อาคม-อายน-อาพันธ์ (บาลีวันละคำ 320)
อาคม-อายน-อาพันธ์
“อาคม” บาลีอ่านว่า อา-คะ-มะ ไทยอ่านว่า อา-คม ตามรากศัพท์ประกอบด้วย อา + คม
“คม” แปลว่า “ไป” แต่เมื่อมีคำอุปสรรคคือ “อา” นำหน้า เป็น “อาคม” ความหมายก็กลับตรงข้าม จาก “ไป” กลายเป็น “มา”
นอกจากแปลว่า “มา” แล้ว “อาคม” ยังมีความหมายอีกหลายอย่าง คือ การเข้าใกล้, การบรรลุผล, สิ่งที่อาศัย, ทรัพยากร, หนทาง, ข้ออ้างอิง, ตำรา, คัมภีร์, พระบาลี, กฎ, ข้อปฏิบัติ, วินัย
ในภาษาไทย มักเข้าใจกันว่า “อาคม” คือเวทมนตร์, ความขลัง, ความศักดิ์สิทธิ์ บางทีใช้คู่กับ “คาถา” เป็น “คาถาอาคม” หมายถึงคําเสกที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์
ในทางโหราศาสตร์ ใช้คำว่า “อาคม” ต่อท้ายชื่อเดือนทางสุริยคติ ที่มี 31 วัน เช่น “มกราคม” ส่วนเดือนที่มี 30 วัน ใช้คำว่า “อายน” ต่อท้าย เช่น “เมษายน”
“อายน” บาลีอ่านว่า อา-ยะ-นะ ไทยอ่านว่า อา-ยน แปลว่า “มา” เช่นเดียวกับ “อาคม” เหตุที่ใช้คำต่างกันคงเพื่อเป็นเครื่องสังเกตว่าจำนวนวันต่างกันนั่นเอง
ส่วนเดือน “กุมภ” ซึ่งมีจำนวนวันไม่แน่นอน ใช้คำว่า “อาพนฺธ” อ่านว่า อา-พัน-ทะ ต่อท้าย ไทยเขียนเป็น “อาพันธ์” อ่านว่า อา-พัน
“อาพันธ์” แปลกันว่า “ผูก, มัด” แต่อีกแง่หนึ่ง “พันธ์” แปลว่า “ผูกมัด” “อา” ทำให้มีความหมายตรงข้าม “อาพันธ์” จึงแปลว่า “ปล่อย” ก็ได้ “กุมภาพันธ์” จึงอาจมีความหมายว่า “เดือนที่ไม่ผูกมัดว่าจะต้องมีจำนวนวันแน่นอน”
เดือน : ไม่ว่าจะต่อด้วย “อา” ไหน มันก็เขมือบ “วัย” เราไปทุกวัน
————-
(ยกความดีให้คุณผจญ จอจาน ผู้ตั้งคำถาม)
บาลีวันละคำ (320)
28-3-56
อาคม (บาลี-อังกฤษ)
การมา, การเข้าใกล้, อาคม (result ผล, ก่อผล, เป็นผล, ลงเอย)
สิ่งที่คนอาศัย, ทรัพยากร, หนทาง, ข้ออ้างอิง, ตำรา, คัมภีร์, พระบาลี
กฎ, ข้อปฏิบัติ, วินัย, การเชื่อฟัง
ความหมาย, ความเข้าใจ
การใช้คืน
ศัพท์เฉพาะทางไวยากรณ์ มีความหมายว่า “เพิ่มพูน”
อาคม
[-คม] น. เวทมนตร์, บางทีใช้คู่กับ คาถา เป็น คาถาอาคม; การมา, การมาถึง, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น มีนาคม คือ มีน + อาคม แปลว่า การมาถึงราศีมีน. (ป., ส.).
คาถา ๒, คาถาอาคม
น. คําเสกที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์.
อายน
[-ยน] น. การมาถึง, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาส เช่น เมษายน คือ เมษ + อายน แปลว่า การมาถึงราศีเมษ. (ป., ส.).
อาพันธ์, อาพันธนะ
น. เครื่องผูก, การผูก. (ป., ส.).
อยน (บาลี-อังกฤษ)
การไป, การไปยัง, จุดหมายปลายทาง