บาลีวันละคำ

ทวาร (บาลีวันละคำ 311)

ทวาร

เขียนแบบไทย อ่านว่า ทะ-วาน

เขียนแบบบาลี “ทฺวาร” (มีจุดใต้ ท) อ่านว่า ทวา-ระ (ท ว ควบ ออกเสียงเหมือน ทัว-อา)

คำแปล “ทฺวาร” ที่เราทราบกันดีคือ “ประตู

ทฺวาร” คำหลักคือ ทฺวิ = ทฺวา = สอง แปลตามศัพท์ว่า –

1 “ช่องเป็นที่คนสองคนเข้าออก” = เข้าคน ออกคน

2 “ช่องที่เป็นไปแห่งบานสองบาน” = เล็งถึงลักษณะประตูที่มีสองบาน

3 “ช่องที่มีกิจสองอย่าง คือเข้าและออก

4 “ช่องเป็นเครื่องระวังรักษา” = ใช้เป็นที่ตรวจตราเมื่อเข้าออก (เฉพาะคำแปลนี้คำหลักคือ ทฺวร (ธาตุ) = ระวังรักษา)

แต่เพราะ “ทฺวารประตู” มุ่งหมายถึงช่องสำหรับเข้าหรือออก ดังนั้น “ทวาร” จึงมีความหมายโดยนัยด้วย คือหมายถึง ช่อง, ช่องทาง, ช่องตามร่างกาย, ทางรับรู้อารมณ์ (เช่น จักขุทวาร = รับรู้ทางตา), ทางทำกรรม (เช่น กายทวาร = ใช้ร่างกายทำ)

ข้อคิด:

บางประตู เข้าออกมากคน ยิ่งดี

บางประตู เข้าออกมากคน ไม่ดี

บางประตู เข้าบ่อยๆ ดี

บางประตู อย่าเข้าไปเลยดีกว่า

บาลีวันละคำ (311)

18-3-56

ข้อคิด

ก่อนเข้า ก่อนออก คิดให้รอบคอบ เพราะบางช่อง เข้าหรือออกได้ครั้งเดียว

ทฺวาร (ศัพท์วิเคราะห์)

-เทฺว อรนฺติ เอตฺถาติ ทฺวารํ ช่องเป็นที่คนสองคนเข้าออก คือเข้าคนออกคน

ทฺวิ บทหน้า อร ธาตุ ในความหมายว่าไป อ ปัจจัย ลบ อิ ทีฆะ อ เป็น อา

-เทฺว กวาฏา อรนฺติ เอตฺถาติ ทฺวารํ ช่องเป็นที่เป็นไปแห่งบานสองบาน

ทฺวิ บทหน้า อร ธาตุ ในความหมายว่าเป็นไป อ ปัจจัย ลบ อิ ทีฆะ อ เป็น อา

-ปวิสนํ นิกฺขมนญฺจาติ เทฺว กิจฺจานิ เอตฺถาติ ทฺวารํ ช่องเป็นที่มีกิจสองอย่าง คือเข้าและออก

ทฺวิ บทหน้า อร ปัจจัย ลบ อิ ทีฆะ อ เป็น อา

-ทฺวารนฺติ สํวรนฺติ รกฺขนฺติ เอเตนาติ ทฺวารํ ช่องเป็นเครื่องระวังรักษา

ทฺวร ธาตุ ในความหมายว่าระวังรักษา ณ ปัจจัย ทีฆะ อ เป็น อา

ทฺวาร (บาลี-อังกฤษ)

ประตูนอก, ประตู, ทางเข้าออก

ทางเข้าและทางออกของ (จิตใจ ฯลฯ)

ทฺวาร นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ทวาร, ประตู, ช่อง, ช่องทาง, ทางเข้าออก.

ทวาร (ประมวลศัพท์)

ประตู, ทาง, ช่องตามร่างกาย

1. ทางรับรู้อารมณ์ มี ๖ คือ

        ๑. จักขุทวาร ทางตา

        ๒. โสตทวาร ทางหู

        ๓. ฆานทวาร ทางจมูก

        ๔. ชิวหาทวาร ทางลิ้น

        ๕. กายทวาร ทางกาย

        ๖. มโนทวาร ทางใจ

2. ทางทำกรรม

        ๑. กายทวาร ทางกาย

        ๒. วจีทวาร ทางวาจา

        ๓. มโนทวาร ทางใจ

ทวาร, ทวาร-

 [ทะวาน, ทะวาระ-] น. ประตู เช่น นายทวาร; ช่อง ในคํา เช่น ทวารหนัก ทวารเบา ใช้เป็นคําสุภาพ หมายถึง รูขี้ รูเยี่ยว, ทาง เช่น กายทวาร. (ป., ส.).

ทวารทั้งเก้า

น. ช่องตามร่างกายทั้ง ๙ ช่อง ได้แก่ ตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ปาก ๑ ทวารหนัก ๑ ทวารเบา ๑.

ทวารบถ

 [ทะวาระบด] น. ทางเข้าออก เช่น อันกําแพงเชิงเทินป้อมปราการที่ล้อมกรุง รวมทั้งทวารบถทางเข้านครเล่า. (กามนิต).

ทวารบาล

 [ทะวาระบาน] น. ผู้เฝ้าประตู, นายประตู. (ป.).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย