บาลีวันละคำ

อุณหภูมิ (บาลีวันละคำ 309)

อุณหภูมิ

(บาลีไทย)

อุณหภูมิ” เป็นคำบาลีที่ไทยเราคิดขึ้นใช้ในความหมายว่า “ระดับความสูงต่ำของความร้อน” เมื่อพูดถึงสภาพดินฟ้าอากาศ หรือพูดถึงความร้อนที่ใช้ในการบางอย่าง

อุณหภูมิ” ประกอบด้วยคำว่า อุณฺห + ภูมิ = อุณหภูมิ

อุณฺห” บาลีอ่านว่า อุน-หะ (บางทีเสียงอาจเกลื่อนกลืนเป็น อุน-หฺนะ) แปลว่า ร้อน, ความร้อน

ภูมิ” บาลีอ่านว่า พู-มิ มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภฺมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ, สถานะของความรู้สึกตัว

ในที่นี้ความหมายที่ตรงกับความต้องการในภาษาไทยคือ “ระดับ

อุณฺหภูมิ” ภาษาไทยอ่านว่า อุน-หะ-พูม แปลตามศัพท์ว่า “ระดับของความร้อน

อุณฺห” และ “ภูมิ” มีใช้ในภาษาบาลี แต่ที่รวมเป็นศัพท์เดียวกันว่า “อุณฺหภูมิ” ไม่มีใช้ในคัมภีร์บาลี เพราะเป็นคำที่เราคิดขึ้นแปลภาษาอังกฤษว่า temperature

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล temperature เป็นภาษาบาลีว่า “เตโชปมาณ” (เต-โช-ปะ-มา-นะ) อ่านแบบไทยได้ว่า เต-โช-ปะ-มาน เลียนเสียง tem = เต และ ture = โช ได้ค่อนข้างแนบเนียนกว่า “อุณหภูมิ” ของไทยเรา ที่ทั้งรูปทั้งเสียงห่างคำเดิมไปไกล

: รักษาระดับ temperature -อุณหภูมิ-เตโชปมาณ ในหัวใจให้ดีๆ แล้วชีวีจะเป็นสุข

บาลีวันละคำ (309)

16-3-56

ภูมิ (บาลี-อังกฤษ)

พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน

สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภฺมิภาค

พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ, สถานะของความรู้สึกตัว

อุณฺห (บาลี-อังกฤษ)

ร้อน, ความร้อน

อุณฺห (ศัพท์วิเคราะห์)

อุสติ ทหตีติ อุณฺหํ ฤดูที่แผดเผา

อุสุ ธาตุ ในความหมายว่าเผาไหม้ ณฺห ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ

ภูมิ อิต.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

แผ่นดิน, พื้น, ชั้น.

temperature เตโชปมาณ (พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี)

ปมาณ (บาลี-อังกฤษ)

– เครื่องวัด, ขนาด, จำนวน

– เครื่องวัดเวลา, เข็มทิศ, ความยาว, ระยะเวลา

– อายุ

– ขอบเขต

– มาตรฐาน, บทนิยาม, คำบรรยายลักษณะ, มิติ

– มีลักษณะ, มีลักษณะ, ประกอบด้วยลักษณะ, วัดได้ หรือวัดโดย, ถือเป็นมาตรฐาน

อุณหภูมิ

 [อุนหะพูม] น. ระดับความสูงต่ำของความร้อน นิยมวัดได้ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า เทอร์โมมิเตอร์

อุณห-, อุณหะ

 [อุนหะ-] ว. ร้อน, อบอุ่น. (ป.; ส. อุษฺณ).

ภูมิ ๑, ภูมิ-

 [พูม, พูมิ-, พูมมิ-] น. แผ่นดิน, ที่ดิน.

ภูมิ ๒

 [พูม] น. พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้ เช่น อวดภูมิ อมภูมิ.

ภูมิ ๓

 [พูม] ว. สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย, เช่น วางภูมิ.

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย