บาลีวันละคำ

ยันต์-ยัญ (บาลีวันละคำ 319)

ยันต์-ยัญ

2 คำนี้ในภาษาไทยออกเสียงเหมือนกัน

“ยันต์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายว่า “ตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลข อักขระหรือรูปภาพที่เขียน สัก หรือแกะสลักลงบนแผ่นผ้า ผิวหนัง ไม้ โลหะ เป็นต้น ถือว่าเป็นของขลัง, เรียกเสื้อหรือผ้าเป็นต้นที่มีลวดลายเช่นนั้นว่า เสื้อยันต์ ผ้ายันต์”

พจน.๔๒ ไม่ได้บอกว่า “ยันต์” มาจากภาษาอะไร

ภาษาสันสกฤตมีคำว่า “ยนฺตฺร” (ยัน-ตฺระ) แปลว่า ห้าม (to restrain or forbid) ความหมายนี้ตรงกับบาลีว่า “ยนฺตก” (ยัน-ตะ-กะ) แปลว่า กลอนหรือสลักประตู, ไม้หรือโลหะสำหรับปิดกั้น ใช้ในความหมายว่า ใส่กลอน, ใส่สลัก, ลั่นดาล หรือลั่นกุญแจ เพื่อป้องกันการบุกรุก

ยันต์” น่าจะมาจาก “ยนฺตฺรยนฺตก” เพราะมีความมุ่งหมายในทางป้องกันภัยอันตรายเช่นเดียวกัน

ส่วน “ยัญ” คำนี้บาลีเป็น “ยญฺญ” (ยัน-ยะ) หมายถึงการเซ่นสรวงโดยมีการฆ่าสัตว์หรือคนเป็นเครื่องบูชา ที่เรียกว่า “บูชายัญ” เป็นพิธีกรรมของพราหมณ์ พระพุทธศาสนานำคำว่า “ยัญ” มาให้ความหมายใหม่ว่า การถวายทาน, การทำกุศล, วัตถุสิ่งของที่เตรียมไว้เพื่อการทำบุญ

ระวัง :

ผ้ายันต์ ไม่ใช่ ผ้ายัญ

บูชายัญ ไม่ใช่ บูชายันต์

เสียงเหมือนกัน เขียนคนละอย่าง ต่างความหมาย และต่างความมุ่งหมาย

————

(ตามคำปรารภของ Navyblue Abhakara)

บาลีวันละคำ (319)

27-3-56

ยันต์

น. ตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลข อักขระหรือรูปภาพที่เขียน สัก หรือแกะสลักลงบนแผ่นผ้า ผิวหนัง ไม้ โลหะ เป็นต้น ถือว่าเป็นของขลัง เช่น ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์, เรียกเสื้อหรือผ้าเป็นต้นที่มีลวดลายเช่นนั้นว่า เสื้อยันต์ ผ้ายันต์, เรียกกิริยาที่ทำเช่นนั้นว่า ลงเลข ลงยันต์.

ยนฺตก (บาลี-อังกฤษ)

กลอนหรือสลักประตู, ไม้หรือโลหะสำหรับปิดกั้น a bolt

ยนฺตกํ เทติ ใส่กลอน, ใส่สลัก (= กุญแจ)

ยนฺตฺร (สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน)

ห้าม to restrain or forbid

bolt (สอ เสถบุตร)

สลักประตู, ดาล, ลูกศร, ลงกลอน

สลักเกลียว, ควง, ตรึงไว้ด้วยเกลียว

ยญฺญ (บาลี-อังกฤษ)

การบูชาหรือสังเวยของพวกพราหมณ์,

การถวายทาน, การทำกุศล, ทานที่ถวายแด่พระสงฆ์หรือภิกษุ

ยญฺญ = การบูชา, เครื่องบูชา (ศัพท์วิเคราะห์)

ยชนํ ยญฺญํ การบูชา

ยช ธาตุ ในความหมายว่าบูชา ญ ปัจจัย แปลง ช เป็น ญ

ยชนฺติ อเนนาติ ยญฺญํ ของเป็นเครื่องบูชา (เหมือน วิ.ต้น)

ยัญ, ยัญ-, ยัญญะ

 [ยันยะ-] น. การเซ่น, การบูชา, การเซ่นสรวงโดยมีการฆ่าสัตว์หรือคนเป็นเครื่องบูชาเรียกว่า บูชายัญ. (ป. ยญฺ; ส. ยชฺ).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย