อาสัญ (บาลีวันละคำ 324)
อาสัญ
(คำไทยที่คล้ายบาลี)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เก็บคำว่า “อาสัญ” ไว้ มีคำอธิบายว่า
1 แปลว่า “ความตาย” เป็น “คำแบบ” หมายถึงคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
2 เป็นคำกริยา แปลว่า “ตาย” ใช้ในวรรณคดี ยกตัวอย่างในเรื่องสังข์ทองตอนหนึ่งว่า “โทษลูกนี้ผิดเป็นนักหนา ดังแกล้งผลาญมารดาให้อาสัญ”
3 อ้างอิงคำบาลี “อสญฺญ” ว่าไม่มีสัญญา (คือหมดความรู้สึก)
“อสญฺญ” ในบาลี แปลว่า ไม่รู้สึกตัว, ปราศจากความรู้สึก ถ้าควบกับคำว่า “-สตฺตา” เป็น “อสญฺญสตฺตา” หรือ “อสญฺญีสตฺตา” เป็นชื่อของพรหมจำพวกหนึ่ง มีรูป แต่ไม่มีนาม คนเก่าเรียกกันว่า “พรหมลูกฟัก”
ในภาษาไทยมีคำว่า “ถึงแก่อสัญกรรม” หมายถึงตาย ใช้กับบุคคลบางระดับ
อาจเป็นเพราะเรายกว่าความตายของบุคคลบางระดับไม่ใช่ตาย แต่เป็นเพียง “หมดความรู้สึก” หรือให้เกียรติว่าผู้ตายมีคุณธรรรมที่สมควรจะไปเกิดเป็นพรหม จึงใช้คำว่า “อสัญญะ” แล้วกลายเป็น “อาสัญญะ” แล้วกร่อนเหลือแค่ “อาสัญ”
บางคน : ตายแล้วแต่เหมือนยังไม่ตาย
บางคน : ยังไม่ตายก็เหมือนตายไปแล้ว
————–
(จากเมตตาชี้แนะของพระคุณเจ้า อาทิตฺตเมธี ภิกฺขุ)
บาลีวันละคำ (324)
1-4-56
ล้นเฟรม
อย่างไรก็ตาม บาลีมีคำว่า “อาสนฺน” (อา-สัน-นะ) แปลว่า ใกล้ เช่นคำว่า “อาสันนกรรม” คือกรรมที่ทำเมื่อใกล้ตาย
“อาสันนะ” เสียงกร่อนเป็น “อาสัน” ได้ แล้วก็เขียนผิดเป็น “อาสัญ” ได้อีก
อาสัญ
(แบบ) น. ความตาย.(วรรณ) ก. ตาย เช่น โทษลูกนี้ผิดเป็นนักหนา ดังแกล้งผลาญมารดาให้อาสัญ. (สังข์ทอง). (ป. อสญฺ ว่า ไม่มีสัญญา).
อาสันนะ
ว. ใกล้, เกือบ. (ป., ส.).
อสัญ-
[อะสันยะ-] ว. ไม่รู้สึกตัว, สิ้นสติ. (ป. อสญฺญ).
อสัญกรรม
น. ความตาย, ใช้กับผู้ตายที่มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา หรือผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี องคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานสภา หรือผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าว่า ถึงแก่อสัญกรรม.
อสัญญี
ว. ไม่มีสัญญา, หมดความรู้สึก, สลบ. (ป.).
อสัญญีสัตว์
น. พรหมพวกหนึ่งมีรูปแต่ไม่มีสัญญา ดังมีกล่าวไว้ในไตรภูมิกถา. (ป. อสญฺญีสตฺต).
อสญฺญี ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ไม่มีสัญญา, ไม่ความจำได้, ไม่มีความรู้สึก.
อสญฺญ (บาลี-อังกฤษ)
ไม่รู้สึกตัว, ปราศจากความรู้สึก, ชื่อของเทวดาจำพวกหนึ่ง
อสญฺญี
ไม่มีความรู้สึก
อาสนฺน
(คุณ) ใกล้