โศกศัลย์ (บาลีวันละคำ 3,484)
โศกศัลย์
1 ใน 7 “-ศัลย์”
อ่านว่า โสก-สัน
ประกอบด้วยคำว่า โศก + ศัลย์
(๑) “โศก”
บาลีเป็น “โสก” อ่านว่า โส-กะ รากศัพท์มาจาก สุจฺ (ธาตุ = โศกเศร้า) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อุ ที่ สุ-(จฺ) เป็น โอ (สุจฺ > โสจ), แปลง จ เป็น ก
: สุจฺ + ณ = สุจณ > สุจ > โสจ > โสก แปลตามศัพท์ว่า “ความโศกเศร้า” หมายถึง ความเศร้า, ความโศก, ความทุกข์ใจ (grief, sorrow, mourning)
“โสก” ในบาลี เป็น “โศก” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“โศก : (คำนาม) ทุกข์, ความเศร้าใจ; sorrow, grief.”
ในภาษาไทยใช้เป็น “โศก” ตามสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โศก ๑, โศก– : (คำนาม) ความทุกข์, ความเศร้า, ความเดือดร้อนใจ, เช่น อันทุกข์โศกโรคภัยในมนุษย์ มิรู้สุดสิ้นลงที่ตรงไหน. (อภัย). (คำกริยา) ร้องไห้ เช่น เขากำลังทุกข์กำลังโศก อย่าไปรบกวนเขา. (คำวิเศษณ์) เศร้า เช่น บทโศก ตาโศก; แห้ง เช่น ใบไม้โศกเพราะความแห้งแล้ง. (ส.; ป. โสก).”
(๒) “ศัลย์”
บาลีเป็น “สลฺล” อ่านว่า สัน-ละ รากศัพท์มาจาก –
(1) สลฺลฺ (ธาตุ = ไปเร็ว) + อ (อะ) ปัจจัย
: สลฺลฺ + อ = สลฺล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปเร็ว”
(2) สรฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ล ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (ส)-รฺ เป็น ลฺ (สรฺ > สลฺ)
: สรฺ + ล = สรฺล > สลฺล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนสัตว์”
“สลฺล” หมายถึง ลูกศร, ขวาก, หลาว, ไม้แหลม, ขนเม่น
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สลฺล” ว่า an arrow, dart (ลูกศร, ลูกดอก)
บาลี “สลฺล” สันสกฤตเป็น “ศลฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศลฺย : (คำนาม) ‘ศัลยะ, ศัลย์,’ หอกซัด; หลาว; ขวากหรือหนามทั่วไป; ศร; บาป; ความลำบาก; อปวาท; เม่น; เขตต์; นฤบดี, ผู้มาตุลของยุธิษเฐียร; a javelin; a bamboo-stake; any stake or thorn; an arrow; sin; difficulty; abuse; porcupine; a boundary; a king; the maternal uncle of Yudhishṭhir.”
ภาษาไทยใช้เป็น “ศัลย” ตามสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศัลย– : (คำนาม) ลูกศรหรือของมีปลายแหลมอื่น ๆ. (ส.).”
โสก + สลฺล = โสกสลฺล (โส-กะ-สัน-ละ) แปลว่า “ลูกศรคือความโศก” หมายถึง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความรู้สึกเสมือนว่าถูกศรเสียบเข้าไปในหัวใจ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โสกสลฺล” ว่า the dart or sting of sorrow (ธนูหรือลูกศรคือความเศร้าโศก)
บาลี “โสกสลฺล” ใช้ในภาษาไทยเป็น “โศกศัลย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โศกศัลย์ : (คำกริยา) เป็นทุกข์เดือดร้อนเหมือนถูกศรแทง. (ส.; ป. โสกสลฺล).”
ขยายความ :
ในภาษาไทย เราได้ยินแต่คำว่า “โศกศัลย์” แต่ในทางธรรม ยังมี “-ศัลย์” อีก 6 อย่างที่อยู่ในชุด “โศกศัลย์” รวมเป็น 7 “-ศัลย์” มีชื่อดังนี้ –
(1) ราคสลฺล > ราคศัลย์ = ลูกศรคือความกำหนัดยินดี ปรารถนาจะได้มีจะได้
(2) โทสสลฺล > โทสศัลย์ = ลูกศรคือความโกรธ ความขัดแค้นขุ่นเคือง
(3) โมหสลฺล > โมหศัลย์ = ลูกศรคือความหลง ความไม่รู้ตามเป็นจริง
(4) มานสลฺล > มานศัลย์ = ลูกศรคือความถือตัวทะนงตนด้วยอาการต่างๆ
(5) ทิฏฺฐิสลฺล > ทิฏฺฐิศัลย์ = ลูกศรคือความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิ
(6) โสกสลฺล > โศกศัลย์ = ลูกศรคือความทุกข์โศก
(7) กถํกถาสลฺล > กถังกถาศัลย์ = ลูกศรคือความลังเลสงสัยในเรื่องบุญบาปเป็นต้น ไม่แน่ใจ ตัดสินใจไม่ได้
ดูเพิ่มเติม: ขุทกนิกาย มหานิทเทส พระไตรปิฎกเล่ม 29 ข้อ 810
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สูญเสียก็เสียใจ
: แต่อย่าให้ใจเสียศูนย์
#บาลีวันละคำ (3,484)
26-12-64
…………………………….