สุอัตถิ เร็วๆ จะได้เสียง สุ-วัด-ถิ หรือ สฺวัด-ถิ)

สุวตฺถิ” สันสกฤตเป็น “สฺวสฺติ” เราเขียนอิงสันสกฤต จึงเป็น “สวัสดิ” 

สุอตฺถิ = สุวตฺถิ > สฺวสฺติ > สวัสดิ แปลตามศัพท์ว่า “มีดี” หรือ “เป็นดี” หมายถึง ความสวัสดี, ความรุ่งเรือง, ความปลอดภัย; การอยู่ดี, การได้รับพร (well-being, prosperity, safety; well-being, blessing)

หมายเหตุ :

สุ + อตฺถิ ในบาลี ได้รูปเป็นอีกศัพท์หนึ่ง คือ “โสตฺถิ” กระบวนการทางไวยากรณ์คือ แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ 

: สุ > โส + อตฺถิ = โสตฺถิ มีความหมายอย่างเดียวกับ สุวตฺถิ

สุวตฺถิ” สันสกฤตเป็น “สฺวสฺติ” เราเขียนอิงสันสกฤต จึงเป็น “สวัสดิ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “สวัสดิ์” “สวัสดี

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สวัสดิ-, สวัสดิ์ ๑, สวัสดี ๑ : (คำนาม) ความดี, ความงาม, ความเจริญรุ่งเรือง; ความปลอดภัย เช่น ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ขอให้มีความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ขอให้มีความสุขสวัสดี ขอให้สวัสดีมีชัย. (ส. สฺวสฺติ; ป. โสตฺถิ).”

อรุณ + สวัสดิ์ = อรุณสวัสดิ์ แปลว่า “สวัสดีตอนเช้า

อรุณสวัสดิ์” เป็นคำที่บัญญัติขึ้นเทียบคำอังกฤษว่า good morning แปลว่า รุ่งเช้าดี นิยมใช้เป็นคำทักทายกันตอนเช้าตามธรรมเนียมชาติตะวันตก

ขยายความ :

อรุณสวัสดิ์” เป็นคำทักทายตอนเช้าที่คนไทยก็นิยมพูดกัน แต่สังเกตเห็นว่ามักใช้พูดอย่างเป็นพิธีการ เช่นผู้ประกาศทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์พูดทักท้ายผู้ฟังผู้ชมว่า อรุณสวัสดิ์ท่านผู้ฟังทุกท่าน 

คำว่า “อรุณสวัสดิ์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี มีคำว่า good morning แปลเป็นบาลีว่า –

suppabhātaŋ สุปฺปภาตํ (สุบ-ปะ-พา-ตัง) = รุ่งสว่างดี

แถม :

คำว่า “สุปฺปภาตํ” ที่เราน่าจะคุ้นกันอยู่บ้างอยู่ในบทสวดมนต์ที่เรียกว่า “ชยปริตร” ที่ขึ้นต้นว่า “มหาการุณิโก” หรือ “ชยนฺโต”

ขอนำบท “ชยปริตร” พร้อมทั้งคำแปลมาเสนอเป็นอภินันทนาการดังต่อไปนี้ (ในที่นี้เขียนแบบคำอ่าน)

…………..

มะหาการุณิโก  นาโถ

หิตายะ  สัพพะปาณินัง

ปูเรต๎วา  ปาระมี  สัพพา

ปัตโต  สัมโพธิมุตตะมัง.

ผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์ ประกอบด้วยพระมหากรุณา ยังบารมีทั้งหลายทั้งปวงให้เต็ม เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ถึงแล้วซึ่งความตรัสรู้อันอุดม 

เอเตนะ  สัจจะวัชเชนะ

โหตุ  เต  ชะยะมังคะลัง.

ด้วยความกล่าวสัตย์นี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน

ชะยันโต  โพธิยา  มูเล

สัก๎ยานัง  นันทิวัฑฒะโน

เอวัง  ต๎วัง  วิชะโย  โหหิ

ชะยัสสุ  ชะยะมังคะเล,

อะปะราชิตะปัลลังเก

สีเส  ปะฐะวิโปกขะเร

อะภิเสเก  สัพพะพุทธานัง

อัคคัปปัตโต  ปะโมทะติ.

ขอท่านจงมีชัยชนะในมงคลพิธีเหมือนพระจอมมุนีทรงชนะมารที่โคนโพธิพฤกษ์ ถึงความเป็นผู้เลิศในสรรพพุทธาภิเษก ทรงปราโมทย์อยู่เหนืออปราชิตบัลลังก์อันสูง เป็นจอมมหาปฐพี ทรงเพิ่มพูนความยินดีแก่เหล่าประยูรญาติศากยวงศ์ ฉะนั้นเทอญ.

สุนักขัตตัง  สุมังคะลัง 

เวลาที่ประพฤติชอบ ชื่อว่าฤกษ์ดี มงคลดี

สุปปะภาตัง  สุหุฏฐิตัง

สว่างดี รุ่งดี

สุขะโณ  สุมุหุตโต  จะ

แลขณะดี ครู่ดี

สุยิฏฐัง  พ๎รัห๎มะจาริสุ

บูชาแล้วดีในพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย

ปะทักขิณัง  กายะกัมมัง

กายกรรมเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา

วาจากัมมัง  ปะทักขิณัง

วจีกรรมเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา

ปะทักขิณัง  มะโนกัมมัง

มโนกรรมเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา

ปะณิธี  เต  ปะทักขิณา

ความปรารถนาของท่านเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา

ปะทักขิณานิ  กัต๎วานะ

ละภันตัตเถ  ปะทักขิเณ.

สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวาแล้ว ย่อมได้ประโยชน์ทั้งหลายอันเป็นประทักษิณส่วนเบื้องขวา.

…………..

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอถวายข้อสังเกตไปยังพระภิกษุสามเณรดังนี้ –

บท “ชยปริตร” หรือ “มหาการุณิโก” ตรงคำว่า “สุปปะภาตัง” นี้ พระภิกษุสามเณรตามวัดต่าง ๆ มักจะออกเสียงเป็น สุ-ปับ-พา-ตัง ซึ่งเป็นการออกเสียงที่คลาดเคลื่อน

โปรดพิจารณาอย่างรอบคอบ –

เขียนแบบบาลีเป็น “สุปฺปภาตํ” 

เขียนแบบไทยเป็น “สุปปะภาตัง

เขียนแยกพยางค์ให้เห็นชัด ๆ “สุป-ปะ-ภา-ตัง

สุ– มี ปฺ ปลาสะกด เป็น สุปฺ– ต้องออกเสียงว่า สุบ ไม่ใช่ สุ

ปภา– ไม่มีตัวสะกด อ่านว่า ปะ-พา ไม่ใช้ ปับ-พา

ดังนั้น สุปฺปภาตํ > สุปปะภาตัง > สุป-ปะ-ภา-ตัง 

จึงต้องออกเสียงว่า สุบ-ปะ-พา-ตัง 

ไม่ใช่ สุ-ปับ-พา-ตัง

สุบ-ปะ-

ไม่ใช่ สุ-ปับ-

ขอความกรุณา พยายามแก้ไขที่สวดผิดให้ถูก

และขอความกรุณาอย่าพยายามอธิบายผิดให้เป็นถูก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำดี พูดดี คิดดี ตลอดทั้งวัน

: อย่าเพียงแต่ทักทายกันด้วยคำดี ๆ

#บาลีวันละคำ (4,427)

26-7-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *