บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๑)

ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๔)

ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๔)

—————————

มีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมคิดว่าพูดแนบกันไว้ตรงนี้น่าจะเหมาะ นั่นก็คือ พระพุทธศาสนาเหมือนยารักษาโรค 

ต้องลงมือกินยาลงมือใช้ยา โรคจึงจะหาย 

จำเป็นอะไรที่จะต้องรู้บาลี จำเป็นอะไรที่จะต้องเรียนพระไตรปิฎกจนถึงขนาดช่ำชองเชี่ยวชาญ 

แค่รู้ว่ายานี้ใช้อย่างไร แล้วลงมือใช้ยา โรคก็หายได้แล้ว 

แค่จะรักษาโรคให้ตัวเอง ต้องลงทุนเรียนหมอเชียวหรือ

แค่รู้ว่าธรรมะข้อนี้ปฏิบัติอย่างไร แล้วลงมือปฏิบัติ กิเลสก็หมดได้ 

หลวงปู่ หลวงพ่อ ที่ท่านเป็นพระปฏิบัติ ที่เรายกย่องนับถือท่าน ถึงขนาดเรียกท่านว่า “อริยสงฆ์” หรือสถาปนาให้ท่านเป็นพระอรหันต์ไปเลย ท่านก็ไม่ได้เรียนบาลีหรือเรียนพระไตรปิฎกถึงขนาดไหนสักเท่าไรเลย 

หัวใจของพระศาสนาอยู่ที่ลงมือปฏิบัติธรรม 

จบประโยค ๙ ช่ำชองพระไตรปิฎก แต่ไม่ปฏิบัติ ก็ไร้สาระทั้งนั้น 

ชวนกันส่งเสริมการปฏิบัติ จะไม่ตรงเป้าดีกว่าชวนกันเรียนบาลี-เรียนพระไตรปิฎกดอกหรือ 

ท่านผู้ใดคิดเห็นเป็นประการใดกับประเด็นนี้?

……………….

จะเข้าใจประเด็นนี้ ต้องเข้าใจ “ธุระ” ของผู้ที่บวชเข้ามา-หรืออยู่-ในพระศาสนา

“ธุระ” หรือหน้าที่ของผู้ที่อยู่ในพระศาสนาท่านว่ามี ๒ อย่าง คือ – 

(๑) เรียนพระธรรมวินัยให้เข้าใจถูกต้อง ธุระนี้เรียกว่า “คันถธุระ” 

(๒) ปฏิบัติพระธรรมกรรมฐาน คือลงมือฝึกหัดขัดเกลาจิตให้กิเลสเบาบางจนถึงหมดสิ้นไป ธุระนี้เรียกว่า “วิปัสสนาธุระ”

ถ้าไม่เรียนคันถะ ก็ต้องลงมือปฏิบัติ

ถ้ายังไม่ปฏิบัติ ก็ต้องเรียนคันถะ

ต้องทำธุระอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง 

จะเรียนโดยไม่ปฏิบัติ ไม่ได้ 

หรือจะปฏิบัติโดยไม่เรียน ก็ไม่ได้ 

จะเน้นคันถะหรือเน้นวิปัสสนาก็เลือกเอาตามถนัด 

แต่จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้

คันถธุระก็ไม่เรียน

วิปัสสนาธุระก็ไม่เอา

อยู่เฝ้าวัดไปวันๆ – แบบนี้ไม่ได้ 

ยิ่งหันเหียนไปเรียนอย่างอื่น ก็ยิ่งไปกันใหญ่

ผิดหลักการของการบวชเข้ามาในพระศาสนา

ดังนี้ จะเห็นได้ว่า เรียนบาลี-เรียนพระไตรปิฎก ก็เป็นหน้าที่อย่างหนึ่ง จะว่าไม่จำเป็นหรือไม่ต้องเรียน-โดยอ้างหลวงปู่หลวงพ่อทั้งหลายนั้น หาได้ไม่ 

พิจารณาลึกลงไปก็จะเห็นว่า ที่ว่า “เรียนบาลี” นั้น เนื้อแท้ก็คือเรียนพระธรรมวินัย 

“บาลี” ที่เอามาเรียนก็คือตัวพระธรรมวินัย

แล้วที่ว่า “เรียนพระไตรปิฎก” ก็คือเรียนพระธรรมวินัยนั่นเอง

บาลี-พระไตรปิฎก-พระธรรมวินัย หมายถึงสิ่งเดียวกัน นั่นคือตัวพระศาสนา

ลองคิดดูให้ดี เข้ามาอยู่ในพระพุทธศาสนา แต่ไม่เรียน-ไม่รู้จักตัวพระศาสนา จะอยู่กันอย่างไร 

……………………

แต่เพราะรากเหง้าเค้าเดิมของพระธรรมวินัย-พระไตรปิฎกท่านบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี ผู้ที่จะเรียนพระธรรมวินัย-พระไตรปิฎกให้รู้ลึกรู้ถูกรู้ตรง จึงต้องเริ่มที่เรียนบาลี 

ต้นทางของการเรียนบาลีจึงมีปลายทางอยู่ที่พระธรรมวินัย-พระไตรปิฎก

มองให้ตลอด และมองให้ตรง จะเห็นความจริงที่ว่านี้ 

ที่มันคลาดเคลื่อนอยู่ทุกวันนี้เกิดจากการตั้งความดำริไว้ผิด คือมองไม่ตรง มองไม่ตลอด

เช่นเรียนบาลีด้วยวัตถุประสงค์อื่น-ไม่ใช่เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการศึกษาพระธรรมวินัย 

เช่นเรียนเพื่อให้ได้ประโยคนั้นประโยคโน้น แล้วใช้เป็นสะพานต่อไปทำกิจอย่างอื่น หรือแม้จะไม่ไปไหนก็ชื่นชมยินดีกัน แล้วจบอยู่แค่นั้น ไม่ไปให้ถึงพระธรรมวินัย-พระไตรปิฎก

เรียนพระไตรปิฎกด้วยวัตถุประสงค์อื่น-ไม่ใช่เพื่อจะได้ปฏิบัติดำเนินไปในพระธรรมวินัยให้ถูกต้อง

เช่นเรียนเพราะเป็นรายวิชาหนึ่งในกระบวนการศึกษาเพื่อรับปริญญา พอได้ปริญญาแล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น 

สรุปว่า การเรียนบาลีและเรียนพระไตรปิฎกของเราไม่ใช่กิจวัตรของชีวิตจริง ไม่ใช่ชีวิตประจำวันจริง แต่เป็นการกระทำเฉพาะกิจด้วยความมุ่งหมายเฉพาะอย่าง 

………………..

ที่ว่ามานั้นคือ – พูดถึงการศึกษาพระไตรปิฎก ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงผู้จบประโยค ๙ 

ที่นี้ก็มาถึงอีกประเด็นหนึ่ง คือประเด็นที่ว่า – แต่ถ้าพูดถึงผู้จบประโยค ๙ จำเป็นต้องเอ่ยถึงการศึกษาพระไตรปิฎก 

พูดมาแล้วข้างต้นว่า ชาติต่างๆ ที่เรียนบาลีเขาเรียนเพื่อเอาไปใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนพระไตรปิฎก

แต่ในบ้านเรา ณ เวลานี้ เราเรียนบาลีแบบหลงทาง

ปลายทางของการเรียนบาลีคือการเรียนพระไตรปิฎก

แต่ในบ้านเรา ณ เวลานี้ ปลายทางของการเรียนบาลีคือประโยค ๙ 

พอจบประโยค ๙ ก็ประกาศว่าจบการศึกษาทางบาลีแล้ว ไม่มีอะไรทางพระที่จะต้องเรียนอีกแล้ว

นั่นคือคิดผิด 

จบประโยค ๙ แล้วไม่ค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎก นั่นคือความเบี่ยงเบน นั่นคือความผิดพลาด 

ผมอุปมาเทียบเคียงให้เห็นอยู่บ่อยๆ ว่า – เหมือนคนเรียนหมอ 

เรียนหมอจบแล้ว ต้องเข้าสู่กระบวนรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะนั่นคือเป้าหมายปลายทางของการเรียนหมอ

เรียนหมอจบแล้ว ไม่เข้าสู่กระบวนรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย นั่นคือความเบี่ยงเบน นั่นคือความผิดพลาด ฉันใด

จบประโยค ๙ แล้วไม่ค้นคว้าศึกษาพระไตรปิฎก ก็คือความเบี่ยงเบน ก็คือความผิดพลาด ฉันนั้น

นี่คือ-ถ้าพูดถึงผู้จบประโยค ๙ จำเป็นต้องเอ่ยถึงการศึกษาพระไตรปิฎก 

…………………

ประเด็นนี้เคยมีผู้ออกมาปกป้องว่า 

ผู้เรียนจบประโยค ๙ แล้ว ท่านจะไปทำอะไรย่อมขึ้นอยู่กับอัธยาศัยของท่าน 

ถ้าท่านรักการค้นคว้าพระไตรปิฎก ท่านก็อาจจะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกต่อไป 

ถ้าท่านรักการปฏิบัติธรรม ท่านก็อาจจะหันไปทางปฏิบัติวิปัสสนาธุระ 

หรือถ้าท่านได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะสงฆ์ ท่านก็อาจจะหันไปทางการบริหารการปกครอง 

สรุปว่า เรื่องอย่างนี้ต้องแล้วแต่ตัวท่าน จะไปบังคับกะเกณฑ์กันไม่ได้ 

ก็เหมือนคนเรียนจบหมอนั่นแหละ ใช่ว่าทุกคนจะต้องไปอยู่โรงพยาบาล หรือเปิดคลินิกรักษาคนไข้ 

เรียนจบหมอ อาจไปทำฟาร์มเลี้ยงไก่ หรือไปเปิดสำนักปฏิบัติธรรมก็ได้ แล้วแต่แนวทางของแต่ละคน บังคับกันได้ที่ไหน

…………………

ผมก็อยากจะเห็นด้วยกับเหตุผลเช่นว่านี้ – ท่านจะไปทำอะไรย่อมขึ้นอยู่กับอัธยาศัยของท่าน จะไปบังคับกะเกณฑ์กันไม่ได้

แต่ถ้าเรายอมรับเหตุผลเช่นนี้ การศึกษาบาลีของเราก็วังเวง เพราะศึกษาไปแล้วก็ไม่รู้ว่าท่านจะไปไหนกันบ้าง 

ก็เท่ากับเป็นการศึกษาที่ไม่มีเป้าหมาย ไร้ทิศทาง หรือมี แต่ก็พร่ามัว ไม่ชัดเจน

พระภิกษุสามเณรที่กำลังเรียนบาลีกันอยู่ในเวลานี้ก็ไม่อาจเป็นความหวังของพระศาสนาได้เลย เพราะศึกษาไปแล้วก็ไม่รู้ว่าท่านจะไปไหนกันบ้าง 

เราก็ฝากพระศาสนาไว้กับคำว่า-แล้วแต่บุญแต่กรรม ใครมีศรัทธาก็อยู่ช่วยกันสืบพระศาสนา ใครไม่มีศรัทธา จะไปบังคับเขาไม่ได้ แล้วแต่บุญแต่กรรม 

ฝากพระศาสนาไว้กับวิธีคิดแบบเดิมๆ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

๑๘:๑๔

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *