บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความรู้เรื่องการขบฉัน (๐๑)

ความรู้เรื่องการขบฉัน (๐๓)

ความรู้เรื่องการขบฉัน (๐๓)

———————-

รู้ประมาณในการรับ

…………

มีสิกขาบทบัญญัติไว้ว่า –

ภิกฺขุํ  ปเนว  กุลํ  อุปคตํ  ปูเวหิ  วา  มนฺเถหิ  วา  อภิหฏฺฐุํ  ปวาเรยฺย.  อากงฺขมาเนน  ภิกฺขุนา  ทฺวิตฺติปตฺตปูรา  ปฏิคฺคเหตพฺพา.  ตโต  เจ  อุตฺตรึ  ปฏิคฺคเณฺหยฺย  ปาจิตฺติยํ.  ทฺวิตฺติปตฺตปูเร  ปฏิคฺคเหตฺวา  ตโต  นีหริตฺวา  ภิกฺขูหิ  สทฺธึ  สํวิภชิตพฺพํ  อยํ  ตตฺถ  สามีจีติ. 

อนึ่ง เขาปวารณาเฉพาะภิกษุผู้เข้าไปสู่ตระกูล ด้วยขนมก็ดี ด้วยสัตตุผงก็ดี เพื่อนำไปได้ตามปรารถนา ภิกษุผู้ต้องการพึงรับได้เต็ม ๒-๓ บาตร ถ้ารับยิ่งกว่านั้นเป็นปาจิตตีย์ ครั้นรับเต็ม ๒-๓ บาตรแล้วนำออกจากที่นั้นแล้วพึงแบ่งปันกับภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น.

(วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๔๙๕)

หมายความว่า ภิกษุจะรับอาหารได้พอเสมอขอบปากบาตรซึ่งเป็นปริมาณที่พอแก่การฉันสำหรับวันนั้นเท่านั้น และหากมีผู้ถวายมากกว่านี้จะรับได้ไม่เกิน ๓ บาตร หมายถึงว่ารับเต็มแล้วเทออกแล้วรับอีกได้รวม ๓ บาตร 

อาหารที่รับมาด้วยอาการเช่นนี้ท่านให้นำไปสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรอื่นๆ ไม่ใช่หวงไว้ฉันลำพังตนผู้เดียว

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้ก็คือ ให้แสวงหาอาหารแต่พอสมควร คือ พอให้ฉันอิ่มในวันนั้น อย่างที่พูดกันว่า-ก็แค่อิ่มเดียว ไม่มักมากอยากได้เกินความจำเป็น

——————

สิกขาบทข้อนี้มีผู้สงสัยว่า กรณีตักบาตรเทโวโรหณะหรือกรณีนิมนต์พระไปรับบิณฑบาตในกิจกรรมบางอย่าง และคนใส่บาตรกันล้นเหลือ ต้องถ่ายกันเป็นกระสอบๆ มากกว่า ๓ บาตรไปถึงไหนๆ จะว่าอย่างไรกัน

เรื่องนี้เคยได้ยินพระเถระรูปหนึ่งบอกว่า กรณีดังว่านั้นต้องถือเป็นกรณีพิเศษเพราะเป็นการบิณฑบาตในโอกาสพิเศษ ไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกวัน 

ถ้าเกิดจะเคร่งวินัยขึ้นมาจริงๆ ก็อย่ารับนิมนต์ไปบิณฑบาตแบบนั้น หมดปัญหาสำหรับตัวเองทันที แต่จะไปสร้างปัญหาให้เจ้าภาพอย่างไรหรือไม่ ก็ไปว่ากันเอง 

กรณีตักบาตรเทโวก็เหมือนกัน ถ้าเกิดจะเคร่งวินัยขึ้นมาจริงๆ ก็อาจทำได้หลายวิธี เช่น –

๑ ไปบริหารจัดการกับประชาชนที่ศรัทธาวัดนั้นๆ กันเองว่า พระเท่านี้ ควรเอาของมาตักบาตรเท่าไรจึงถ่ายบาตรไม่เกิน ๓ บาตรแล้วของหมดพอดี

๒ กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นใหม่ กล่าวคือ พอรับครบ ๓ บาตรทุกรูปแล้วก็หยุดรับหยุดใส่ ถ้ามีของเหลือก็บริหารจัดกันไปว่าจะให้เอาไปทำอะไร

๓ ประกาศเลิกประเพณีตักบาตรเทโวไปเลย เพราะทำให้พระผิดวินัย หมดปัญหาทางวินัย แต่ไปเกิดปัญหาทางวัฒนธรรมประเพณี (เขาทำกันมาตั้งแต่ก่อนท่านเกิด ไปเลิกของเขาทำไม)

แค่นี้ก็เห็นได้แล้วว่าหยุมหยิมไม่เข้าเรื่อง อาจมีคนปากจัดย้อนเข้าให้ว่า เคร่งครบ ๒๒๗ หรือเปล่า หรือว่าปิดข้างหน้า เปิดข้างหลัง เรื่องไม่เป็นเรื่องก็จะเกิดเป็นเรื่องขึ้นมาโดยไม่จำเป็น

เป็นอันไม่ต้องถามว่ารับได้หรือไม่ เพราะอย่างไรเสียก็ต้องรับเพื่อฉลองศรัทธา 

แต่ควรถามเลยไปที่-รับแล้วเอาไปทำอะไร ตรงนี้สำคัญกว่า และสำคัญที่สุด 

โดยเฉพาะกรณีมีพระบิณฑบาตแล้วขนกลับวัดอย่างล้นหลามทุกวัน เอาไปทำอะไร ต้องตอบได้อย่างถูกธรรมถูกวินัย

เรื่องนี้เกี่ยวพันไปถึง “กัปปิยกุฏิ” หรือครัวสงฆ์ ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อๆ ไป

—————–

สมัยก่อน วัดต่างๆ มีเด็กวัดมาก ก็มีผู้คิดคำตอบให้พระว่า ที่พระไปบิณฑบาตแล้วขนกลับวัดมากมายนั้นท่านเอาไปเลี้ยงศิษย์วัด 

คำตอบนี้ใครฟังแล้วก็เห็นด้วยและช่วยกันอนุโมทนา

แต่ทุกวันนี้เด็กวัดสูญพันธุ์เกือบหมดแล้ว แม้แต่พระเณรก็ลดน้อยเบาบางลงไปทุกวัด แต่พระไปบิณฑบาตก็ยังขนกลับวัดล้นหลามมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ใครจะคิดคำตอบว่าอย่างไรอีกที่สมเหตุสมผล ถูกธรรมถูกวินัย และที่สำคัญ ไม่ขัดแย้งกับพฤติกรรมที่ทำกันจริงๆ

ถ้าได้รู้ความจริงเกี่ยวกับของที่พระบิณฑบาตได้มาทุกเช้าว่า นอกจากที่ท่านฉันเองอิ่มหนึ่งพอให้มีกำลังสำหรับปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมและทำกิจของสงฆ์ในวันนั้น-ตามแนวการครองชีวิตประเสริฐของบรรพชิตในพระพุทธศาสนาแล้ว ส่วนที่เกินจาก ๓ บาท ท่านเอาไปทำอะไร —

ถ้าได้รู้ความจริง บางทีจะเป็นแรงบันดาลใจอย่างสำคัญให้ท่านที่ชอบทำบุญด้วยวิธีใส่บาตรทุกเช้าได้ใช้เป็นข้อมูลสำหรับกำหนดนโยบายส่วนตัวว่าท่านควรจะทำอย่างไรดีจึงจะเกิดบุญกุศลที่มีผลไพบูลย์ที่สุด 

สมดังคำพระสุคตตรัสไว้ว่า –

วิเจยฺย ทานํ สุคตปฺปสตฺถํ

ตรองรอบแล้วจึ่งให้ 

พระสุคตเจ้าไซร้ ตรัสซ้องสรรเสริญ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐

๑๓:๑๔

หมายเหตุ: ภาพของ Pramaul Daradas 

ตอนต่อไป – ความรู้เรื่องการขบฉัน (๐๔)

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *