บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

สามสถาบัน

สามสถาบัน

————-

ในภาษาไทยสมัยใหม่ เมื่อเอ่ยคำว่า “สามสถาบัน” ย่อมเป็นที่รู้กันดีว่าหมายถึง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันสำคัญของสังคมไทย

คนไทยรุ่นใหม่มักตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมสังคมไทยจะต้องประกอบด้วยสามสถาบัน มีสถาบันชาติอย่างเดียวก็พอ ทำไมจะต้องมีสถาบันศาสนา ทำไมจะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้อสงสัยนี้คงจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยอย่างน้อย ๒ ข้อ คือ –

๑ การไม่ได้ศึกษารากเหง้าของตัวเองให้เข้าใจถูกต้องชัดเจนว่าชาติไทยเป็นมาได้อย่างไร 

การไม่ศึกษาตัวเองให้เข้าใจนี้ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย

เป็นปัญหาตรงที่ว่า มีเหตุขัดข้องอย่างไรหรือ คนไทย-โดยเฉพาะเด็กไทย-จึงไม่ศึกษาเรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง มันติดขัด มันเสียหาย มันไร้สาระตรงไหนหรือจึงไม่เรียนรู้?

๒ การนับถือเลื่อมใสชื่นชมความเป็นไปของต่างชาติ จนถึงขั้นคิดเอาว่า ชาติโน้นเขามีอย่างนั้น เขาเป็นอย่างนั้น ก็อยากให้ชาติของเรามีอย่างนั้นและเป็นอย่างนั้นบ้าง 

ปัจจัยทั้งสองนี้มีส่วนหนุนกันและกันอยู่ในตัว กล่าวคือ –

เพราะไม่ศึกษาเรียนรู้ให้รู้จักตัวเอง จึงไม่รู้ว่าตัวมีอะไรดี จะพัฒนาข้อดีและแก้ไขข้อด้อยได้อย่างไร เป็นเหตุให้ไปมองหาของดีจากชาติอื่น

เพราะไปมองหาของดีจากชาติอื่น จึงดูถูกของดีของตัวเองที่ตนเองก็ไม่รู้จักแท้จริง 

เมื่อดูถูกตัวเอง ก็ไม่เห็นคุณค่า เมื่อไม่เห็นคุณค่าก็จึงไม่ต้องการจะศึกษาเรียนรู้ให้รู้จักตัวเองซ้ำเข้าไปอีก

…………..

การจะเข้าใจคุณค่าของ “สามสถาบัน” ต้องเริ่มด้วยการศึกษาเรียนรู้ให้รู้จักตัวเอง 

ดังที่กล่าวข้างต้น-การไม่ศึกษาตัวเองให้เข้าใจนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย

ปัญหานี้แก้ระดับจุลภาค คือทำความเข้าใจกันไปทีละคนสองคน ก็พอทำได้ แต่แทบจะไม่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงในสังคม

ความเปลี่ยนแปลงในสังคมต้องเกิดจากความเข้าใจในระดับมหัพภาค

การสร้างความเข้าใจในระดับมหัพภาคต้องทำในระดับนโยบาย คือต้องกำหนดเป็นนโยบายของบ้านเมืองอย่างที่เรียกกันว่า “วาระแห่งชาติ”

นโยบายของบ้านเมืองก็ต้องมาจากผู้บริหารบ้านเมือง

แล้วผู้บริหารบ้านเมืองของเรามาจากไหน – ถามอย่างนี้ก็เริ่มจะมองเห็นเค้าของความยากแล้ว

ผู้บริหารบ้านเมืองของเราไม่เคยมีนโยบายที่ยั่งยืนต่อเนื่องยาวนาน 

คิดอะไรขึ้นมา ทำกันวูบวาบชั่วคราว แล้วก็เลิก

แค่ถามว่า เราจะอบรมสั่งสอนปลูกฝังเด็กไทยให้มีคุณธรรมหรือบุคลิกลักษณะแบบไหน – แค่นี้ก็ไม่มีใครตอบได้แล้ว

ไม่รู้จะไปถามใคร

ยังไปไม่ถึงขั้นลงมือทำด้วยซ้ำ

เมื่อเราไม่รู้ว่าเมื่อไรบ้านเมืองของเราจึงจะได้ผู้บริหารที่มีความสามารถในการกำหนดนโยบายระยะยาว สิ่งที่ทุกคนสามารถลงมือทำไปได้เลยโดยไม่ต้องรอใครและไม่ต้องรอกัน (คุณทำก่อนสิ แล้วฉันจึงจะทำ คนพวกนั้นทำก่อนสิ แล้วคนพวกฉันจึงจะทำ) รวมทั้งไม่ต้องลากภูเขามาขวางทางตัวเอง (เราทำไปคนเดียว คนอื่นเขาไม่ทำ จะมีประโยชน์อะไร) ก็คือ –

ข้อ ๑ ฝึกอบรมตัวเองเป็นเบื้องต้น 

ใครเบื่อคนไทยว่า คนไทยมันก็เป็นเสียอย่างนี้บ้านเมืองจึงไม่เจริญ ก็บังคับตัวเองว่า-ตัวเราก็อย่าเป็นคนแบบนั้นสิ 

ใครเห็นว่าคนไทยควรจะเป็นคนอย่างไรบ้านเมืองจึงจะเจริญ ก็ฝึกฝนอบรมตัวเองให้เป็นคนแบบนั้นสิ 

เราเป็นเองได้คนหนึ่ง นั่นคือเมืองไทยมีคนที่บ้านเมืองต้องการคนหนึ่งแล้ว เริ่มนับหนึ่งแล้ว โอกาสสำเร็จมีแล้ว

ข้อ ๒ ต่อจากนั้น อบรมสั่งสอนปลูกฝังไปยังคนรอบตัว คนที่เราสามารถอบรมสั่งสอนได้ เช่นลูกหลานในครัวเรือนเป็นต้น

ข้อ ๒ นี่ ใครทำไม่ได้ก็ยังไม่ต้องทำ พร้อมเมื่อไรค่อยทำ

แต่แค่ข้อ ๑ ข้อเดียว ถ้าใครคิดว่าข้าพเจ้าทำไม่ได้ ก็ควรอยู่เงียบๆ เลิกบ่นเลิกด่าบ้านเมืองของตัวเอง เลิกด่าบรรพบุรุษของตัวเอง 

รวมทั้งเลิกสงสัยว่า ทำไมจะต้องมีศาสนา ทำไมจะต้องมีพระมหากษัตริย์ มีชาติอย่างเดียวก็พอมิใช่หรือ

ฝึกฝนตนเองตามข้อ ๑ ให้ได้ก่อน แล้วก็จะรู้คำตอบได้เอง

ถ้าฝึกฝนตนเองก็ยังไม่ฝึก

สงสัยก็ยังไม่เลิก

ซ้ำเอาแต่บ่นว่าด่าทอแผ่นดินของตัวเองไม่หยุดปาก

แบบนี้ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยได้อย่างไร

ลองท่องข้อความข้างล่างนี้วันละ ๓ เวลาก่อนอาหาร บางทีอาการอาจจะค่อยทุเลาลงบ้างกระมัง

………………………….

สถาบันไม่เคยทำลายใคร 

ถ้าไม่มีใครไปทำลายสถาบัน

………………………….

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๔

๑๕:๓๓

…………………………………….

สามสถาบัน

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *