เล่ห์เพทุบาย (บาลีวันละคำ 1,869)
เล่ห์เพทุบาย
ใช้ในทางดีกันบ้างก็ได้
อ่านว่า เล่-เพ-ทุ-บาย
แยกคำเป็น เล่ห์ + เพท + อุบาย
(๑) “เล่ห์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เลห, เล่ห์ : (คำนาม) กลอุบายหรือเงื่อนงําอันอาจทําให้คนอื่นหลงผิด เข้าใจผิด, ใช้ว่า เล่ห์กล ก็มี. (คำวิเศษณ์) คล้าย, เปรียบ, เช่น, เหมือน.”
ข้อสังเกต :
๑ พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “เลห” อ่านอย่างไร เล-หะ หรือ เล่ หรือ เล
๒ พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “เลห” หรือ “เล่ห์” เป็นภาษาอะไร
ในบาลียังไม่พบคำว่า “เลห” ที่มีความหมายตรงกับ “เล่ห์” ในภาษาไทย
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอสันนิษฐานว่า “เลห” หรือ “เล่ห์” แผลงมาจาก “เลส” ในบาลี
“เลส” อ่านว่า เล-สะ รากศัพท์มาจาก ลิสฺ (ธาตุ = ติดอยู่, ข้องอยู่) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ ลิ-(สฺ) เป็น เอ (ลิสฺ > เลส)
: ลิสฺ + ณ = ลิสณ > ลิสฺ > เลส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องที่ติดข้องอยู่” หมายถึง การลวง, ข้ออ้างแก้ตัว, กลอุบาย, การแสร้งทำ (sham, pretext, trick)
จะเห็นได้ว่า “เลส” ในบาลีกับ “เล่ห์” ในภาษาไทยมีความหมายตรงกัน
ในสันสกฤตมีคำว่า “เลศ” ซึ่งตามหลักแล้วควรจะตรงกับ “เลส” ในบาลี แต่ปรากฏว่าความหมายไม่ตรงกับ “เลส” ในที่นี้
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(1) เลศ : (คุณศัพท์) เล็ก, น้อย; small, little.
(2) เลศ : (คำนาม) ความเล็ก, ความน้อย; smallness, littleness.
แต่ “เลส” ในบาลีแปลว่า เล็กน้อย, นิดหน่อย หรือ ส่วนน้อยที่สุด (particle) ก็ได้ด้วยเช่นกัน
“เลส” เป็น “เล่ห์” ได้อย่างไร ?
ตอบได้ด้วยคำเทียบ นั่นคือคำว่า “อุปเทห์” (อุ-ปะ-เท่, อุบ-ปะ-เท่)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุปเท่ห์ : (คำนาม) อุบายดําเนินการ, วิธีดําเนินการ. (ส. อุปเทศ; ป. อุปเทส).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า “อุปเทห์” สันสกฤตเป็น “อุปเทศ” บาลีเป็น “อุปเทส”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“อุปเทศ : (คำนาม) คำแนะนำ, คำบอกหรือชี้แจง; คำสั่ง, คำสั่งสอน; มายา; การเริ่มแนะนำสั่งสอน; การบอกมนตร์หรือสูตรเบื้องต้น; ภาคต้น; advice, information; instruction; pretext or plea; initiation; communication of initiatory mantra or formula; an elementary term.”
“อุปเทส” (อุ-ปะ-เท-สะ) ในบาลี แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เข้าไปหาอาจารย์แล้วแสดง” หมายถึง การชี้แจง, การบ่งชี้, การแนะนำ, การสั่งสอน (pointing out, indication, instruction, advice)
เป็นอันยืนยันได้ว่า “อุปเทศ” “อุปเทส” “อุปเทห์” มีความหมายอย่างเดียวกัน
ถ้า อุปเทส = อุปเท่ห์ ก็คือ : –เทส = –เท่ห์
ดังนั้น : เลส = เล่ห์
(๒) “เพท”
บาลีเป็น “เวท” (เว-ทะ) รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อิ ที่ วิ-(ทฺ) เป็น เอ (วิทฺ > เวท)
: วิทฺ + ณ = วิทณ > วิท > เวท แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องรู้ธรรมหรือการงาน” (คือ ต้องการรู้ธรรมก็ใช้สิ่งนี้ ต้องการรู้วิธีทำการงานก็ใช้สิ่งนี้)
“เวท” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ความรู้สึก (ยินดี), ความรู้สึกศรัทธา, ศรัทธาอย่างแรงกล้า, ความเกรงขาม, จิตตารมณ์, ความตื่นเต้น ([joyful] feeling, religious feeling, enthusiasm, awe, emotion, excitement)
(2) ความรู้, ญาณ, การเปิดเผย, ปัญญา (knowledge, insight, revelation, wisdom)
(3) พระเวท (the Veda)
ในที่นี้แปลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมในภาษาไทย “เวท” จึงเป็น “เพท”
(๓) “อุบาย”
บาลีเป็น “อุปาย” (อุ-ปา-ยะ) รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) แผลง อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อาย + อ ปัจจัย
: อุป + อิ = อุปิ > อุเป > อุปาย + อ = อุปาย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กลวิธีเป็นเหตุให้ถึงความชนะศัตรู” “วิธีเป็นเหตุให้เข้าถึง” “การเข้าใกล้” หมายถึง หนทาง, วิธี, กลวิธี, เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม (way, means, expedient, stratagem)
ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “อุบาย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุบาย : (คำนาม) วิธีการอันแยบคาย; เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม. (ป., ส. อุปาย).”
การประสมคำ :
๑ เพท + อุบาย = เพทุบาย (ถ้าแผลง อุ เป็น โอ รูปคำก็จะเป็น “เพโทบาย”) แปลตามศัพท์ว่า “กลวิธีในการใช้ความรู้” หรือ “การใช้ความรู้เพื่อทำอุบาย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เพทุบาย, เพโทบาย : (คำกริยา) ทําเล่ห์กล, ทําอุบาย.”
๒ เล่ห์ + เพทุบาย = เล่ห์เพทุบาย เป็นการประสมคำธรรมดาแบบคำไทย
คำว่า “เล่ห์เพทุบาย” ไม่มีในพจนานุกรมฯ
คำนี้ในเวลาพูดกันไม่ค่อยได้ยินพูดเฉพาะ “เพทุบาย” คำเดียว มักจะมีคำว่า “เล่ห์” นำหน้าด้วยเสมอ เช่น ทำเล่ห์เพทุบาย ใช้เล่ห์เพทุบาย เขามีเล่ห์เพทุบายมาก
…………..
อภิปราย :
ในทางคดีโลก คนฉลาดนิยมใช้ “เล่ห์เพทุบาย” ทั้งในทางดีและทางร้าย
แต่ในทางคดีธรรม ท่านวางหลักไว้ว่า พึงใช้ “เล่ห์เพทุบาย” ไปใน 3 ทาง คือ –
1 อายโกศล – ฉลาดใน “อายะ” (ความเจริญ) = รู้ว่าทำแบบนี้เจริญแน่
2 อปายโกศล – ฉลาดใน “อบาย” (ความฉิบหาย) = รู้ว่าทำแบบนี้ฉิบหายแน่
3 อุปายโกศล – ฉลาดใน “อุบาย” = รู้แล้วลงมือทำความเจริญ พร้อมไปกับป้องกันไม่ให้เกิดความฉิบหาย ด้วยวิธีการที่ชาญฉลาด
…………..
ดูก่อนภราดา!
ท่านเชื่อหรือไม่ว่า –
: หลอกคนให้ไปตาย
: ง่ายกว่าจ้างให้ไปพระนิพพาน
#บาลีวันละคำ (1,869)
22-7-60