บาลีวันละคำ

รหัสยลัทธิ (บาลีวันละคำ 3,401)

รหัสยลัทธิ

คำสอนที่ลึกลับ

อ่านว่า ระ-หัด-สะ-ยะ-ลัด-ทิ

หมายเหตุ: รหัสย อ่านว่า ระ-หัด-เซียะ จะได้เสียงที่ถูกต้อง

ประกอบด้วยคำว่า รหัสย + ลัทธิ

(๑) “รหัสย”

บาลีเป็น “รหสฺส” อ่านว่า ระ-หัด-สะ รากศัพท์มาจาก รห (ที่ลับ) + ส ปัจจัย, ซ้อน สฺ

: รห + สฺ + ส = รหสฺส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีอยู่ในที่ลับ”

“รหสฺส” เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความลับ, ความเร้นลับ (secrecy, secret) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ลับ, เฉพาะ (secret, private)

บาลี “รหสฺส” สันสกฤตเป็น “รหสฺย”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

“รหสฺย : (คำนาม) ‘รหัสย์,’ ความลับ, ความลึกลับ; a secret, a mystery; – (คำวิเศษณ์) ลับ; private, secret.”

ในภาษาไทย “รหสฺส” ตัด ส ออกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “รหัส” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“รหัส : (คำนาม) เครื่องหมายหรือสัญญาณลับซึ่งรู้เฉพาะผู้ที่ตกลงกันไว้, ข้อความที่เปลี่ยนตัวอักษรอื่นแทนอักษรที่ต้องการจะใช้ หรือสลับตำแหน่งอักษรของข้อความนั้น หรือใช้สัญลักษณ์แทน เป็นต้น ซึ่งรู้กันเฉพาะผู้ที่รู้เกณฑ์การเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ, ระบบสัญลักษณ์ที่ใช้ในเครื่องมือเครื่องใช้อย่างกุญแจหรือตู้นิรภัยเป็นต้น เช่น เลขรหัสบัตรเครดิต. (ป. รหสฺส; ส. รหสฺย).”

ในที่นี้ “รหสฺส” ใช้ตามสันสกฤตเป็น “รหัสย”

(๒) “ลัทธิ”

บาลีเขียน “ลทฺธิ” อ่านว่า ลัด-ทิ รากศัพท์มาจาก ลภฺ (ธาตุ = ได้) + ติ ปัจจัย, แปลง ต เป็น ธ, ภ เป็น ท

: ลภฺ > ลท + ติ > ธิ = ลทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “การได้รับ” คือการรับเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาไว้

(2) “สิ่งอันควรรับไว้” คือสิ่งที่แต่ละคนเห็นว่าตนควรรับเอาไว้

“ลทฺธิ” หมายถึง ความเชื่อ, ทัศนะ, ทฤษฎี อันเกี่ยวกับศาสนา, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเห็นที่นอกรีต (religious belief, view, theory, esp. heretical view)

พจนานุกรมบางฉบับ แปล “ลทฺธิ” เป็นอังกฤษว่า a view of theory

พจนานุกรมบาลี-ไทย สำหรับนักศึกษา BUDSIR 7 for Windows บอกว่า –

“ลทฺธิ : ลัทธิ, ความเห็น.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกว่า –

“ลัทธิ : หลักการและความคิดเห็นที่เชื่อถือยึดถือร่วมกันเป็นหมู่พวกสืบกันมา, ทิฏฐิ, ความรู้เข้าใจและประเพณีที่ได้รับไว้และยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ลัทธิ : (คำนาม) คติความเชื่อถือ ความคิดเห็น และหลักการ ที่มีผู้นิยมนับถือและปฏิบัติตามสืบเนื่องกันมา เช่น ลัทธิสังคมนิยม ลัทธิชาตินิยม ลัทธิทุนนิยม. (ป. ลทฺธิ ว่า ความเห็น, ความได้).”

“ลัทธิ” ที่เกิดขึ้นและดำเนินไปได้จะต้องประกอบด้วยบุคคล 2 ฝ่ายเสมอ คือ :

(1) ผู้ตั้งลัทธิ หรือ “ศาสดา”

(2) ผู้เลื่อมใสในลัทธิ หรือ “สาวก”

รหัสย + ลัทธิ = รหัสยลัทธิ แปลว่า “หลักคำสอนที่ลึกลับ”

ขยายความ :

คำว่า “รหัสยลัทธิ” ไม่มีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 (คำว่า “รหัสย” พจนานุกรมฯ ก็ยังไม่ได้เก็บไว้) ผู้เขียนบาลีวันละคำหยิบคำนี้มาจากหนังสือ “กามนิต” วรรณกรรมแปลของ เสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป

หนังสือ “กามนิต” แบ่งเรื่องเป็น 2 ภาค คือ ภาคหนึ่ง บนดิน และ ภาคสอง บนสวรรค์ “รหัสยลัทธิ” เป็นชื่อบทที่สิบในภาคหนึ่ง บนดิน

ขอยกข้อความบางตอนในบทที่ชื่อ “รหัสยลัทธิ” มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นความรู้

เริ่มต้นบทที่สิบด้วยข้อความดังนี้ –

…………..

(1) พระสูตรมีความว่าดั่งนี้ “สูเจ้าคิดถึงเทวะด้วยฤๅ…หามิได้! …ไม่แน่นัก….เพราะความว่างเปล่า เพราะคัมภีร์และเพราะตำนาน (อิติหาส)”

…………..

ต่อไป ข้อความตอนหนึ่งเป็นการขยายความว่าดังนี้ –

…………..

(2) “เพราะความว่างเปล่า” หมายความตามหลักแห่งเหตุผลคือว่าถ้าข้าพเจ้าตัดหัวคนหรือหัวสัตว์ ดาบของข้าพเจ้าฟันเข้าไปในระวางอนุปรมาณูอันแยกไม่ได้ เพราะอนุปรมาณูนี้มีลักษณะแยกไม่ได้โดยแท้ ดาบของข้าพเจ้าจึ่งไม่ได้ฟันอนุปรมาณู เพราะฉะนั้น ดาบที่ว่าฟันลงไป จึ่งเป็นฟันในที่ว่างเปล่าระวางอนุปรมาณู ก็ความว่างเปล่าใครเล่าจะเป็นผู้ทำอันตรายได้? เพราะการทำอันตรายในสิ่งที่ไม่มีก็เท่ากับไม่ได้ทำอันตรายในสิ่งไรๆ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เอาดาบฟันลงไปในที่ว่างเปล่า จึ่งไม่ต้องรับผิดและจะรับเทวทัณฑ์ไม่ได้ ถ้าการฆ่ามนุษย์มีความจริงเป็นเช่นนี้แล้วไซร้ กรรมอย่างอื่นที่มนุษย์ลงทัณฑ์แก่กันเบากว่าการฆ่าคนจะมีความจริงอีกสักเพียงไร?

…………..

อีกตอนหนึ่งว่าดังนี้ –

…………..

(3) ในพระเวทอันศักดิ์สิทธิ์สอนว่า สิ่งซึ่งมีภาวะอันแท้จริงมีหนึ่งเท่านั้นคือพรหม ถ้าความนี้เป็นจริง การฆ่าก็เป็นมายา ไม่ได้ฆ่าใคร ในพระเวทกล่าวไว้มากมาย ในตอนที่พระยมบอกแก่นจิเกต ด้วยเรื่องพรหม และด้วยเรื่องอื่นๆ ว่า “ผู้ใดเป็นผู้ประหารก็สำคัญเอาว่าตนเป็นผู้ประหาร ผู้ใดถูกประหาร ก็สำคัญเอาว่าตนตาย เขาทั้งสองไม่รู้แจ้งเลยแท้จริงไม่มีใครประหาร ไม่มีใครถูกประหาร”

…………..

(4) “ผู้ใดกระทำประทุษกรรมเอง หรือให้ทำประทุษกรรม ทำลายเองหรือให้ทำลายทำร้ายเองหรือให้ทำร้าย คร่าชีวิตสัตว์หรือเอาสิ่งที่เขาไม่ให้ ตัดช่องทำลายเข้าไปในเคหสถาน หรือลักขโมยทรัพย์สมบัติเขา หรือจะด้วยเหตุอื่นอย่างไรอีกก็ตาม ผู้นั้นหาต้องรับภาระมีโทษผิดไม่ และผู้ใด ณ บัดนี้และที่นี่ เอาขวานอันลับไว้คมกริบ เปลี่ยนสภาพของสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ ให้ล้มระเนระนาดกลายเป็นกองเดียว ก็ย่อมไม่มีโทษผิดเพราะเหตุอันนั้น และผู้ใดอยู่บนฝั่งใต้แม่คงคา ถางทางโดยประหัตประหารเสียราบคาบก็ย่อมไม่มีโทษผิดเพราะเหตุนั้น และผู้ใดอยู่บนฝั่งเหนือแห่งแม่คงคา ถางทางโดยแจกทานการให้ก็ย่อมไม่ได้บุณย์เพราะเหตุนั้น ผู้ใดบำเพ็ญความมีใจกว้างขวาง ความสงบเสงี่ยมความสละซึ่งความสุข ผู้นั้นหาขึ้นชื่อว่าได้ทำบุณย์ ทำความดีไม่

…………..

เนื้อความตลอดทั้งบทเป็นการแสดงลัทธิความเชื่อความเห็นทำนองนี้

จะเห็นได้ว่า ข้อความเหล่านี้เป็นการพยายามแสดงเหตุผลเพื่อจะให้ผู้ฟังเชื่อว่า การทำบาปต่างๆ-เช่นการฆ่ากันเป็นต้น ไม่เป็นบาปเพราะเหตุเช่นนี้ๆ

คงเป็นเพราะวิธีคิด วิธีมอง วิธีให้เหตุผลที่แปลกประหลาดไปจากสามัญสำนึกของชาวโลกเช่นนี้เอง จึงเรียกคำสอนเช่นนี้ว่า “รหัสยลัทธิ”

ข้อสังเกต :

ข้อความที่หมายเลข (4) ไว้นั้น ถ้าศึกษาสามัญญผลสูตรในพระไตรปิฎกก็จะพบว่า มีเนื้อหาตรงกันกับลัทธิของครูปูรณกัสสปะ 1 ในครูทั้ง 6 ในสมัยพุทธกาล

ขอยกข้อความในสามัญญผลสูตรมาเสนอเพื่อเทียบให้เห็นเป็นตัวอย่าง ดังนี้ –

…………..

(ครูปูรณกัสสปะกล่าวว่า) เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก ทำเขาให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำเขาให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ทำให้เขาดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ดักปล้นในทางเปลี่ยว ทำชู้ภริยาเขา พูดเท็จ ผู้ทำไม่ชื่อว่าทำบาป แม้หากผู้ใดจะใช้จักรซึ่งมีคมโดยรอบเหมือนมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นลานเนื้อเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อกองเดียวกัน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา

แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน บาปที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา

แม้หากบุคคลจะไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา …

ที่มา: สามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 9 ข้อ 94

…………..

“กามนิต” เป็นนิยายอิงพระพุทธศาสนา เป็นวรรณกรรมแปลที่มีสำนวนภาษาไทยไพเราะเพริศพริ้ง นอกจากได้อรรถรสทางภาษา ได้เสพโอชาทางเนื้อเรื่องแล้ว ยังได้ความรู้ทางหลักธรรมและพุทธประวัติในเชิงเปรียบเทียบอีกด้วย

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเชิญชวนญาติมิตรให้ขวนขวายหาหนังสือ “กามนิต” มาอ่านโดยทั่วกัน

…………………………….

กามนิต

http://www.satriwit3.ac.th/…/files/satienbook002.pdf

…………………………….

ดูก่อนภราดา!

: จงปรับความเชื่อให้ตรงกับความจริง

: อย่าเกณฑ์ความจริงให้ตรงกับความเชื่อ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *