บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๑)

ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๓)

ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๓)

—————————

เวลานี้มีที่หนักกว่าที่ว่ามา นั่นคือ ไม่รู้บาลีแต่อวดรู้แบบผิดๆ

เจ้าสำนักแห่งหนึ่งซึ่งไม่มีความรู้หลักภาษาบาลี ท่านแปลคำว่า “สกิเทว” (สะ-กิ-เท-วะ) ว่า “เทวดาคราวเดียว” 

เรื่องนี้ยาวหน่อย และมีคำบาลีมาก ขอได้โปรดอดทนอ่านสักหน่อย เพื่อจะได้รู้ว่าคนไม่รู้แต่ชอบชี้มีอยู่จริงๆ 

ในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งข้อความว่า –

……………….

ติณฺณํ  สญฺโญชนานํ  ปริกฺขยา  ราคโทสโมหานํ  ตนุตฺตา  สกทาคามี  โหติ  สกิเทว  อิมํ  โลกํ  อาคนฺตฺวา  ทุกฺขสฺสนฺตํ  กโรติ.

……………….

ที่มาของข้อความนี้ก็คือ มหาลิสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๒๕๑ และเป็นพุทธวจนะ คือคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเอง (ข้อความเช่นนี้มีในที่อื่นๆ ในพระไตรปิฎกอีกด้วย)

พระไตรปิฎกภาษาไทยแปลว่า –

……………………………………….

“ภิกษุเป็นสกทาคามี มาสู่โลกนี้เพียงอีกครั้งเดียวจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสัญโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ โมหะ เบาบางไป”

……………………………………….

แปลทีละคำดังนี้ –

สกทาคามี = ภิกษุผู้เป็นสกทาคามี

อิมํ  โลกํ  อาคนฺตฺวา = มาสู่โลกนี้

สกิเทว = เพียงอีกครั้งเดียว

ทุกฺขสฺสนฺตํ  กโรติ = จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้

ติณฺณํ  สญฺโญชนานํ  ปริกฺขยา = เพราะสัญโยชน์ ๓ หมดสิ้นไป

ราคโทสโมหานํ  ตนุตฺตา = เพราะราคะ โทสะ โมหะ เบาบางไป

……………….

ข้อความที่เจ้าสำนักแห่งนั้นยกมาแปล ท่านตัดมาเฉพาะ – สกทาคามี  โหติ  สกิเทว  อิมํ  โลกํ  อาคนฺตฺวา

คำแปลตามความเห็นของท่านที่ปรากฏในเอกสารประกอบคำบรรยายเป็นดังนี้ –

สกทาคามี = ผู้มาถึงคราวเดียว

โหติ = มี, เป็น

สกิเทว = เทวดาคราวเดียว

อิมํ = นี้

โลกํ = โลก (มนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง พรหมบ้าง)

อาคนฺตฺวา = ผู้มาเยือน

……………….

คนที่รู้บาลี มาได้เห็นคำแปลของท่านดังนี้ก็จะรู้ทันทีว่าเป็นการแปลแบบคนไม่รู้ แต่ชอบชี้ 

สกิเทว” แปลว่า “เทวดาคราวเดียว” ไม่มีในหลักภาษาบาลีฉบับใดๆ ทั้งสิ้น

อาคนฺตฺวา” เป็นคำกริยา แปลว่า “มาแล้ว” แต่ท่านเจ้าสำนักนั้นแปลว่า “ผู้มาเยือน” ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า “อาคนฺตุก” (อา-คัน-ตุ-กะ) ย้ำถึงการแยกความแตกต่างของคำบาลีไม่เป็น ซึ่งก็คือ ไม่รู้บาลีนั่นเอง 

อาคนฺตฺวา” กับ “อาคนฺตุก” ความหมายคนละอย่างกัน คนรู้บาลีจะไม่แปลอย่างนี้

ผมเคยพยายามอธิบายให้ท่านฟังมาแล้วว่า — 

สกิเทว” เป็นรูปคำสนธิระหว่าง สกึ (สะ-กิง) + เอว (เอ-วะ)

สองคำนี้ไปดูคำแปลจากพจนานุกรมฉบับไหนก็ได้ จะตรงกันหมด

สกึ” แปลว่า “ครั้งเดียว” หรือ “คราวเดียว” = once

เอว” แปลว่า “นั่นเทียว” “เท่านั้น” นั่นแหละ” = only 

เอว” เป็นคำประเภท “นิบาต” คำพวกนี้ไม่เปลี่ยนรูป คือไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัยเป็น เอโว เอวา เอวํ เอเว อะไรแบบนี้

เอว” กลายเป็น “เทว” ไม่ใช่เกิดจากการเปลี่ยนรูปด้วยวิภัตติปัจจัย แต่เกิดจากการกลายเสียงเมื่อคำสองคำมาเชื่อมกัน 

ถ้าอ้างสูตรก็ว่า “แปลงนิคหิตเป็น

นิคหิตก็คือ “อํ” : สกิ + อํ = สกึ (สะ-กิง)

แปลง อํ ที่ สกึ เป็น ก็คือ สกึ = สกิท (สกึ หายไป กลายเป็น สกิ-)

สกิท + เอว = สกิเทว (เอ– มีแต่เสียง ไม่มีรูป อ่าง = เ-ว) 

: สกิท + = สกิเทว 

สกิเทว” จึงแปลว่า “ครั้งเดียวเท่านั้น” = once only

“-เทว” ตรงนี้จึงไม่ใช่ “เทว” ที่แปลว่า “เทวดา

ไม่มี “เทวดา” อะไรอยู่ในคำนี้แต่ประการใดทั้งสิ้น

ถ้าไปดู “สกิเทว” ที่ใช้ในข้อความอื่นจะเข้าใจทันที เช่น –

……………….

เอวํ  โข  อหํ  มหาราช  อภิชานามิ  วาจํ  ภาสิตา  นตฺถิ  โส  

สมโณ  วา  พฺราหฺมโณ  วา  โย  สกิเทว  สพฺพํ  ญสฺสติ  สพฺพํ  

ทกฺขติ  เนตํ  ฐานํ  วิชฺชตีติ. 

(มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ๑๓/๕๗๕)

……………….

ข้อความนี้พระพุทธเจ้าตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็เป็น “พระพุทธวจนะ” เช่นเดียวกัน

ข้อความนี้มีคำว่า “สกิเทว” เหมือนกัน และเป็นศัพท์เดียวกันกับในข้อความที่ท่านเจ้าสำนักยืนยันว่าต้องแปลว่า “เทวดาคราวเดียว” แปลอย่างอื่นไม่ได้

ความข้อนี้แปลว่า …

……………………………………….

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพจำคำที่กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ในคราวเดียวเท่านั้นไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้”

……………………………………….

ความหมายของพระพุทธวจนะนี้ก็คือ คนที่ฟังเทศน์ฟังธรรมเพียงครั้งเดียวแล้วจะรู้จะเห็นธรรมทั้งหมดนั้นเป็นไปไม่ได้ 

ฟังเทศน์ครั้งเดียวอาจได้บรรลุธรรมบางระดับ แต่ไม่ใช่รู้ธรรมทั้งหมด พระพุทธวจนะตรัสไว้ดังนี้

ถ้าจะแปล “สกิเทว” ว่า “เทวดาคราวเดียว” ข้อความนั้นก็จะต้องเป็นว่า …

……………………………………….

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูก่อนมหาบพิตร อาตมภาพจำคำที่กล่าวแล้วอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์จักรู้ธรรมทั้งปวง จักเห็นธรรมทั้งปวง ‘เทวดาคราวเดียว’ ไม่มี ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้”

……………………………………….

พระพุทธวจนะก็จะเข้ารกเข้าพงไปหมด

เทวดาคราวเดียว” มาเกี่ยวอะไรด้วยกับพระพุทธวจนะนี้?

ท่านเจ้าสำนักย้ำยืนยันว่า “สกิเทว” ต้องแปลว่า “เทวดาคราวเดียว” เท่านั้น แปลอย่างอื่นผิด

ซ้ำบอกว่า แปลผิดกันมาทั่วประเทศ 

เขาแปลถูกกันทั่วประเทศ แต่ท่านบอกว่าแปลผิด แต่ที่ท่านแปลผิดนี้ท่านยืนยันว่าแปลถูก – เอากะท่านสิ 

……………….

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้คือปัญหาที่เกิดจากการไม่รู้บาลีแล้วเอาความไม่รู้นั้นไปแสดงให้คนอื่นเข้าใจผิดต่อๆ กันไปอีก

แค่ไม่รู้บาลีแต่ไปเรียนพระไตรปิฎก ก็เสี่ยงมากอยู่แล้วต่อการที่จะรู้ผิดเข้าใจผิด 

ยิ่งเอาความไม่รู้นั้นไปบอกต่อ ก็ยิ่งแพร่ความรู้ผิดเข้าใจผิดให้ระบาดหนักขึ้นไปอีก 

ทางแก้ก็คือ ถ้าจะเรียนพระไตรปิฎก จงเรียนภาษาบาลีให้พอรู้-จนถึงรู้ดีที่สุด 

ถ้าไม่สามารถเรียนภาษาบาลีได้ จำเป็นจะต้องเรียนพระไตรปิฎกฉบับแปล ก็ต้องมีมาตรการที่รัดกุมเพื่อใช้ตรวจสอบว่า พระไตรปิฎกที่แปลมานั้นแปลถูกต้องหรือไม่ 

ถ้าไปเจอข้อความที่แปลผิดหรือคลาดเคลื่อนจะรู้ได้หรือไม่ หรือจะรู้ได้อย่างไร แล้วจะมีวิธีตรวจสอบได้อย่างไร

แต่เรื่องหนึ่งที่ขอยืนยันก็คือ เรียนพระไตรปิฎกจากฉบับแปลจะได้รับอรรถรสไม่เท่าและไม่เหมือนกับที่เรียนจากต้นฉบับบาลี 

อุปมาพอให้เห็นภาพ 

เรียนพระไตรปิฎกจากฉบับแปล เหมือนรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเดียว แต่ไม่มีรสชาติ 

เรียนพระไตรปิฎกจากต้นฉบับบาลี เหมือนรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการด้วย และเป็นอาหารที่ปรุงอร่อยด้วย 

ถึงตรงนี้คงมีคนอยากบอกว่า – ฉันต้องการอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ฉันไม่ต้องการกินเพื่ออร่อย

อนึ่ง น่าจะมีความคิดที่ออกมาปกป้องด้วยว่า – แค่เขามีกุศลจิตเรียนพระไตรปิฎกก็ประเสริฐอยู่แล้ว จะต้องกะเกณฑ์ให้เขารู้บาลีไปถึงไหนกันอีก

จึงขอตอบว่า จะเอาอย่างนั้นก็เชิญตามสบาย คือเรียนพระไตรปิฎกโดยไม่ต้องรู้บาลีไปตามสบายเถิด ไม่มีใครห้าม

แต่ก็ยังจะต้องสรุปให้เข้าใจอยู่นั่นเองว่า ไม่รู้บาลีก็เรียนพระไตรปิฎกได้ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบมากเป็นพิเศษ อย่างน้อยควรรู้จักวิธีที่จะตรวจสอบได้ว่าที่เขาแปลมานั้นถูกต้องแน่แล้วหรือ 

มิเช่นนั้นจะมีอาการเหมือนคนหลับตาเดิน

หรือไม่ก็-เหมือนคนที่พูดบรรยายอธิบายความถึงสิ่งที่คนพูดเองก็ไม่เคยเห็นของจริงด้วยตาตัวเอง 

แต่ก็อย่าเพิ่งท้อแท้หรือหมดกำลังใจ ขอย้ำว่า ไม่รู้บาลีก็เรียนพระไตรปิฎกได้ เพียงแต่ว่าต้องเหนื่อยมากหน่อยเท่านั้น

เข้าใจตรงกันนะครับ 

เรื่องนี้ยาว-ยังมีต่ออีกครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

๑๑:๑๐

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *