ปารังคโต (บาลีวันละคำ 3,955)
ปารังคโต
ฝากไว้โชว์ลีลาบาลีอีกสักคำ
อ่านว่า ปา-รัง-คะ-โต
“ปารังคโต” เขียนแบบบาลีเป็น “ปารงฺคโต” (ลบไม้หันอากาศ เติมจุดใต้ ง งู) รูปคำเดิมเป็น “ปารงฺคต” อ่านว่า ปา-รัง-คะ-ตะ ประกอบด้วยคำว่า ปาร + คต
(๑) “ปาร”
อ่านว่า ปา-ระ รากศัพท์มาจาก ปารฺ (ธาตุ = ไป, ถึง; อาจ, สามารถ) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปารฺ + อ = ปาร แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่อันเรือเป็นต้นถึง” (หมายถึงฝั่ง) (2) “สภาวะที่สามารถดับความเร่าร้อนเพราะทุกข์ในสงสารได้” (หมายถึงพระนิพพาน)
“ปาร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) (คำนาม. นปุงสกลิงค์) อีกข้างหนึ่ง, ฝั่งตรงกันข้าม the other side, the opposite shore)
2 (กริยาวิเศษณ์) ทางโน้น, โพ้น, อีกข้างหนึ่ง, ข้ามไป (beyond, over, across)
3. (คุณศัพท์) อีกอย่างหนึ่ง, อีกอันหนึ่ง (another)
บาลี “ปาร” สันสกฤตก็เป็น “ปาร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ปาร” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปาร : (คำนาม) ฝั่งหรือฟากข้างโน้น; อวสาน, ที่สุด, ปลายสุด, เขตต์สุด; ปรอท; น้ำมาก; เชือกล่ามเท้าช้าง; โอ่งน้ำลูกเล็กๆ, ไหใส่น้ำ; เรณูของผกา; บานภาชน์, ถ้วย, ถ้วยแก้ว; ถังนม; the further or opposite bank of a river; the end, the last, the extremity; quicksilver; a quantity of water; a rope for tying an elephant’s feet; a small water-jar; the pollen of a flower; a drinking-vessel, a cup, a glass; a milk-pail.”
(๒) “คต”
อ่านว่า คะ-ตะ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ต ปัจจัย, ลบที่ สุดธาตุ (คมฺ > ค)
: คมฺ + ต = คมต > คต แปลตามศัพท์ว่า “ไปแล้ว” “ถึงแล้ว”
“คต” ในบาลีใช้เป็นกริยา (กิริยากิตก์) และใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง –
(1) ไปแล้ว, ถึงแล้ว, ตรงไป (gone away, arrived at, directed to)
(2) เกี่ยวข้องกับ, หมายถึง, เกี่ยวเนื่องกับ (connected with, referring to, concerning, relating to)
ปาร + คต ซ้อน งฺ หน้า ค อันเนื่องมาจาก ง เป็นพยัญชนะที่สุดวรรคของ ค คือ ก ข ค ฆ ง (กะ ขะ คะ ฆะ งะ)
: ปาร + งฺ + คต = ปารงฺคต (ปา-รัง-คะ-ตะ) แปลว่า “ถึงแล้วซึ่งฝั่ง”
ขยายความ :
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ปารงฺคต” ไว้ดังนี้ –
(1) one who has reached the opposite shore (ผู้ถึงฝั่งตรงกันข้าม)
(2) one who has gone over to another party (ผู้เปลี่ยนไปเข้ากับอีกฝ่ายหนึ่ง)
คำที่มีรากศัพท์มาทางเดียวกับ “ปารงฺคต” มีอีก 2 คำ คือ “ปารค” (ปา-ระ-คะ) และ “ปารคู” (ปา-ระ-คู
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายไว้ดังนี้ –
“ปารค” : “going beyond,” traversing, crossing, surmounting (“ถึงฝั่ง”, ข้ามไป, ข้ามพ้นหรือเอาชนะได้)
ปารคู :
(1) ข้ามพ้น, คือผ่านไปแล้ว, ลุล่วง, ชนะ, ข้ามแล้ว (gone beyond, i. e. passed, transcended, crossed
(2) ไปถึงปลาย ( = ที่สุด) ของ- (gone to the end of),
(3) บรรลุถึงความเป็นเลิศ, ชำนาญ, ช่ำชอง, คุ้นเคย, ผู้รู้ในเรื่อง- (reached perfection in, well-versed in, familiar with, an authority on)
สรุปว่า “ปารค” “ปารคู” และ “ปารงฺคต” มีความหมายไปในทางเดียวกัน
“ปารงฺคต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) ปุงลิงค์ เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “ปารงฺคโต”
คัมภีร์อรรถกถาขยายความคำว่า “ปารงฺคโต” ไว้ดังนี้ –
…………..
ปารงฺคโตติ นิพฺพานํ คโต ฯ
แปล: คำว่า ปารงฺคโต หมายถึง ผู้บรรลุพระนิพพาน
ที่มา: ปปัญจสูทนี ภาค 3 หน้า 871 (อนาถปิณฺฑิโกวาทสุตฺตวณฺณนา)
…………..
“ปารงฺคโต” เขียนแบบไทยเป็น “ปารังคโต” เป็นคำที่ใช้กับผู้ชาย
“ปารังคโต” ถ้าใช้กับผู้หญิง เปลี่ยนรูปเป็น “ปารังคตา”
เวลาทำงานสำเร็จหรือบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอให้อุทานออกมาเป็นบาลีว่า “ปารังคโต!” หรือ “ปารังคตา!” ตามเพศ มีความหมายไม่แพ้ “ชิตํ เม” นั่นเทียว!
ถ้ายังไม่ทราบว่า “ชิตํ เม” มีความหมายอย่างไร ก็ต้องตามไปศึกษากันต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แม้วันนี้จะเป็นแค่คำอุทาน
: แต่วันหนึ่งเราจะไปถึงพระนิพพานได้จริง
#บาลีวันละคำ (3,955)
11-4-66
…………………………….
…………………………….