บาลีวันละคำ

คหกรรมศาสตร์ (บาลีวันละคำ 3,479)

คหกรรมศาสตร์

มีความหมายมากกว่า “วิชาว่าด้วยงานบ้าน”

อ่านว่า คะ-หะ-กำ-มะ-สาด

แยกศัพท์เป็น คห + กรรม + ศาสตร์

(๑) “คห” 

อ่านว่า คะ-หะ รากศัพท์มาจาก คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + (อะ) ปัจจัย

: คหฺ + = คห (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่เก็บทรัพย์อันคนนำมาแล้ว” (คนหาทรัพย์มาเก็บไว้ที่นั่น จึงเรียกที่นั่นว่า คห = ที่เก็บทรัพย์) หมายถึง บ้าน (a house)

ศัพท์ที่ใกล้กันอีกคำหนึ่งคือ “เคห” (เค-หะ) รากศัพท์เหมือนกับ “คห” เพียงแต่แปลง อะ ที่ -(ห) เป็น เอ : คห > เคห

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เคห” ว่า a dwelling, hut, house; the household (ที่อยู่อาศัย, กระท่อม, บ้าน; ครัวเรือน)

(๒) “กรรม

บาลีเป็น “กมฺม” อ่านว่า กำ-มะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ที่ต้นปัจจัย

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมใช้ทับศัพท์อิงรูปสันสกฤตว่า “กรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กรรม ๑, กรรม– ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”

ในที่นี้ “กรรม” หมายถึง การงานทั่วไป

(๓) “ศาสตร์” 

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “สตฺถ” (สัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (ส)-สฺ เป็น ตฺ

: สสฺ + = สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” คำเดิมหมายถึง “ของมีคม” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศสฺตฺร” แปลว่า ดาบ, มีด, อาวุธ ใช้ในภาษาไทยว่า ศัสตรา หรือ ศาสตรา บางทีก็พูดควบกันว่า ศาสตราวุธ หรือ ศาสตราอาวุธ (weapon, sword, knife)

(2) สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย แปลง รฺ เป็น ตฺ

: สรฺ + = สรฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “สารฺถ” หมายถึง กองเกวียนของพ่อค้า, กองคาราวาน, ขบวนยานพาหนะ (caravan)

(3) สาสฺ (ธาตุ = สอน) + ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ สา-(สฺ) เป็น อะ (สาสฺ > สสฺ), แปลง สฺ เป็น ตฺ

: สาสฺ + = สาสฺถ > สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศาสฺตฺร” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชาความรู้ (science, art, lore)

ศาสตร” มีความหมาย 2 อย่าง คือ 

(ก) หมายถึง “ของมีคม” ตามบาลี “สตฺถ” ในข้อ (1) ความหมายนี้สันสกฤตเป็น “ศสฺตฺร” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศัสตระ,’ อายุธ, อาวุธทั่วไป; เหล็ก; เหล็กกล้า; ดาพ, กระบี่; มีด, พร้า; a weapon in general, iron; steel; a sword; a knife.”

ความหมายนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ศัสตรา” และ “ศาสตรา” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ศัสตรา, ศัสตราวุธ : (คำนาม) ของมีคมเป็นเครื่องฟันแทง, อาวุธต่าง ๆ. (ส.).

(2) ศาสตรา : (คำนาม) ศัสตรา.

(ข) หมายถึง “วิชาความรู้” ตามบาลี “สตฺถ” ในข้อ (3) ความหมายนี้สันสกฤตเป็น “ศาสฺตฺร” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศาสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศาสตร์’ คำสั่งหรือบัญชา; เวท, วิทยา, ธรรมศาสตร์, กฎหมาย; หนังสือทั่วไป; an order or command; scripture or Veda, science, institutes of religion, law; a book in general.”

ความหมายนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ศาสตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศาสตร-, ศาสตร์ : (คำนาม) ระบบวิชาความรู้, มักใช้ประกอบหลังคําอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์. (ส.).”

การประสมคำ :

คห + กรรม = คหกรรม (คะ-หะ-กำ) แปลโดยประสงค์ว่า “การงานในบ้าน” ตรงกับคำไทยที่พูดกันว่า “งานบ้านงานเรือน” หรือ “การบ้านการเรือน” 

อาจเป็นเพราะผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นภรรยาในสังคมเดิมของไทย (และน่าจะของมนุษย์ทั่วโลก) ทำหน้าที่ดูแลงานในบ้านเรือนเป็นปกติ จึงมีคำไทยว่า “แม่บ้านแม่เรือน”

ผู้ที่เคยเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยเทคนิคท่านหนึ่งพูดถึงคำว่า “คหกรรม” เป็นภาษาง่ายๆ ว่า –

“คหกรรมเป็นวิชาที่เกี่ยวกับการบ้านการเรือน, ครอบคลุมไปหมด แต่จะแยกออกเป็นสาขาได้อีกมากมาย เช่นสาขาอาหารและโภชนาการ, ผ้าและเครื่องแต่งกาย, คหกรรมศาสตร์”

คำว่า “คหกรรม” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

คหกรรม + ศาสตร์ = คหกรรมศาสตร์ (คะ-หะ-กำ-มะ-สาด) แปลตามศัพท์ว่า “วิชาว่าด้วยการงานในบ้านเรือน

คำว่า “คหกรรมศาสตร์” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

คหกรรมศาสตร์ : (คำนาม) วิชาที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปะ โดยมุ่งพัฒนาครอบครัวด้วยการจัดการทรัพยากรบุคคล วัสดุและสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ความมั่นคงของสถาบันครอบครัวและสังคม.”

จะเห็นได้ว่า คำนิยามตามพจนานุกรมฯ มีความหมายกว้างออกไปจากคำว่า “คห” (บ้านเรือน) และ “คหกรรม” (งานในบ้านเรือน) เป็นอันมาก

ผู้รู้ภาษาอังกฤษบอกว่า “คหกรรมศาสตร์” ภาษาอังกฤษว่า domestic science

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล domestic science เป็นไทยว่า เคหศาสตร์

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้เก็บคำว่า domestic science ไว้ แต่มีคำว่า domestic แปลเป็นบาลีไว้ดังนี้: 

(1) gehasevaka เคหเสวก (เค-หะ-เส-วะ-กะ) = ผู้พำนักอยู่ในบ้าน

(2) gehanissita เคหนิสฺสิต (เค-หะ-นิด-สิ-ตะ) = ผู้อาศัยในบ้าน

(3) gharāvāsāyatta ฆราวาสายตฺต (คะ-รา-วา-สา-ยัด-ตะ) = เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้าน

อภิปราย :

วิถีชีวิตคนไทยมีแนวโน้มที่จะไม่ทำงานบ้านด้วยตัวเองมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดในเวลานี้ก็อย่างเช่น บ้านที่ไม่หุงหาอาหารกินเอง แต่ใช้วิธี “ทุกมื้อซื้อกิน” มีมากขึ้น งานในครัวก็แทบจะหมดไป ชั้นที่สุดต่อไปล้างจานล้างชามก็จะทำเองไม่เป็น ซักรีดเสื้อผ้าก็ใช้บริการรับจ้าง ทำความสะอาดบ้านเรือนก็เริ่มจะใช้วิธีว่าจ้างกันมาก แม้แต่เลี้ยงลูกก็มีบริการรับจ้าง 

การไม่ต้องทำงานเอง แต่ให้คนอื่นทำแทน โดยเนื้อแท้แล้วคนที่ทำแทนย่อมอยู่ในฐานะคนรับใช้ซึ่งคำบาลีเรียกว่า “ทาส” นั่นเอง 

คนสมัยใหม่ที่รังเกียจสังคมศักดินาอันเป็นสังคมที่มีข้าทาสบริวาร ผู้เป็นนายไม่ต้องทำงานเองนั้น หากใช้ชีวิตแบบใหม่ที่ไม่ต้องทำงานบ้านเองดังที่กำลังเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ คนที่มีทัศนคติเช่นนั้นก็จะมีฐานะไม่ต่างอะไรกับชนชั้นศักดินาในรูปแบบใหม่นั่นเอง เพียงแต่สมัยนี้ใช้เงินจ้าง ซึ่งก็คือให้เงินเป็นเครื่องตอบแทน ในขณะที่สังคมสมัยก่อนใช้สิ่งอื่นเป็นเครื่องตอบแทน แต่ไม่ว่าจะใช้อะไรตอบแทน ผลก็เท่ากันคือ คนฝ่ายหนึ่งไม่ต้องทำงานด้วยตัวเอง 

คนที่ทำงานบริการชีวิตตัวเองด้วยตัวเองแท้ๆ ไม่ต้องมีใครทำแทนเท่านั้นจึงจะพ้นจากฐานะศักดินาได้

นี่เป็นเพียงแนวคิด แต่เป็นแนวที่เรามักละลืมคิด ถ้าคิดให้ลึกก็จะเห็นอะไรๆ ที่ซ่อนอยู่ลึกๆ 

…………..

ดูก่อนภราดา!

ถ้าไม่ระวังให้ดี –

: เครื่องช่วยให้เกิดความสะดวก

: จะกลายเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความขี้เกียจไปโดยไม่รู้ตัว

#บาลีวันละคำ (3,479)

21-12-64 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *