บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ข้อควรระวังของการถ่ายทอด

ข้อควรระวังของการถ่ายทอด

——————————

ท่านผู้หนึ่งยกเรื่องพระภิกษุสมัยพุทธกาลมาเล่าว่า แรกๆ ภิกษุไม่ได้อนุโมทนาเมื่อมีผู้ถวายภัตตาหารและฉันเสร็จ ในขณะที่นักบวชลัทธิอื่นๆ บริโภคเสร็จแล้วกล่าวคำอนุโมทนาแก่เจ้าภาพ นักบวชเหล่านั้นพากันตำหนิภิกษุที่ไม่อนุโมทนา เมื่อพระพุทธองค์ทรงสดับคำตำหนิ จึงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุอนุโมทนา เป็นแบบอย่างมาจนทุกวันนี้

อีกท่านหนึ่งนำเรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐีมาเล่าว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ฟังข่าวเรื่องพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วจากลูกเขยที่อยู่เมืองราชคฤห์ จึงเดินทางไปเฝ้า ได้ฟังธรรมแล้วมีความเลื่อมใส เมื่อกลับมาเมืองสาวัตถีจึงซื้อที่ดินจากเจ้าเชตในราคาแพงแล้วถวายแก่พระพุทธเจ้า

ทั้ง ๒ เรื่องนี้ ฟังผ่านๆ ก็ราบรื่นดี แต่ถ้าศึกษาให้ละเอียดจะพบว่า มีจุดที่ผิดจากข้อเท็จจริงที่คัมภีร์บันทึกไว้

๑ เรื่องภิกษุอนุโมทนา 

ผู้ที่ตำหนิภิกษุที่ไม่อนุโมทนา ไม่ใช่นักบวชที่บริโภคแล้วอนุโมทนา หากแต่เป็นเจ้าภาพผู้ถวายภัตตาหารเป็นผู้ตำหนิ (ดูเรื่องในธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๗ เรื่องเดียรถีย์)

๒ เรื่องอนาถบิณฑิกเศรษฐี –

(1) ท่านได้ฟังเรื่องพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว (พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้วในโลก) จากเศรษฐีเมืองราชคฤห์ในขณะที่ท่านไปพักที่บ้านของเศรษฐีนั้น เศรษฐีผู้นั้นเป็นพี่ของภรรยา ไม่ใช่ลูกเขย ถ้าใช้คำว่า “เขย” ตามวัฒนธรรมไทย ตัวท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็น “น้องเขย” ของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ตัวเศรษฐีเมืองราชคฤห์เป็น “พี่เมีย” (ไม่ใช่ “พี่เขย” เพราะพี่เขยหมายถึงสามีของพี่สาว)

(2) ท่านซื้อที่ดินแล้วสร้างวัดบนที่ดินนั้น คือเชตวนาราม หรือวัดพระเชตวัน แล้วจึงถวายวัดให้เป็นของสงฆ์ ไม่ใช่ซื้อที่ดินแล้วถวายแก่พระพุทธเจ้า (ดูรายละเอียดในเสนาสนขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๒๔๑, ๒๔๔, ๒๕๖, ๒๗๐)

……………………

การนำเรื่องราวในคัมภีร์ไปถ่ายทอด ต้องระวัง อย่าให้คลาดเคลื่อน เพราะถ้าคลาดเคลื่อน ผู้รับข้อมูลก็จะเข้าใจผิดจากเรื่องจริง และถ้าผู้รับข้อมูลคลาดเคลื่อนนั้นนำไปถ่ายทอดต่อไปอีก ความคลาดเคลื่อนก็จะขยายวงออกไปเรื่อยๆ 

ปัจจุบันผู้คนขาดความอุตสาหะที่จะสืบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็จะพากันยึดถือเอาความคลาดเคลื่อนนั้นว่าเป็นความถูกต้อง อาจกลายเป็นข้อมูลใหม่ที่แปลกปลอมขึ้นในคัมภีร์ ถูกนำไปอ้างอิง ทำให้เกิดความสับสนฟั่นเฟือน

…………………………………..

เช่นกรณีอนาถบิณฑิกเศรษฐีซื้อที่ดิน ต่อไปอาจมีผู้นำไปเล่าต่อโดยอ้างว่า หลักฐานบางแห่งว่าซื้อที่ดินแล้วสร้างวัดแล้วถวายให้เป็นของสงฆ์ แต่หลักฐานบางแห่งบอกว่าซื้อที่ดินแล้วถวายแก่พระพุทธเจ้า

กลายเป็นทำเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้วให้เป็นเรื่องสับสนพร่ามัว

…………………………………..

การนำเรื่องราวในคัมภีร์ไปเผยแพร่นั้น ควรแก่การอนุโมทนา 

ขอร้องเพียงว่า พึงทำด้วยความรอบคอบเป็นพิเศษ

ขอถือโอกาสนี้ปวารณาแก่ญาติมิตรและท่านทั้งปวงบรรดาที่ได้อ่านบทความหรือข้อเขียนของผมไม่ว่าจะโดยช่องทางใดๆ หากท่านเห็นข้อใดประเด็นใดผิดพลาดคลาดเคลื่อนด้วยประการใดๆ ขอได้โปรดอาศัยความกรุณา (อนุกมฺปํ อุปาทาย) ทักท้วงเตือนติง เพื่อจักได้ตรวจสอบแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป และขอขอบพระคุณอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๘ มกราคม ๒๕๖๕

๑๘:๒๐

……………………………………….

ข้อควรระวังของการถ่ายทอด

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *