บาลีวันละคำ

อุกาสะ-โอกาส (บาลีวันละคำ 642)

อุกาสะ-โอกาส

อ่านว่า อุ-กา-สะ / โอ-กาด

อุกาสะ” เขียนแบบบาลีเป็น “อุกาส” ยังไม่พบคำนี้ในคัมภีร์ แต่ปรากฏในคำที่ผูกขึ้นในชั้นหลัง เช่น คำขอขมา และคำปลงอาบัติของพระสงฆ์เป็นต้น เช่น –

(1) อุกาสะ วันทามิ ภันเต, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต (ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอไหว้, ขอท่านได้โปรดขมาโทษทั้งปวงแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด)

(2) อุกาสะ ปัสสะถะ ภันเต ตา อาปัตติโย (ท่านเห็นว่านั่นเป็นอาบัตินะขอรับ)

คำว่า “อุกาส” แปลตามศัพท์ว่า “ดังข้าพเจ้าขอโอกาส” ทำให้เข้าใจว่าเป็นคำเดียวกับ “โอกาส” นั่นเอง

คำว่า “โอกาส” (บาลีอ่านว่า โอ-กา-สะ) รากศัพท์คือ อว (คำอุปสรรค = ลง) แผลงเป็น โอ + กส (ธาตุ = ไถ) ยืดเสียง ที่ต้นธาตุ เป็น อา + ปัจจัย ลบ

: อว > โอ + กส = โอกส + = โอกาส แปลตามศัพท์ว่า “ช่องเป็นที่ไถลง

อธิบายเป็นภาพว่า ถ้าเอาไถไปไถตรงไหน แล้วไถนั้นไม่ถูกอะไรเลย มีแต่ปักหัวลงท่าเดียว ตรงนั้นแหละเรียกว่า “โอกาส

โอกาส” มีความหมายว่า –

1. ที่ว่าง, ช่องว่าง, ที่โล่งแจ้ง, บรรยากาศ, อวกาศ (visible space as geometrical term, open space, atmosphere, air as space)

2. การมองเห็นได้, รูปร่าง (visibility)

3. วาระ, จังหวะ, การตกลง, ความยินยอม (= อนุญาตให้-) (occasion, chance, opportunity, permission, consent)

ในบาลีมีคำว่า “โอกาสกมฺม” (โอ-กา-สะ-กำ-มะ) แปลว่า การให้โอกาส, การอนุญาต (giving opportunity or permission)

จะเห็นได้ว่า “อุกาส” กับ “โอกาส” (ในข้อ 3) มีความหมายตรงกัน

อย่างไรก็ตาม ในบาลีมีคำกริยา “อุกฺกาสติ” (อุก-กา-สะ-ติ) แปลว่า กระแหร่ม, ไอ, กระแอม (to “ahem”! to cough, to clear one’s throat)

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไขความ “อุกฺกาสติ” ว่า to call attention by slight cough (เรียกร้องความสนใจด้วยการกระแอมเบาๆ) ซึ่งมีความหมายเท่ากับ “ขอโอกาส” เพื่อพูดหรือแสดงสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ดู

อุกฺกาสติ” รูปคำนามเป็น “อุกฺกาส” ได้

อุกาส” อาจมาจาก “อุกฺกาสติ” (คนละคำกับ “โอกาส” ซึ่งรูปคำกริยาเป็น “อวกสฺสติ”) ก็ได้

อุกาสดังข้าพเจ้าขอโอกาส” เป็นคำขึ้นต้นเมื่อจะพูด น่าจะตรงกับคำว่า “ขอประทานโทษ …” หรือ “ขอโทษนะครับ …” แล้วต่อด้วยเรื่องที่ต้องการจะพูด

ภาษาทหารพูดว่า “ขออนุญาตครับ …” เป็นการขอโอกาสต่อผู้อาวุโสกว่าที่จะพูดต่อไป

: บางคนมีโอกาส แต่ขาดความสามารถ

: บางคนมีความสามารถ แต่ขาดโอกาส

๏ โชค โอกาส วาสนา ความสามารถ

มักแคล้วคลาดไม่ประสบพบกันได้

โอกาสมีวาสนาไม่พาไป

สามารถไซร้แต่โฉลกโชคไม่ดี

(จำมาจาก นาวาเอก อ่อน บุญญพันธุ์)

————————

(ไขความตามคำขอของพระคุณท่าน อาทิตฺตเมธี ภิกฺขุ)

17-2-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย