บาลีวันละคำ

อาทร-สาทร (บาลีวันละคำ 323)

อาทร-สาทร

อาทร” อ่านว่า อา-ทะ-ระ ภาษาไทยอ่านว่า อา-ทอน

อาทร” มาจาก อา + ทรฺ (ธาตุ = เอื้อเฟื้อ) มีความหมายว่า ความยำเกรง, ความนับถือ, ความคำนึงถึง, ความเอาใจใส่, ความเคารพ, ความเอื้อเฟื้อ, ความให้เกียรติ, การให้ความสำคัญ

พจน.42 ให้ความหมายตามที่เข้าใจกันในภาษาไทย คือ ความเอื้อเฟื้อ, ความเอาใจใส่, ความห่วงใย

มีคำใหม่ที่นิยมพูดกันคือ “เอื้ออาทร

บาลีมีคำที่เนื่องมาจาก “อาทร” อีกคำหนึ่ง คือ “สาทร” อ่านว่า สา-ทะ-ระ ภาษาไทยอ่านว่า สา-ทอน

สาทร” มาจาก + อาทร

” (สะ) เป็นคำที่ลดรูปมาจาก “สห” (สะ-หะ) แปลว่า พร้อมกับ-, มี : สาทร = พร้อมกับอาทร, มีอาทร หรือลดรูปมาจาก “สมฺพนฺธ” แปลว่า ผูกพัน  : สาทร =ผูกพันด้วยอาทร

สาทร” เป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า เคารพนบนอบ, ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง, ทำอย่างทุ่มเท, ทำอย่างสุดหัวใจ

สาทร” ที่เป็นชื่อสถานที่ (มาจากนามบรรดาศักดิ์ “หลวงสาทรราชายุตก์” สมัยรัชกาลที่ 5) เคยเขียนเป็น “สาธร” (ธ ธง) กันมานาน พลอยให้คำในที่อื่นถูกเขียนเป็น “สาธร” ไปด้วย เช่น

“ธรรมะคือคุณากร ส่วนชอบสาทร ดุจดวงประทีปชัชวาล” เขียนเป็น “ส่วนขอบสาธร” ทั้งนั้น

“สาทร” มีใช้ในบาลี แต่ไม่มี “สาธร”

: “ส่วนชอบสาทร” = ธรรมะคำสอนที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

บาลีวันละคำ (323)

31-3-56

อาทร ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ความเอื้อเฟื้อ, ความเอาใจใส่, ความให้เกียรติ.

อาทร (อา + ทร) (บาลี-อังกฤษ)

ความเกรงกลัว, ความคำนึงถึง, ความนับถือ, ความเอาใจใส่, ความเคารพ, เกียรติ consideration of, esteem, regard, respect, reverence, honour

สาทร (ส + อาทร, คุณ.) เคารพนบนอบ reverential

สาทริย, สาทริยตา การแสดงถึงความเอื้อเฟื้อและคำนึงถึง showing regard and consideration

ทรฺ อาทเร ธาตุ ในความหมายว่าเอื้อเฟื้อ(ศัพท์วิเคราะห์)

อาทร

 [-ทอน] น. ความเอื้อเฟื้อ, ความเอาใจใส่, ความห่วงใย. (ป., ส.).

สาทร เขต ขึ้น กรุงเทพมหานคร ละติจูด ๑๓? ๔๒?.๕ เหนือ ลองจิจูด ๑๐๐? ๓๑?.๕ ตะวันออก มีเนื้อที่ ๙. ๓๓ ตร.กม. ตั้งสำนักงานเขตที่แขวงทุ่งวัดดอน ทิศเหนือติดต่อกับเขตบางรักและเขตปทุมวัน ทิศตะวันออกติดต่อกับเขตคลองเตย ทิศใต้ติดต่อกับเขตยานนาวาและเขตบางคอแหลม ทิศตะวันตกจดแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งแบ่งเขตระหว่างเขตสาทรกับเขตคลองสาน

เขตสาทร เดิมเป็นพื้นที่อยู่ใน อ.บ้านทวาย จ.พระประแดง ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๕๘ อ.บ้านทวาย โอนมาขึ้นกับ จ.พระนคร และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ยานนาวา ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๒ มีประกาศกระทรวงมหาดไทยแยกพื้นที่บางส่วนของเขตยานนาวา ตั้งเป็นสำนักงานเขตยานนาวา สาขา ๑ จนปลายปีเดียวกันจึงเปลี่ยนฐานะเป็นเขตสาธร และเปลี่ยนตัวสะกดชื่อเป็นเขตสาทรตามนามบรรดาศักดิ์ของหลวงสาทรราชายุตก์เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๒ เขตสาทรมี ๓ แขวง คือ ๑. ทุ่งวัดดอน ๒. ทุ่งมหาเมฆ ๓. ยานนาวา

(อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย)

สาทร (๓๐ มีนาคม ๒๕๕๓) 

     สาทร

          มีคำถามเข้ามายังราชบัณฑิตยสถานหลายครั้งเกี่ยวกับการสะกดคำว่า “สาทร” ที่เป็นชื่อเขต ถนน คลองและสะพาน ว่าควรสะกดว่า “สาทร” หรือ “สาธร”  คำนี้มีความสับสนกันมานานพอสมควร จนกระทั่งกรุงเทพมหานครได้ประสานกับราชบัณฑิตยสถานขอให้ตรวจสอบคำสะกดที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือ “สาทร”

          พจนานุกรมวิสามายนามไทย : วัด วัง ถนน สะพาน ป้อม ของนางสาวกนกวลี ชูชัยยะ พิมพ์เผยแพร่โดยราชบัณฑิตยสถาน ได้เล่าถึงคำ “สาทร” ว่า ใน พ.ศ. ๒๔๓๑ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คหบดีชื่อ เจ๊สัวยม ได้กว้านซื้อที่ดินระหว่างถนนสีลมกับบ้านทวายแล้วให้ขุดคลองผ่านที่ดินจากนั้นนำดินที่ขุดได้มาถมเป็นถนนสองฝั่งคลอง เรียกว่า คลองเจ๊สัวยม  ต่อมาเมื่อเจ๊สัวยมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงสาทรราชายุตก์” คนทั่วไปจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า คลองสาทรราชายุตก์ ต่อมาจึงเหลือสั้นลงเป็น คลองสาทร คำว่า สาทร นั้น จากการตรวจสอบเอกสารสมัยราชกาลที่ ๕ พบว่า ใช้ทั้ง สาทร และ สาธร  ราชบัณฑิตยสถานได้ตรวจสอบแล้วพบว่า นามศักดิ์ของขุนนางที่มีคำว่า สาทร นำหน้ามักใช้ว่า สาทร แต่ก็มีการใช้ว่า สาธร ด้วย และเมื่อตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับบรรดาศักดิ์หลวงสาทรราชายุตก์ในเอกสารชั้นต้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เกี่ยวข้องกับหลวงสาทรราชายุตก์ (ยม) ก็ใช้ทั้ง หลวงสาทรราชายุตก์ และ หลวงสาธรราชายุตก์ แต่เอกสารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเขียนชื่อ ถนนสาทร ว่า สาทร และปรากฏในลายพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามสกุลแก่นายเสถียรรักษาหรือจมื่นอินทรประภาษ (หลี) ปลัดวังซ้าย เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๔๕๖ ว่า “สาทรานนท์” โดยทรงหมายเหตุไว้ว่า พระเสถียรรักษามีปู่ชื่อ “พระสาทรราชายุตก์ (เผง)” ซึ่งเป็นเหตุผลที่พระราชทานนามสกุลแก่ผู้สืบสายตระกลูว่า “สาทรานนท์” ดังนั้น ราชบัณฑิตยสถานถึงแจ้งกรุงเทพมหานครว่า ควรใช้ “สาทร” เพื่อเป็นเกียรติแก่หลวงสาทรราชายุตก์  กรุงเทพมหานครจึงได้จัดทำประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงชื่อ เขตสาธร เป็น เขตสาทร รวมทั้งชื่อถนน คลอง และสะพาน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑.

อิสริยา  เลาหตีรานนท์

หลวงสาทรราชายุตก์ (ยม) กรมท่าซ้าย  เกิดเมื่อ พ.ศ.2400  ภรรยาชื่อริ้ว เป็นบุตรพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม) และ (ขรัวยาย) ปราง มาจากสกุลสมบัติศิริ (หลวงสาทรฯ เป็นน้องของเจ้าจอมมารดาอ่วม และพี่ของเจ้าจอมมารดาเอม ในรัชกาลที่ 5) ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 1 ชั่ง

 ป่วยเป็นอหิวาตกโรคมาตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน ร.ศ.114 ได้หาหมอฝรั่งมารักษา อาการหาคลายไม่ จึงเปลี่ยนให้หมอพุดเชลยศักดิ์รักษา อาการทรุดหนักลง รุ่งขึ้นวันที่ 1 พฤษภาคม หลวงสาทรฯ ถึงแก่กรรม อายุได้ 38 ปี พระราชทานน้ำอาบศพ หีบเชิงชายเป็นเกียรติยศ

พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม) เป็นผู้ขุดคลองภาษีเจริญ และเจ้าของเรือเมล์ไปสิงคโปร์

เมื่อเจ้าสัวยิ้มถึงแก่กรรม นายยมได้สืบต่องานขุดคลอง และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกอมปนีขุดคลองแลคูนามสยาม และเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการจากรัชกาลที่ 5 ในการจัดหาสิ่งของต่างๆ สำหรับใช้ในการก่อสร้างพระราชวังบางปะอิน จนเมื่อการก่อสร้างสำเร็จลงแล้ว ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า หลวงสาทรราชายุตต์

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย