ห้องสมุดในฝัน
ห้องสมุดในฝัน
—————
ในบรรดาหนังสือที่แพงที่สุด แต่มีคนอ่านน้อยที่สุดเห็นจะไม่มีหนังสืออะไรเกิน “วิทยานิพนธ์”
วิทยานิพนธ์เป็นงานเขียนที่ลงทุนมากที่สุด ใช้เงินมาก ใช้เวลามาก ใช้สติปัญญามาก เหน็ดเหนื่อยมาก แต่เมื่อสำเร็จแล้วมีคนได้ประโยชน์น้อยที่สุด
ที่แน่ๆ คนเขียนวิทยานิพนธ์คนเดียวได้ประโยชน์ คือได้ปริญญา คนอื่นๆ แทบไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วย
วิทยานิพนธ์นั้นเมื่อได้รับอนุมัติแล้วก็เก็บเข้าตู้ แทบไม่มีใครได้อ่านอีกต่อไป-คล้ายๆ กับพระไตรปิฎก สร้างถวายวัดแล้ววัดก็เก็บเข้าตู้
วิทยานิพนธ์เป็นหนังสือที่คุณค่า ควรแก่การอ่านมากที่สุด ผู้บริหารบ้านเมืองควรหาวิธีสนับสนุน ส่งเสริม จูงใจให้ประชาชนในบ้านเมืองของตนมีใจรักที่จะอ่านวิทยานิพนธ์กันให้มากๆ
ผมมีวิธีที่จะขอนำเสนอ ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับพระไตรปิฎก วิทยานิพนธ์ในสาขาอื่นๆ ก็น่าจะใช้วิธีเดียวกันได้
……………………..
นับตั้งแต่ระบบการศึกษาของเรากำหนดให้ผู้จบปริญญาต้องทำ “วิทยานิพนธ์” จนถึง ณ วันนี้ ผมเชื่อว่าได้มีผู้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับพระไตรปิฎกมาแล้วเป็นอันมาก
“วิทยานิพนธ์เกี่ยวกับพระไตรปิฎก” หมายความว่า ยกพระสูตรนั้นพระสูตรนี้ หรือแง่มุมนั่นนี่โน่นอันมีอยู่ในพระไตรปิฎกขึ้นมาศึกษา วิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ เขียนออกมาเป็นวิทยานิพนธ์ รวมถึงที่เรียกว่างานวิจัย ทั้งหลายทั้งปวง เพื่อให้จบการศึกษา ได้รับปริญญา
ถ้าสมมุติว่าพระไตรปิฎกเป็นเป้าปืน
งานศึกษาเพื่อทำวิทยานิพนธ์และงานวิจัยเป็นกระสุนปืน
พระไตรปิฎกก็ถูกยิงจนพรุนไปหมดแล้ว
วิทยานิพนธ์และงานวิจัยดังกล่าวนี้รวมกันแล้วเป็นผลงานมากมายมหึมา เป็นขุมทรัพย์อันล้ำค่า ควรแก่การเสพซึมซับรับเข้าไว้เป็นองค์ความรู้แห่งมวลมนุษย์พุทธศาสนิกชน
เมื่อสรุปภาพออกมาได้ดังนี้แล้ว ความคิดของผมก็คือ ทำอย่างไรจึงจะเอาวิทยานิพนธ์และงานวิจัยดังกล่าวนั้นมารวมไว้ที่เดียวกัน-อย่างที่เรียกว่า-ห้องสมุดวิทยานิพนธ์
แต่ด้วยความทันสมัยไฮเทค ห้องสมุดวิทยานิพนธ์ที่ว่านี้จัดทำเป็นห้องสมุดไฮเทค คือเอาเล่มกระดาษมาแปรสภาพให้เป็นไฟล์ มีทั้งไฟล์ PDF และ E book ครบถ้วน
และเป็นห้องสมุดเสรี หมายความว่า ใครอยากอ่านวิทยานิพนธ์และงานวิจัยเรื่องอะไร คลิกเข้าไป สามารถเลือกอ่านได้ทันที จะดาวน์โหลดเก็บเอาไปอ่านก็ได้ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องลงทะเบียน ไม่ต้องใส่รหัสผ่านอะไรให้ยุ่งยาก ขั้นตอนแสนง่าย สะดวกสบายเหมาะแก่คนแก่ที่มักจะงุ่มง่ามตามไม่ทัน-เช่นทองย้อยนี่เป็นต้น
วิธีจัดทำห้องสมุดวิทยานิพนธ์ตามที่ผมฝันนี้ก็คือ
๑ จัดคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่ง มีหน้าที่ตระเวนเก็บวิทยานิพนธ์และงานวิจัยตามที่กล่าวข้างต้นซึ่งมีอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ของเรา เก็บรวบรวมมาให้ครบถ้วน
๒ ตามข้อ ๑ หมายความว่า สถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องยินยอมพร้อมใจให้เอาวิทยานิพนธ์และงานวิจัยนั้นๆ ไปดำเนินการต่อไปได้ตามที่ต้องการโดยไม่เรียกร้องค่าลิขสิทธิ์ใดๆ
๓ จัดคณะทำงานขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง มีหน้าที่แปรสภาพวิทยานิพนธ์และงานวิจัยที่เป็นเล่มกระดาษให้เป็นไฟล์ PDF และ E book
๔ เมื่อพร้อมแล้วก็เอาผลงานตามข้อ ๓ ขึ้นเว็บไซต์ เรียกให้เป็นภาพว่า-เปิดห้องสมุด แห่งเดียว ที่เดียว คลิกเดียว รวมไว้ทั้งหมด
ไม่เอาแบบ-
อยากได้เล่มนี้ต้องคลิกไปที่ห้องสมุดโน้น
อยากได้เล่มโน้นต้องคลิกไปที่ห้องสมุดนั้น
อยากได้เล่มนั้นต้องคลิกไปที่ห้องสมุดนี้
เอาแบบ-คลิกเดียว รวมวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับพระไตรปิฎก+พระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในโลกไว้ทั้งหมดในที่เดียวกัน
๕ เมื่อพร้อมแล้วก็ป่าวประกาศให้ปวงชนคลิกเข้าไปอ่านหรือเข้าไปดาวน์โหลดตามต้องการ
๖ กิจทั้งปวงตามที่กล่าวนี้ทุกขั้นตอนปลอดจากการพาณิชย์หรือธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น ทำเป็นการกุศลบริสุทธิ์ คณะทำงานที่กล่าวถึงนั้นทำงานโดยไม่รับค่าตอบแทน แต่ถ้าใคร หน่วยงานหรือองค์กรไหน มีปัญญา มีกำลัง มีความสามารถ และมีจิตเป็นกุศล จะออกค่าใช้จ่ายในขั้นตอนใดๆ ให้ ก็ยิ่งประเสริฐเลิศล้ำ
……………………..
ผมอยากให้มีใครสักคนที่ได้อ่านมาถึงตรงนี้หัวเราะออกมาดังๆ แล้วตะโกนบอกผมว่า
………………………………….
ไอ้ที่ลุงพล่าม-เอ๊ย-พร่ำพรรณนามานั่นน่ะ เขาทำเสร็จมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว ลุงไปหลับอยู่ที่ไหนมาาาาาา
ลุงมาทางนี้ ตามผมมา เดี๋ยวจะพาไปชม
ลุงอ่านอีบุ๊กเป็นหรือเปล่าล่ะ ดาวน์โหลดล่ะทำเป็นมั้ย ถ้าไม่เป็นเดี๋ยวผมสอนให้ ดูท่าทางลุงก็ฉลาดๆ อยู่นะ อิอิ เรื่องกล้วยๆ
เอ้า ถึงแล้ว นั่งลง ไอ้นี่เขาเรียกเมาส์ จับยังงี้นะ เห็นลูกศรมั้ย ลุงลากไปตรงนี้นะ … เจอแล้วใช่ไหมละ ถูกใจละสิ ลุงนั่งเลือกวิทยานิพนธ์ในฝันของลุงให้หนำใจเลย อยากได้เล่มไหน โหลดเอาไปเลย
ว่าแต่ว่าลุงจะอยู่จนถึงอ่านได้จบทุกเล่มรึ ผมว่าแค่อ่านรายชื่อให้ครบลุงก็จะตาย-เอ๊ย-ก็จะไปเสียก่อนนะนา ฮ่า ฮ่า ฮ่า
มีความสุขกับการศึกษาวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับพระไตรปิฎกและพระพุทธศาสนานะครับลุง
ห้องสมุดเปิด ๒๔ ต้องการอะไรกดกริ่ง ผมอยู่แถวๆ นี้
………………………………….
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๔
๑๕:๐๐
………………………………………
ห้องสมุดในฝัน