บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๖)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๖)

————————————–

คำบูชาพระ (ต่อ)

…………………………….

อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง ปูเชมิ.

อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง ปูเชมิ.

อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง ปูเชมิ.

…………………………….

แปล:

อหํ อันว่าข้าพเจ้า 

ปูเชมิ ย่อมบูชา

พุทฺธํ ซึ่งพระพุทธเจ้า

สกฺกาเรน ด้วยเครื่องสักการะ

อิมินา นี้

อิมินา สกฺกาเรน พุทฺธํ ปูเชมิ.

ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเครื่องสักการะนี้

อหํ อันว่าข้าพเจ้า 

ปูเชมิ ย่อมบูชา

ธมฺมํ ซึ่งพระธรรม

สกฺกาเรน ด้วยเครื่องสักการะ

อิมินา นี้

อิมินา สกฺกาเรน ธมฺมํ ปูเชมิ.

ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรมด้วยเครื่องสักการะนี้

อหํ อันว่าข้าพเจ้า 

ปูเชมิ ย่อมบูชา

สงฺฆํ ซึ่งพระสงฆ์

สกฺกาเรน ด้วยเครื่องสักการะ

อิมินา นี้

อิมินา สกฺกาเรน สงฺฆํ ปูเชมิ.

ข้าพเจ้าขอบูชาพระสงฆ์ด้วยเครื่องสักการะนี้

……………..

ตรงนี้มีเกร็ด 

(เกร็ด: ส่วนย่อยหรือส่วนเบ็ดเตล็ด

ไม่ใช่ เกล็ด: ส่วนที่เป็นแผ่น ๆ ซ้อนเหลื่อมกันห่อหุ้มตัวปลาและสัตว์เลื้อยคลานบางชนิด)

ปกติเวลาบูชาพระก็ต้องมีเครื่องสักการบูชา เครื่องบูชาที่ถือเป็นมาตรฐานคือดอกไม้ธูปเทียน

ถ้าเราไม่มีเครื่องสักการบูชาใดๆ เลย มีแต่มือเปล่าๆ เราจะบูชาพระได้หรือไม่ และเราจะพูดว่า “ข้าพเจ้าขอบูชาพระ…ด้วยเครื่องสักการะนี้” ได้หรือไม่ จะถือว่าเป็นการพูดไม่จริงหรือไม่ เพราะเราไม่มีเครื่องสักการบูชาใดๆ เลย

คนเก่าท่านคงคิดถึงเรื่องนี้มาแล้ว จึงมีคำพูดว่า “มือข้าสิบนิ้ว ยกขึ้นหว่างคิ้ว ต่างธูปเทียนทอง ….” (มีต่อไปอีก)

จึงเป็นอันได้คำตอบอยู่ในคำของคนเก่าว่า แม้ไม่มีเครื่องสักการบูชาใดๆ มีแต่มือสิบนิ้วยกขึ้นประนม ก็อนุโลมเป็นเครื่องสักการบูชาได้

มองในแง่นี้ อาจคิดต่อไปได้อีกว่า การที่ยกมือประนมเวลาไหว้พระ ตลอดจนกิริยาที่กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ก็น่าจะมีมูลมาแต่การตั้งเจตนาถวายมือสิบนิ้วเป็นเครื่องสักการบูชานั่นเอง แล้วก็เลยใช้การประนมมือเป็นการแสดงความเคารพกันระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่และระหว่างคนทั่วไป จนกลายเป็นวัฒนธรรมของหลายชาติในเอเชีย

……………..

คำบูชาพระยังมีต่อไปอีกตอนหนึ่งดังนี้ –

…………………………….

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ. (กราบ)

ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมัง นะมัสสามิ. (กราบ)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ. (กราบ)

…………………………….

คำบูชาพระตอนหลังนี้มีเนื้อหา ๒ ส่วน ท่อนแรกเป็นคำแสดงถึงภาวะของพระรัตนตรัย ท่อนหลังเป็นคำแสดงความเคารพ

……………..

พระพุทธ

ท่อนแรก: อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา 

เขียนแบบบาลี: อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา 

ภควา อันว่าพระผู้มีพระภาค

อรหํ เป็นพระอรหันต์ไกลจากกิเลสสิ้นเชิง

สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง (แนวทางวิธีการที่จะปฏิบัติให้เป็นพระอรหันต์ไกลจากกิเลสสิ้นเชิง ที่เรียกว่าตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ไม่มีใครบอกกล่าวแนะนำสั่งสอน พระองค์ทรงคิดค้นจนพบและปฏิบัติสำเร็จด้วยพระองค์เอง)

อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา

พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันต์ไกลจากกิเลสสิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง 

ข้อความท่อนนี้เป็นคำแสดงภาวะของพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ไกลจากกิเลสสิ้นเชิง ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

……………..

ท่อนหลัง: พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ.

เขียนแบบบาลี: พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ.

อหํ อันว่าข้าพเจ้า 

อภิวาเทมิ ย่อมอภิวาท

ภควนฺตํ ซึ่งพระผู้มีพระภาค

พุทฺธํ ผู้ตรัสรู้แล้ว

พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ.

ข้าพเจ้าขออภิวาทพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสรู้แล้ว

ข้อความท่อนนี้เป็นคำแสดงความเคารพ

……………..

พระธรรม

ท่อนแรก: ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม 

เขียนแบบบาลี: สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม

ธมฺโม อันว่าพระธรรม

ภควตา อันพระผู้มีพระภาค

สฺวากฺขาโต ตรัสไว้ดีแล้ว

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม

พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว

ข้อความท่อนนี้เป็นคำแสดงภาวะของพระธรรมว่าเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ไม่ใช่ตรัสไว้ผิดหรือตรัสไว้บกพร่อง

……………..

ท่อนหลัง: ธัมมัง นะมัสสามิ.

เขียนแบบบาลี: ธมฺมํ นมสฺสามิ.

อหํ อันว่าข้าพเจ้า 

นมสฺสามิ ย่อมนมัสการ

ธมฺมํ ซึ่งพระธรรม

ธมฺมํ นมสฺสามิ.

ข้าพเจ้าขอนมัสการพระธรรม

ข้อความท่อนนี้เป็นคำแสดงความเคารพ

……………..

พระสงฆ์

ท่อนแรก: สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

เขียนแบบบาลี: สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

สาวกสงฺโฆ อันว่าพระสงฆ์สาวก

ภควโต ของพระผู้มีพระภาค

สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว

ข้อความท่อนนี้เป็นคำแสดงภาวะของพระสงฆ์ว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงควรแก่การเคารพบูชา

……………..

ท่อนหลัง: สังฆัง นะมามิ.

เขียนแบบบาลี: สงฺฆํ นมามิ.

อหํ อันว่าข้าพเจ้า 

นมามิ ย่อมนอบน้อม

สงฺฆํ ซึ่งพระสงฆ์

สงฺฆํ นมามิ.

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์

ข้อความท่อนนี้เป็นคำแสดงความเคารพ

……………..

ข้อสังเกต:

ภควา” “ภควนฺตํ” “ภควตา” “ภควโต” รูปคำเดิมเป็นคำเดียวกันคือ “ภควนฺตุ” (ภะคะวันตุ) แปลว่า “พระผู้มีพระภาค

ต้องการแปลว่า “อันว่าพระผู้มีพระภาค” ลงวิภัตติปัจจัยเปลี่ยนรูปเป็น “ภควา

ต้องการแปลว่า “ซึ่งพระผู้มีพระภาค” ลงวิภัตติปัจจัยเปลี่ยนรูปเป็น “ภควนฺตํ

ต้องการแปลว่า “อันพระผู้มีพระภาค” ลงวิภัตติปัจจัยเปลี่ยนรูปเป็น “ภควตา

ต้องการแปลว่า “ของพระผู้มีพระภาค” ลงวิภัตติปัจจัยเปลี่ยนรูปเป็น “ภควโต

……………..

ภควา = อันว่าพระผู้มีพระภาค

ภควนฺตํ = ซึ่งพระผู้มีพระภาค

ภควตา = อันพระผู้มีพระภาค

ภควโต = ของพระผู้มีพระภาค

แต่ละคำลงวิภัตติต่างกัน เพราะต้องการคำแปลที่ต่างกัน

……………..

คำบูชาพระในส่วนเนื้อหาสาระมีเท่านี้ แต่ยังมีข้อพิจารณาเพิ่มเติมบางประการ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในตอนหน้า

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔

๐๙:๓๙

………………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๗)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๕)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *