แค่ความฝันเฟื่อง
แค่ความฝันเฟื่อง
—————–
เมื่อวันลอยกระทง คือขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ในขณะที่คนทั่วประเทศกำลังลอยกระทงกัน ก็มีผู้เอ่ยขึ้นว่า ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นวันปรินิพพานของพระสารีบุตร ทำไมไม่มีใครพูดถึงความสำคัญกันบ้าง
ผมเห็นว่าคำพูดนี้มีความสำคัญมาก
สมมุติว่า มีคนชอบขัดคอ ขวางขึ้นมาว่า นี่ถ้าชาวบ้านเขาไม่ลอยกระทงกันเอิกเกริก จะมีใครนึกถึงบ้างไหมว่า-พระสารีบุตรปรินิพพานวันไหน
แต่เพราะเขาลอยกระทงกันทั้งประเทศ คนบางคนจึงหมั่นไส้ จึงหาเรื่องขวางโลก ยกเอาวันปรินิพพานของพระสารีบุตรขึ้นมาคานกับลอยกระทง
เป็นทำนองจะบอกให้โลกรู้ว่า พระสารีบุตรของฉันก็สำคัญนะจ้ะ
ใช่ไหมล่ะ
………………
ความที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นคำสมมุตินะครับ ไม่ได้มีใครพูดกันแบบนั้น เพราะฉะนั้น กรุณาอย่าหยิบเอามาเถียงกัน
ความคิดของผมก็คือ-ก็ถ้าเราจะยกเอาการปรินิพพานของพระสารีบุตรว่าเป็นเรื่องสำคัญ ทำไมจะต้องไปอิงหรือโหนกระแสลอยกระทง
จะมีลอยกระทงหรือไม่มี เราก็พูดถึงวันปรินิพพานของพระสารีบุตรของเราไปล้วนๆ
และถ้าจะให้ดี มีคุณประโยชน์แท้จริง เราก็ช่วยกันศึกษาประวัติชีวิตของพระสารีบุตรให้เข้าใจชัดแจ้งแตกฉาน ศึกษากันทั้งปี ศึกษากันตลอดไป
ไม่ใช่พูดออกมาลอยๆ ว่ากลางเดือน ๑๒ เป็นวันปรินิพพานของพระสารีบุตร – จบข่าว
——————
และตรงนี้แหละครับที่ผมเกิด เกตไอเดีย
จะเรียกว่าท่านที่ทักท้วงเรื่องนี้เป็นผู้จุดประกายก็คงได้ – ขอบพระคุณอย่างยิ่ง
ไอเดียของผมคืออะไร?
ขอตีโค้งนิดหนึ่งนะครับ
ชาวพุทธในเมืองไทยของเรานี้นับถืออาจารย์ยิ่งกว่านับถือพระพุทธเจ้า
อาจารย์ทั้งหลาย-แทนที่จะพาคนที่นับถือไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็มักจะเก็บกักคนที่นับถือไว้กับสำนักของตน
เรียกล้อคำว่า “พรหมชาล” (พรหมชาลสูตร) ที่แปลว่า “ข่ายของพรหม” ก็ต้องเรียกว่า “อาจริยชาล” แปลว่า “ข่ายของอาจารย์”
คนที่นับถือพรหม ติดข่ายพรหม ไปถึงพระนิพพานไม่ได้ ฉันใด
คนที่นับถืออาจารย์ ก็ติดข่ายอาจารย์ ไปถึงพระพุทธเจ้าไม่ได้ ฉันใด
(แม้กระนั้น ทุกสำนักก็ยืนยันว่า คำสอนของข้าพเจ้านี่แหละคือคำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้า!)
เพราะเช่นนี้ ชาวพุทธในเมืองไทยจึงแตกกันเป็นร้อยก๊กพันก๊กตามจำนวนอาจารย์-โดยไม่รู้ตัว
เรายังหลงว่าเราเป็น “ชาวพุทธ” ด้วยกัน
แต่ความจริงไม่ใช่
สำนักใครสำนักมันต่างหาก
สิ่งที่นิยมประพฤติตามมาก็คือ การยกย่องอาจารย์ว่าเป็นพระอรหันต์
การยกย่องเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาตามมา
นั่นคือ พอใครยกย่องใครว่าเป็นพระอรหันต์ ก็จะต้องมีคนออกมาแย้งว่า-ไม่ใช่พระอรหันต์ พระอรหันต์ไม่ทำอย่างนี้ แต่ท่านผู้นี้ยังทำอย่างนั้น
คราวนี้ก็ทะเลาะกันนะสิ
น่าสังเกตว่า พวกที่ตั้งใครให้เป็นพระอรหันต์นั้น-กล่าวได้ว่าเป็นฆราวาสทั้งหมด
ตามหลักท่านแสดงไว้ว่า ใครจะรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ด้วยกัน
ฆราวาสเป็นพระอรหันต์ไม่ได้
แต่ฆราวาสในเมืองไทยตั้งพระอรหันต์ได้
ถ้าไม่จับหลักไว้ให้มั่น ก็มั่วสิครับ
——————
คราวนี้ก็มาถึงจุดที่ต้องการจะพูด นั่นก็คือ เรามีพระอรหันต์อยู่แล้วเป็นอเนก – อย่างน้อยๆ ก็พระอสีติมหาสาวก-พระอรหันต์ที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองและทรงยกย่องด้วย
ถ้าอยากยกย่องพระอรหันต์ ทำไมเราไม่ชวนกันยกย่องพระอรหันต์แท้ๆ เหล่านั้น
วิธียกย่องก็คือ เรียนรู้ ศึกษา สืบค้น ประวัติของพระอรหันตสาวกเหล่านั้น
ก็อย่างเช่น-พระสารีบุตรเป็นตัวอย่าง
แทนที่จะพูดเพียงว่า-พระสารีบุตรปรินิพพานในวันกลางเดือน ๑๒ – แค่นี้
เราก็ชวนกันศึกษาประวัติของพระสารีบุตรให้ทะลุปรุโปร่งไปเลย ตั้งแต่ท่านเกิดจนท่านปรินิพพาน ท่านทำอะไรไว้บ้างในพระพุทธศาสนา ประมวลมาเป็นองค์ความรู้ให้ครบถ้วน
ยังไม่ใช่เพียงแค่นี้ ผมยังฝันเฟื่องต่อไปอีกว่า เราควรกระจายการศึกษาประวัติพระอรหันต์ไปตามสำนักต่างๆ
เอาสำนักละองค์ พอ เช่น –
วัดมหาธาตุ ศึกษาประวัติพระสารีบุตร
วัดพระเชตุพนฯ ศึกษาประวัติพระโมคคัลลานะ
วัดบวรนิเวศ ศึกษาประวัติพระมหากัสสปะ
วัดราชบพิธฯ ศึกษาประวัติพระอุบาลี
อย่างนี้เป็นต้น
ถ้ายังนึกเกณฑ์ในการแบ่งวัดไม่ถูก เอาพระอารามหลวงที่ได้รับพระราชทานพระกฐินหลวง ๑๘ วัดเป็นเกณฑ์ชุดใหญ่ก็ได้
พระอารามหลวงทั้ง ๑๘ แห่ง มีหน้าที่ศึกษาประวัติพระอรหันต์แห่งละองค์
พระอรหันต์องค์อื่นๆ ก็แบ่งกระจายกันไปตามอารามต่างๆ
คำว่า “ศึกษา” ที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่ทำเพียงแค่แปลออกมาจากพระไตรปิฎก-อรรถกถา แล้วก็พิมพ์เป็นโปสเตอร์ติดบอร์ด – จบแค่นั้น
ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ แค่นั้นมีคนทำกันอยู่แล้ว
แต่หมายถึง-ตามไปศึกษาสืบค้นยังสถานที่จริงในประวัติศาสตร์ เอากันชนิดถึงรากถึงโคน ชนิดที่ได้ข้อมูลเอามาทำเป็นพิพิธภัณฑ์พระอรหันต์องค์นั้นๆ ได้เลย
โดยหลักการเช่นนี้ อารามแต่ละอารามก็จะเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติพระอรหันต์อย่างชนิดเป็นผู้เชี่ยวชาญเลิศไปแต่ละองค์
รู้เรื่องพระอรหันต์แต่ละองค์ในเมืองไทยนี่เอง ไม่ต้องไปถึงอินเดีย วัดต่างๆ ไปศึกษาสืบค้นมาให้แล้ว
อยากรู้ประวัติประวัติพระสารีบุตร ต้องไปวัดมหาธาตุ
อยากรู้ประวัติพระมหากัสสปะ ต้องไปวัดบวรนิเวศ
ฯลฯ
ประมาณนี้
เทียบได้กับ-อยากรู้เรื่องหนังใหญ่ ต้องไปวัดขนอน – ฉันใดก็ฉันนั้น
——————
ผมรู้ดีครับว่า ทั้งหมดที่เขียนมานี้มันก็แค่ความฝันเฟื่อง-จะพูดต่อให้เจ็บใจเล่นว่า-ของคนแก่ๆ คนหนึ่ง ก็ได้
ในสังคมพุทธอย่างเมืองไทยเราที่แม้จะมีบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งรับผิดชอบการพระศาสนาสะพรั่งพร้อม-แต่มีก็เหมือนไม่มี เช่นนี้
เราทำได้อย่างดีก็-แค่ฝันเฟื่อง
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
๑๕:๐๐
…………………………….