ภาคทัณฑ์ (บาลีวันละคำ 3,481)
ภาคทัณฑ์
มาจากภาษาอะไร
อ่านว่า พาก-ทัน
รูปศัพท์เท่าที่ตาเห็นคือ ภาค + ทัณฑ์
(๑) “ภาค”
บาลีอ่านว่า พา-คะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ภชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง ช เป็น ค
: ภชฺ + ณ = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จำแนกผลดีหรือไม่ดีให้มากขึ้น”
(2) ภชฺ (ธาตุ = เสพ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง ช เป็น ค
: ภชฺ + ณ = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลเสพ”
(3) ภาชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ช เป็น ค
: ภาชฺ + ณ = ภาชณ > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาแบ่งออก”
“ภาค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ส่วน, ภาค, อนุภาค, ส่วนแบ่ง (part, portion, fraction, share)
(2) ส่วน (ของเงิน) ที่แบ่งให้, ค่าธรรมเนียม, ค่าจ้างรางวัล (apportioned share (of money), fee, remuneration)
(3) ส่วนของพื้นที่, สถานที่, ภูมิภาค (division of space, quarter, side, place, region)
(4) ส่วนของเวลา, เวลา (division of time, time)
ในที่นี้ “ภาค” ใช้ในความหมายว่า “ส่วน” ตามข้อ (1)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาค, ภาค– : (คำนาม) ส่วน เช่น ภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ, ฝ่าย เช่น ภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาคเหนือ ภาคใต้, บั้น, ตอน, เช่น หนังสือภูมิศาสตร์ภาคต้น หนังสือประวัติศาสตร์ภาคปลาย พงศาวดารภาค ๑, คราว เช่น การศึกษาภาคฤดูร้อน, ส่วนของประเทศที่แบ่งออกเป็นส่วนย่อยเพื่อสะดวกในด้านการปกครองการศึกษา การทหาร เป็นต้น เช่น เจ้าคณะภาค แม่ทัพภาค. (ป.).”
(๒) “ทัณฑ์”
บาลีเป็น “ทณฺฑ” อ่านว่า ทัน-ดะ (ฑ มณโฑ ออกเสียงเหมือน ด เด็ก) รากศัพท์มาจาก –
(1) ทมฺ (ธาตุ = ฝึก, ข่ม, ทรมาน) + ฑ ปัจจัย, แปลง มฺ เป็น ณฺ
: ทมฺ > ทณฺ + ฑ = ทณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องทรมานฝึกฝน” หมายถึง การลงทัณฑ์, การทรมาน, การลงอาญา, การถูกปรับ
(2) ทฑิ (ธาตุ = ตี, ประหาร) + ก ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น ณฺ, ลบ ก และสระที่สุดธาตุ
: ทฑิ > ทํฑิ > ทณฺฑิ > ทณฺฑ + ก = ทณฺฑก > ทณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องตี” หมายถึง ท่อนไม้, ไม้เท้า, ไม้เรียว
“ทณฺฑ” (ปุงลิงค์) มีความหมายหลัก 2 อย่าง คือ ไม้ที่หยิบถือได้ (a stick, staff, rod) และ การลงโทษ (punishment)
ในที่นี้ “ทณฺฑ” หมายถึงการลงโทษ
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทัณฑ-, ทัณฑ์ : (คำนาม) โทษที่เนื่องด้วยความผิด; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) โทษทางวินัยที่ใช้แก่ทหารที่กระทำความผิดมี ๕ สถาน ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กัก ขัง และจำขัง. (ป., ส.).”
ภาค + ทัณฑ์ = ภาคทัณฑ์
เท่าที่แสดงมานี้เป็นการศึกษารูปศัพท์เท่าที่ตาเห็น หมายความว่า ถ้ารูปศัพท์เป็นคำบาลีอย่างนี้ ความหมายก็จะเป็นอย่างนี้
แต่เรื่องไม่ได้จบแค่นี้ เพราะยังจะต้องศึกษาต่อไปอีกว่า คำว่า “ภาคทัณฑ์” จริงๆ แล้วมาจากภาษาอะไร หรือน่าจะมาจากภาษาอะไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาคทัณฑ์ : (คำกริยา) ตําหนิโทษ, คาดโทษ, ลงโทษเพียงว่ากล่าว, ลงโทษข้าราชการพลเรือนโดยตำหนิโทษเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นการลงโทษขั้นเบาที่สุด. (ส. วาคฺทณฺฑ = ลงโทษเพียงว่ากล่าว).”
พจนานุกรมฯ บอกไว้ในวงเล็บว่า สันสกฤตมีคำว่า “วาคฺทณฺฑ” หมายถึง “ลงโทษเพียงว่ากล่าว” ดังจะให้เข้าใจว่า คำว่า “ภาคทัณฑ์” เทียบได้กับ “วาคฺทณฺฑ” ในสันสกฤต หรือนัยหนึ่ง “ภาคทัณฑ์” อาจจะมาจาก “วาคฺทณฺฑ” นั่นเอง
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน เก็บคำว่า “วาคฺทณฺฑ” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วาคฺทณฺฑ : (คำนาม) ‘วาคทัณฑ์,’ บริพาท, วจนสังยม, การข่มหรือระงับวาจา; reproof or reprimand; restraint or control of speech.”
อภิปราย :
ดูความหมายของ “ภาคทัณฑ์” ในภาษาไทยเทียบกับความหมายของ “วาคฺทณฺฑ” ในสันสกฤต โดยเฉพาะที่สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปลไว้เป็นภาษาอังกฤษ น่าจะเป็นไปได้ที่ “ภาคทัณฑ์” มาจาก “วาคฺทณฺฑ” ในสันสกฤต
คำว่า “วาคฺทณฺฑ” แปลง ว เป็น พ ควรสะกดเป็น “พาคทัณฑ์” แต่เรื่องตัวสะกดนี้ถ้าเป็นคำเก่าเอาเป็นแน่ไม่ค่อยได้ เพราะคนเก่าไม่เคร่งครัดเรื่องตัวอักษร ไม่ว่าจะมาจากภาษาอะไร คำเดิมสะกดอย่างไร พอมาถึงมือเสมียนไทยอาจแปลงรูปไปได้ต่างๆ ขอให้อ่านออกเสียงได้ตรงกันหรือใกล้กันก็เป็นอันใช้ได้
อย่างไรก็ตาม คำว่า “ภาคทัณฑ์” ทำให้นึกถึงคำว่า “ภาคเสธ” ซึ่งตำแหน่งของคำตรงกัน คือ –
ภาค + ทัณฑ์ = ภาคทัณฑ์
ภาค + เสธ = ภาคเสธ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาคเสธ : (คำกริยา) แบ่งรับแบ่งสู้ เช่น ให้การภาคเสธ คือ ให้การรับบ้างปฏิเสธบ้าง.”
“ภาคเสธ” มาจาก ภาค + ปฏิเสธ ค่อนข้างแน่ ตัด “ปฏิ” ออก เอา “ภาค” เข้าไปแทน เป็นการสร้างคำตามหลักความสะดวกของไทยอีกคำหนึ่ง
นอกจาก “ภาคเสธ” แล้ว คำว่า “ภาคทัณฑ์” ยังชวนให้นึกถึงคำว่า “ทัณฑ์บน” ซึ่งน่าจะเป็นคำที่ใช้อยู่ในแวดวงตุลาการเหมือนกัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทัณฑ์บน : (คำนาม) ถ้อยคำหรือหนังสือสัญญาว่าจะไม่ประพฤติละเมิดตามเงื่อนไขที่ได้ให้ไว้, (คำโบราณ) ทานบน; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คำรับรองว่าจะไม่กระทำการที่ห้ามหรือกระทำความผิดอีกภายในเวลาที่กำหนด.”
จาก “ทัณฑ์บน” ก็ชวนให้นึกต่อไปถึง “สินบน” ซึ่งตำแหน่งของคำก็ตรงกันอีก คือ
ทัณฑ์ + บน = ทัณฑ์บน
สิน + บน = สินบน
ผู้เขียนบาลีวันละคำนึกคำแปลเอาเองโดยประสงค์ว่า –
“สินบน” = ทำอย่างนี้จะให้สิน = ให้ทรัพย์
“ทัณฑ์บน” = ทำอย่างนี้จะให้ทัณฑ์ = ลงโทษ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สินบน : (คำโบราณ) (คำนาม) ทรัพย์หรือสิ่งของที่จะให้เป็นเครื่องบูชาคุณหรือตอบแทนผู้ที่จะช่วยให้สําเร็จตามประสงค์; (กฎ) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง ไม่ว่าการนั้นชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่; เงินที่จ่ายให้แก่ผู้นําจับ.”
สรุปว่า “ภาคทัณฑ์” มาจากภาษาอะไร ก็แล้วแต่ใครจะสรุปเอาเถิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
………………
: “กฎหมายไม่ใช่ไม่ดี กฎหมายที่เขียนไว้ไม่ได้ผิด บทลงโทษของกฎหมายเหมาะสม
: แต่คนต่างหากที่หาช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตัวเอง บทลงโทษจะบังคับอะไรได้ถ้าเขาไม่ทำตาม”
………………
#บาลีวันละคำ (3,481)
23-12-64
…………………………….