บาลีวันละคำ

อาภัสระ (บาลีวันละคำ 3,519)

อาภัสระ

รูปพรหมชั้นที่หก

อ่านว่า อา-พัด-สะ-ระ เขียนแบบบาลีเป็น “อาภสฺสร” 

อาภสฺสร” อ่านว่า อา-พัด-สะ-ระ รากศัพท์มาจาก อาภา + สรฺ ธาตุ

(๑) “อาภา” 

อ่านว่า อา-พา รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ภา (ธาตุ = รุ่งเรือง) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ

: อา + ภา = อาภา + กฺวิ = อาภากฺวิ > อาภา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่รุ่งเรืองอย่างยิ่ง” หมายถึง การส่องแสง, ความงดงาม, ความรุ่งโรจน์, แสงสว่าง (shine, splendour, lustre, light)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อาภา : (คำนาม) แสง, รัศมี, ความสว่าง. (ป., ส.).”

(๒) อาภา + สรฺ (ธาตุ ไป, ถึง; แผ่ไป, ซ่านไป) + อ (อะ) ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ (อา)-ภา (อาภา อาภ), ซ้อน สฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ (อาภา + สฺ + สรฺ)

: อาภา + สฺ + สรฺ = อาภาสฺสรฺ + = อาภาสฺสร > อาภสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความรุ่งโรจน์ซ่านออกไป” “ผู้มีรัศมีซ่านออกจากกาย

ในภาษาบาลี “อาภสฺสร” ใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำว่า “เทวา” (เทวดาทั้งหลาย) เปลี่ยนรูปเป็น “อาภสฺสรา

คัมภีร์ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ตอนอธิบายมูลปริยายสูตร อธิบายความหมายของคำว่า “อาภสฺสรา” ไว้ว่า –

…………..

ทณฺฑทีปิกาย  อจฺจิ  วิย  เอเตสํ  สรีรโต  อาภา  ฉิชฺชิตฺวา  ฉิชฺชิตฺวา  ปตนฺตี  วิย  สรติ  วิสรตีติ  อาภสฺสรา  ฯ

รัศมีแผ่ซ่านออกจากร่างกายของพรหมเหล่านั้นเหมือนกับขาดตกไปเป็นช่วงๆ คล้ายเปลวไฟขาดตกไปจากคบเพลิงฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พรหมเหล่านั้นจึงชื่อว่า อาภสฺสรา

ที่มา: ปปัญจสูทนี ภาค 1 หน้า 58

…………..

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาภสฺสรา” ว่า shining, brilliant, radiant, Name of a class of gods in the Brahma heavens “the radiant gods” (ส่องแสง, สุกใส, ช่วงโชติ, ชื่อของเทวดาในสวรรค์ชั้นพรหมจำพวกหนึ่ง “อาภัสรพรหม”)

และขยายความต่อไปว่า usually referred to as the representatives of supreme love (ตามปกติอ้างถึงในฐานเป็นตัวแทนของความรักชั้นสูงสุด) 

อาภสฺสร” หรือ “อาภสฺสรา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อาภัสระ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาภัสระ : (คำนาม) ชื่อพรหมโลกชั้น ๑ ในรูปพรหม ๑๖ ชั้น, เรียกพรหมซึ่งอยู่ชั้นนี้ว่า อาภัสรพรหม. (คำวิเศษณ์) สว่าง, สุกใส, เปล่งปลั่ง. (ป. อาภสฺสร).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต สะกดชื่อนี้เป็น “อาภัสสระ” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

อาภัสสระ : ผู้มีรัศมีแผ่ซ่าน, เปล่งปลั่ง, ชื่อพรหมโลกชั้นที่ ๖; ดู พรหมโลก (พจนานุกรมเขียน อาภัสระ)

…………..

อภิปรายขยายความ :

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ตอนอธิบายมหานิทานสูตร อธิบายเรื่องพรหม 3 จำพวกที่เกิดด้วยอำนาจทุติยฌานเหมือนกัน คือ พรหมปริตตาภา พรหมอัปปมาณาภา และ พรหมอาภัสระ เปรียบเทียบกันดังนี้ –

…………..

เตสุ  จตุกฺกปญฺจกนเยสุ  ทุติยตติยชฺฌานทฺวยํ  ปริตฺตํ  ภาเวตฺวา  อุปปนฺนา  ปริตฺตาภา  นาม  โหนฺติ  ฯ

บรรดาพรหมเหล่านั้น ผู้เจริญฌานนิดหน่อย คือทุติยฌานและตติยฌานในจตุกนัยและปัญจกนัยมาเกิด ชื่อว่าพรหมปริตตาภา

เตสํ  เทฺว  กปฺปา  อายุปฺปมาณํ  ฯ

พรหมปริตตาภานั้นมีกำหนดอายุ 2 กัป

มชฺฌิมํ  ภาเวตฺวา  อุปปนฺนา  อปฺปมาณาภา  นาม  โหนฺติ  ฯ

ผู้เจริญทุติยฌานระดับปานกลางมาเกิด ชื่อว่าพรหมอัปปมาณาภา

เตสํ  จตฺตาโร  กปฺปา  อายุปฺปมาณํ  ฯ

พรหมอัปปมาณาภานั้นมีกำหนดอายุ 4 กัป

ปณีตํว  ภาเวตฺวา  อุปปนฺนา  อาภสฺสรา  นาม  โหนฺติ  ฯ  

ผู้เจริญทุติยฌานระดับประณีตแท้มาเกิด ชื่อพรหมอาภัสระ

เตสํ  อฏฺฐ  กปฺปา  อายุปฺปมาณํ ฯ

พรหมอาภัสระนั้นมีกำหนดอายุ 8 กัป

สพฺเพสํปิ  เตสํ  กาโย  เอกวิปฺผาโรว  โหติ  ฯ

รูปร่างของพรหมทั้ง 3 ชั้นเหล่านั้นมีความผึ่งผายเป็นอย่างเดียวกันแท้

สญฺญา  ปน  อวิตกฺกวิจารมตฺตา  วา  อวิตกฺกาวิจารา  วาติ  นานา ฯ

แต่ที่ต่างกันคือวิตกและวิจารอันเป็นองค์ฌานที่บำเพ็ญมา คือบางพวกไม่มีวิตก แต่มีวิจาร บางพวกไม่มีทั้งวิตกทั้งวิจาร 

ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 178-179

…………..

คัมภีร์ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ตอนอธิบายมูลปริยายสูตรขยายความไว้ว่า –

…………..

เอกตลวาสิโน  เอว  เจเต  สพฺเพปิ  ปริตฺตาภา  อปฺปมาณาภา  อาภสฺสราติ  เวทิตพฺพา  ฯ

พึงทราบว่า ปริตตาภาพรหม อัปปมาณาภาพรหม อาภัสรพรหม ทั้งหมดนี้สถิตอยู่ในชั้นเดียวกันนั่นเอง

ที่มา: ปปัญจสูทนี ภาค 1 หน้า 58

…………..

สรุปว่า “อาภัสระ” เป็นชื่อของพรหมชั้นที่ 6 ในรูปาวจรภูมิซึ่งมีทั้งหมด 16 ชั้น เป็นผู้ที่เจริญทุติยฌานระดับประณีตมาเกิด มีอายุยืนยาว 8 กัป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผิวพรรณผ่องใส งามได้ครึ่งเดียว

: จิตใจมีคุณธรรม งามหมดทั้งตัว

#บาลีวันละคำ (3,519)

30-1-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *