ทุรยุค (บาลีวันละคำ 3,487)
ทุรยุค
ยุคเลวร้าย
อ่านว่า ทุ-ระ-ยุค
ประกอบด้วยคำว่า ทุร + ยุค
(๑) “ทุร”
อ่านว่า ทุ-ระ รูปคำเดิมในบาลีเป็น “ทุ” เป็นคําอุปสรรค (อุปสรรค : คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง) มีความหมายว่า ชั่ว, ผิด, ยาก, ลําบาก, ทราม, การใช้ไปในทางที่ผิด, ความยุ่งยาก, ความเลว (bad, wrong, perverseness, difficulty, badness)
“ทุ” อุปสรรคคำนี้นักเรียนบาลีในไทยท่องจำคำแปลได้ตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ว่า “ทุ: ชั่ว, ยาก, ลําบาก, ทราม, น้อย”
“ทุ” เมื่อนำหน้าคำบางคำ ลง ร-อาคม หรือจะว่าแปลง ทุ เป็น “ทุร” ก็ได้
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทุร- : (คำวิเศษณ์) คําประกอบหน้าคําศัพท์ หมายความว่า ชั่ว, ยาก, ลําบาก, น้อย, ไม่มี, เช่น ทุรค ว่า ที่ไปถึงยาก, ทางลําบาก. (ส.).”
ควรรู้เพิ่มขึ้นอีกหน่อยว่า ในบาลีมีคำว่า “ทูร” (ทู– สระ อู) อีกคำหนึ่ง ซึ่งบางบริบทมีความหมายใกล้เคียงกับ “ทุร”
“ทูร” อ่านว่า ทู-ระ รากศัพท์มาจาก ทุ (คำอุปสรรค = ยาก, ลำบาก) + อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, ใช้สูตร “ลบสระหลัง ทีฆะสระหน้า” คือ (ทุ + อรฺ : ทุ อยู่หน้า อรฺ อยู่หลัง) ลบ อะ ที่ อรฺ (อรฺ > ร) ทีฆะ อุ ที่ ทุ เป็น อู (ทุ > ทู)
: ทุ + อรฺ = ทุร > ทูร + อ = ทูร (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่ไปถึงโดยยาก” หมายถึง ไกล, ห่าง, ห่างไกล (far, distant, remote)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทูร– : (คำวิเศษณ์) คําประกอบหน้าคําศัพท์ หมายความว่า ไกล เช่น ทูรบถ ทูรมรรคา ว่า ทางยาว, ทางไกล. (ป.).”
(๒) “ยุค”
บาลีอ่านว่า ยุ-คะ รากศัพท์มาจาก ยุช (ธาตุ = ประกอบ) + อ (อะ) ปัจจัย แปลง ชฺ เป็น ค
: ยุชฺ + อ = ยุช > ยุค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกอบกันอยู่”
“ยุค” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) แอก, ไม้ขวางเทียมคันไถตามปกติ หรือเทียมรถ (the yoke of a plough usually or a carriage)
(2) สิ่งที่ถูกเทียมหรือควรเข้ากับแอกคู่หนึ่ง, 2 ตัว (what is yoked or fits under one yoke a pair, couple)
(3) เกี่ยวเนื่องโดยสืบสายชั่วคน, ยุค (connected by descent generation, an age)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ยุค” ไว้ 3 คำ บอกไว้ดังนี้ –
(1) ยุค ๑ : (คำนาม) แอก. (ป., ส.).
(2) ยุค ๒ : (คำนาม) คู่, ทั้งสอง. (ป., ส.).
(3) ยุค ๓ : (คำนาม) คราว, สมัย, เช่น ยุคมืด ยุคหิน; กําหนดเวลาของโลก มี ๔ ยุค. (ดู จตุรยุค). (ป., ส.).
ในที่นี้ “ยุค” มีความหมายตาม “ยุค ๓”
“ยุค” ในความหมายนี้ พจนานุกรมฯ บอกให้ไปดูที่คำว่า “จตุรยุค”
ที่คำว่า “จตุรยุค” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –
“จตุรยุค : (คำนาม) ยุคทั้ง ๔ คือ กฤดายุค ไตรดายุค ทวาบรยุค กลียุค.”
ทุร + ยุค = ทุรยุค แปลว่า “ยุคชั่วร้าย”
ขยายความ :
พจนานุกรมฯ ไม่ได้เก็บคำว่า “ทุรยุค” ไว้ ในคัมภีร์บาลีก็ยังไม่พบศัพท์ว่า “ทุรยุค” (บาลีอ่านว่า ทุ-ระ-ยุ-คะ) นักเรียนบาลีท่านใดค้นพบศัพท์นี้ในคัมภีร์ กรุณานำเสนอด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
ถ้าอธิบายตามความรู้สึก “ทุรยุค” ก็คือยุคสมัยที่ความเลวร้ายนำหน้าความดี หรืออธรรมนำหน้าธรรม
ดูตาม “จตุรยุค” หรือ “ยุคทั้งสี่” ที่มีคำอธิบายกันมาอาจช่วยให้มองภาพออกว่า “ทุรยุค” น่าจะมีตั้งแต่เมื่อไร
ตามคติของพราหมณ์ แบ่งอายุของโลกออกเป็น 4 ยุค คือ –
1 กฤดายุค แปลว่า “ยุคทำเสร็จแล้ว” ศีลธรรมมีเต็มเปี่ยม (เทียบหน้าลูกเต๋ามีสี่แต้ม) มนุษย์มีแต่ความสุข ไม่ต้องลำบาก เพราะทุกอย่าง “ทำเสร็จแล้ว”
2 ไตรดายุค แปลว่า “ยุคมีสาม” ศีลธรรมพร่องไปส่วนหนึ่ง ยังมีอยู่สามส่วน (เทียบหน้าลูกเต๋ามีสามแต้ม) มนุษย์รู้จักทุกข์บ้าง แต่สุขมากกว่า
3 ทวาบรยุค แปลว่า “ยุคเหลืออีกสอง” ศีลธรรมเสื่อมไปครึ่งหนึ่ง (เทียบหน้าลูกเต๋ามีสองแต้ม) สุขกับทุกข์พอๆ กัน
4 กลียุค แปลว่า “ยุคชั่วร้าย” ศีลธรรมเหลือเพียงส่วนเดียว (เทียบหน้าลูกเต๋ามีแต้มเดียว) มนุษย์มีแต่ทุกข์ยากเดือดร้อน สุขบ้างก็น้อยเต็มที
“ทุรยุค” น่าจะมีลักษณะใกล้เคียงกับ “กลียุค”
เท่าที่รู้สึกและเข้าใจกันในภาษาไทย “กลียุค” มีความหมายว่า ยุคสมัยแห่งความเดือดร้อน วุ่นวาย ผู้คนเบียดเบียนล้างผลาญกันอย่างไม่เลือกหน้า ความชั่วที่เหลือเชื่อของมนุษย์ จะได้เห็นกันในยุคนี้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “กลียุค” ไว้ดังนี้ –
“กลียุค : (คำนาม) ชื่อยุคที่ ๔ ของจตุรยุคตามคติของพราหมณ์ ในยุคนี้ธรรมะของมนุษย์ลดลงเหลือเพียง ๑ ใน ๔ ส่วน เมื่อเทียบกับในสมัยกฤดายุค และอายุของมนุษย์ก็สั้นลงโดยไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน (ดู จตุรยุค), ช่วงเวลาที่มีแต่ความรุนแรงเลวร้ายเกิดขึ้น . (ป., ส. กลิยุค).”
…………..
แถม :
นักขบธรรมะแสดงความเห็นว่า เมื่อมี “จตุรยุค” ได้ เราก็ควรใช้ “จตุราริยสัจ” เป็นกระบวนการกำจัดทุรยุคได้ด้วย
“จตุราริยสัจ” ประกอบด้วย –
(1) ทุกข์ เช่นเกิด แก่ ตาย หรือ “ปัญหา” ทั้งปวง
(2) สมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด คือตัณหา
(3) นิโรธ ความดับทุกข์
(4) มรรค หนทางดำเนินให้ถึงความดับทุกข์
ตัวการใหญ่คือ “สมุทัย” ขั้นตอนการจัดการคือ –
(1) กำหนดรู้ให้แน่ชัดว่า สิ่งนั้นแน่ๆ ที่เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด ไม่ใช่สิ่งอื่น
(2) ลดเลิกละสาเหตุนั้นๆ ให้ได้ จนถึงกำจัดปัดเป่าออกไปเสียได้
(3) สำรวจตรวจสอบว่า ได้กำจัดปัดเป่าสาเหตุแห่งทุกข์ออกไปสำเร็จแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ทำหรือยังทำไม่สำเร็จ ก็จงทำต่อไปโดยดำเนินตาม “มรรค”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ารู้จักใช้วัดเป็นแหล่งกำจัดเหตุแห่งทุกข์
: ก็จะไม่มีทุรยุคอยู่ในหัวใจ
#บาลีวันละคำ (3,487)
29-12-64
…………………………….