บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

————————————–

เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ผมคุยกับญาติมิตรท่านหนึ่งซึ่งให้เกียรติเชิญผมไปสนทนาทางวิทยุที่ท่านจัดรายการอยู่

ขออนุญาตประชาสัมพันธ์เสียเลยนะครับ คงไม่ว่ากัน ญาติมิตรท่านนี้เป็นทหารเรือ จัดรายการอยู่ที่ ส.ทร.๕ พัทยา ท่านเชิญผมไปสนทนาในช่วงเวลาที่ตั้งชื่อว่า “เรื่องน่ารู้กับครูทองย้อย” ออกอากาศทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา ๑๙:๓๐ น. เนื้อหาว่าด้วยวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

ระยะที่ผ่านมานี้ท่านผู้จัดรายการขอให้ผมอธิบายองค์ประกอบของศีล ๕ ศีล ๘ แต่ละข้อว่าแค่ไหนอย่างไรจึงจะเรียกว่า “ศีลขาด” 

วันก่อนโน้นผมอธิบายองค์ประกอบของศีลข้อที่ ๗ ในศีล ๘ คือข้อที่ว่า นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนะ … ผมบอกว่าศีลข้อนี้เรามักพูดกันติดปากว่า “นัจจะคี” คือเรียกแบบฉีกคำ 

คำบาลีในศีลข้อนี้แยกเป็นคำๆ ว่า นัจจะ / คีตะ / วาทิตะ / วิสูกะทัสสะนะ

นัจจะ เขียนแบบบาลีเป็น นจฺจ แปลว่า ฟ้อนรำ

คีตะ เขียนแบบบาลีเป็น คีต แปลว่า ขับร้อง

วาทิตะ เขียนแบบบาลีเป็น วาทิต แปลว่า บรรเลงดนตรี

วิสูกะทัสสะนะ เขียนแบบบาลีเป็น วิสูกทสฺสน แปลว่า ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อกุศล

เรามักฉีกเอาคำว่า คี- ใน คีตะ มาพูดรวมกับ นัจจะ เป็น “นัจจะคี” ทั้งนี้เพราะคนส่วนมากไม่รู้คำบาลีประการหนึ่ง หรือแม้รู้ก็พูดติดปากอีกประการหนึ่ง

พอผมแยกศัพท์เป็นคำๆ แบบนี้ ท่านผู้จัดรายการบอกว่า แบบนี้ทำให้เข้าใจคำบาลีได้ง่ายดี 

ผมเกิด “วาบความคิด” ขึ้นมาจากคำที่ท่านบอกว่า-แบบนี้ทำให้เข้าใจคำบาลีได้ง่ายดี 

คือเกิดความคิดว่า ถ้าเอาภาษาบาลีที่เรามักจะ “สวด” หรือ “ว่า” กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น –

นะโม ตัสสะ … (ในคำสวดมนต์)

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ … (ในคำรับศีล)

อิมินา สักกาเรนะ … (ในคำบูชาพระ)

มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง … (ในคำอาราธนาศีล)

อิมานิ มะยัง ภันเต … (ในคำถวายสังฆทาน)

ฯลฯ 

ฯลฯ

ถ้ายกเอาคำบาลีเหล่านี้มาแปลและอธิบายอย่างง่ายๆ พอให้รู้คำแปล รู้หลักภาษาแบบพื้นๆ ไม่ต้องซับซ้อน รู้เฉพาะที่จะเอาไปใช้ ก็น่าจะช่วยให้คนทั้งหลายรู้และเข้าใจภาษาบาลีที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น อย่างน้อยก็รู้ว่าคำบาลีที่ตน “สวด” หรือ “ว่า” อยู่บ่อยๆ นั้นแปลว่าอะไรและทำไมจึงแปลอย่างนั้น 

ผมนึกไปถึงคำที่มักมีผู้ท้วงว่า พระสวดเป็นภาษาบาลีฟังไม่รู้เรื่อง … ก็เลยหวนนึกว่า ก็แล้วที่เรา “สวด” หรือ “ว่า” คำบาลีพวกนั้นเล่า ตัวเราผู้สวดผู้ว่ารู้เรื่องแล้วหรือ 

นะโม ตัสสะ … เราสวดเองแท้ๆ อยู่บ่อยๆ เรารู้แล้วหรือว่า นะโม ตัสสะ แปลว่าอะไร 

ถ้ายกเอาคำบาลีในชีวิตประจำวันแบบนี้มาสอนแบบง่ายๆ ผู้คนอาจจะรู้บาลีกันง่ายขึ้น เพราะเป็นการเรียนรู้แบบใช้งานได้จริง

ไม่ต้องรู้เพื่อสอบได้

แต่รู้เท่าที่จะเอาไปใช้งานได้

ผมจะเขียนแนะนำคำบาลีตามแนวที่ว่านี้นะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๓:๐๓

………………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *