เฉโก (บาลีวันละคำ 310)
เฉโก
“เฉโก” คำตั้ง (คำเดิมก่อนแจกวิภัตติ) คือ “เฉก” (เฉ-กะ) เป็นคำคุณศัพท์ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ตัด” = ตัดความขัดข้องให้ลุล่วงไปได้ มีความหมายว่า ฉลาด, เฉียบแหลม, สุขุม, สันทัด, มีฝีมือ, มีประสบการณ์, มีทักษะ
“เฉก” แจกวิภัตติปุงลิงค์เอกพจน์เป็น “เฉโก” พบในคัมภีร์มากกว่ารูปอื่น น่าจะเป็นเหตุให้เป็นคำพูดติดปาก ในภาษาไทยจึงใช้เป็น “เฉโก” แต่ความหมายเคลื่อนที่ไป กลายเป็นว่า ฉลาดแกมโกง, ไม่ตรงไปตรงมา
ฉลาดแบบ “เฉโก” ตามความหมายเดิม เน้นความฉลาดในเชิงปฏิบัติการ คือสามารถแก้ปัญหาให้งานสำเร็จบรรลุเป้าหมายด้วยวิธีการที่ชาญฉลาด โดยอาจใช้วิธีการทุกรูปแบบเพื่อให้ภารกิจบรรลุเป้าหมายเป็นสำคัญ
วิธีการบางอย่างของ “เฉโก” จึงอาจถูกมองว่าไม่ตรงไปตรงมา หรือฉลาดแกมโกง แต่ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะความหมายอีกอย่างหนึ่งของ “เฉโก” คือ “แท้, แท้จริง, จริงๆ” (genuine) ซึ่งตรงกันข้ามกับความเท็จ, ความหลอกลวง
ในภาษาไทย “เฉโก” มักถูกผวนเป็น “โฉเก” จนเข้าใจผิดว่า “โฉเก” เป็นคำเดิม แม้ พจน.42 ก็ยังบอกว่า เฉโก ก็ว่า โฉเก ก็ว่า
นิยามที่ถูกต้อง : เฉโก = แก้ปัญหาสำเร็จอย่างเหนือชั้น แต่ไม่ทุจริต
บาลีวันละคำ (310)
17-3-56
เฉก = ผู้ฉลาด, ผู้มีฝีมือ, ผู้มีประสบการณ์ (ศัพท์วิเคราะห์)
ฉิทตีติ เฉโก ผู้แตกฉาน
ฉิทิ ธาตุ ในความหมายว่าแตก, แบ่ง อ ปัจจัย อิ เป็น เอ แปลง ท เป็น ก
เฉก (บาลี-อังกฤษ)
ฉลาด, เฉียบแหลม, สุขุม, สันทัด
แท้. จริง genuine (ตรงข้าม กูฏ = แร้ว, หลุมพรางหรือกับดัก, ความเท็จ, ความหลอกลวง)
genuine แท้, แท้จริง, จริงๆ (สอ เสถบุตร)
adj.genuinely
adv.genuineness
เฉกตา (บาลี-อังกฤษ)
ความสันทัด, ทักษะ
เฉโก
ว. ฉลาดแกมโกง, ไม่ตรงไปตรงมา, โฉเก ก็ว่า. (ป. เฉโก ว่า ฉลาด).
โฉเก
ว. ฉลาดแกมโกง, ไม่ตรงไปตรงมา, เฉโก ก็ว่า.
เฉก
ว. เช่น, เหมือน