บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อำนาจบาตรใหญ่

อำนาจบาตรใหญ่

—————–

มีปัญหาว่า 

๑ “อำนาจบาตรใหญ่” หรือ “อำนาจบาทใหญ่” กันแน่

๒ ทำไมจึงต้องเป็น “-บาตรใหญ่”

๓ คำที่ต่อท้าย “อำนาจ-” ควรเป็น “-บาตรใหญ่” หรือ “-บาทใหญ่”

ข้อมูลจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔

(๑) บาตร : (คำนาม) ภาชนะชนิดหนึ่งสําหรับภิกษุสามเณรใช้รับอาหารบิณฑบาต. (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).

(๒) บาท ๑ : (คำนาม) ตีน, ราชาศัพท์ว่า พระบาท. (ป., ส. ปาท).

(๓) บาท ๒ : (คำนาม) มาตราเงินตามวิธีประเพณี ๑๐๐ สตางค์ หรือ ๔ สลึง เท่ากับ ๑ บาท

…………………………………..

คำตอบข้อ ๑

————-

“อำนาจบาตรใหญ่” หรือ “อำนาจบาทใหญ่” กันแน่

…………………………………..

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ มีคำว่า “บาตรใหญ่” (บาตรตร) บอกไว้ว่า “อํานาจที่ใช้ในทางข่มขี่, ใช้เข้าคู่กับ อํานาจ เป็น อํานาจบาตรใหญ่

แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ตัดคำว่า “บาตรใหญ่” และบทนิยามนี้ออกไป

ทั้ง พจนานุกรมฯ.๔๒ และ พจนานุกรมฯ.๕๔ มีคำว่า “อํานาจบาตรใหญ่” บอกความหมายไว้ว่า “อํานาจที่ใช้ในทางข่มขี่ เช่น ถือว่ามีอำนาจบาตรใหญ่รังแกใครได้ก็ตามใจชอบ

ยุติว่า สะกด “อำนาจบาตรใหญ่” –บาตรพระ ไม่ใช่ “อำนาจบาทใหญ่” –บาทเท้า

…………………………………..

คำตอบข้อ ๒

————-

ทำไมจึงต้องเป็น “-บาตรใหญ่”

…………………………………..

ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) อธิบายไว้ในหนังสือ “สำนวนไทย” ว่า ท่านไม่แน่ใจว่าสำนวนนี้แต่โบราณนั้นใช้-บาด-ตัวไหนแน่ (บาทเงิน บาทเท้า หรือบาตรพระ) แต่สำหรับบาตรพระนั้นมีอยู่ ๓ ขนาด คือ ใหญ่ กลาง เล็ก ซึ่งจะมีความจุต่างกันเล็กน้อย เวลาที่จะตวงอะไรโดยใช้บาตรพระเป็นเครื่องมือสำหรับตวง คนที่ตัวเองมีบาตรใหญ่กว่าจะเอามาใช้ แล้วยืนยันว่าของตนเองถูก ของคนอื่นผิด จึงเกิดเป็นสำนวน “เอาบาตรใหญ่เข้าข่ม” เป็นที่มาของคำว่า “อำนาจบาตรใหญ่” คือหมายถึงบาตรพระ ไม่ใช่บาทเท้า

…………………………………..

คำตอบข้อ ๓

————-

คำที่ต่อท้าย “อำนาจ-” ควรเป็น “-บาตรใหญ่” หรือ “-บาทใหญ่”

…………………………………..

คนปัจจุบันคุ้นกับภาพที่ผู้มีอำนาจกดขี่เหยียบย่ำคนที่ด้อยกว่า การกดขี่เหยียบย่ำนั้นเป็นกิริยาที่ทำด้วยเท้า คือ “บาท” ดังนั้น เมื่อได้ยินคำว่า “อำนาจ-” ต่อด้วยเสียง “บาด” ใหญ่ จึงมีความโน้นเอียงที่จะคิดถึง “บาทเท้า” ได้ง่ายและรู้สึกสอดคล้องกับพฤติการณ์ ประกอบกับไม่คุ้นกับเรื่องขนาดของบาตรพระ จึงคิดไม่เห็นว่า “บาตรพระ” จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับอำนาจได้อย่างไร

นับว่าโชคดีที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานยังคงรักษารูปคำสะกดเดิม คือ “-บาตรใหญ่” ไว้ เท่ากับเป็นพยานหลักฐานที่จะให้สืบค้นไปถึงความเป็นมาได้

และควรขอบคุณผู้รู้รุ่นเก่าที่ได้เล่าถึงที่มาของคำว่า “-บาตรใหญ่” ไว้ เพื่อให้คนภายหลังที่มีภูมิหลังต่างกันได้ศึกษา

แต่ขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มว่า ในอนาคตจะมีผู้เขียนว่า “อำนาจบาทใหญ่” (บาทเท้า) กันมากขึ้น และจะมีผู้นิยมใช้ตามกันมากขึ้นด้วย เพราะเห็นภาพได้ชัดกว่า “อำนาจบาตรใหญ่” (บาตรพระ) ถึงตอนนั้นก็จะมีคนออกมาช่วยกันอธิบายว่า “อำนาจบาทใหญ่” (บาทเท้า) มีความถูกต้องเหมาะสมกว่าเพราะเหตุผลอย่างนั้นๆ

ถึงเวลานั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็คงจะต้องเพิ่มคำนิยามจากเดิมที่ว่า –

อำนาจบาตรใหญ่ : อํานาจที่ใช้ในทางข่มขี่ เช่น ถือว่ามีอำนาจบาตรใหญ่รังแกใครได้ก็ตามใจชอบ

เป็น –

อำนาจบาตรใหญ่ : อํานาจที่ใช้ในทางข่มขี่ เช่น ถือว่ามีอำนาจบาตรใหญ่รังแกใครได้ก็ตามใจชอบ อำนาจบาทใหญ่ ก็ว่า”

และเพิ่มคำตั้งเป็น “อำนาจบาทใหญ่” ขึ้นมาอีกคำหนึ่ง

ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับว่า คนรุ่นใหม่ –

๑ รักที่จะสืบค้นรากเหง้าของตัวเองมากน้อยแค่ไหน หรือรักที่จะชูความเข้าใจเฉพาะหน้าของตัวเองนำหน้ามากกว่า หรือว่า

๒ พอใจที่จะตะลุยไปข้างหน้าโดยไม่เหลียวมองข้างหลัง หรือว่า

๓ เก่าก็ไม่หวังที่จะสนใจ ใหม่ก็ไม่คิดจะเรียนให้รู้ทัน วันๆ คิดแต่จะหาวิธีเสพเสวยสุข

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๖ มกราคม ๒๕๖๕

๑๖:๓๘

…………………………………….

อำนาจบาตรใหญ่

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *