งานของคนชอบจับผิดชาวบ้าน
งานของคนชอบจับผิดชาวบ้าน
——————————
ขอเชิญญาติมิตรอ่านข้อความในภาพประกอบที่เป็นภาษาไทยก่อนนะครับ
ข้อความในภาพอ่านได้ดังนี้
…………………..
ภูเขาศิลาแห่งเดียว
ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยลม
… ฉันใด …
บัณฑิตทั้งหลายก็ไม่หวั่นไหว
ด้วยการนินทาและสรรเสริญฉันนั้น
พุทธพจน์
…………………..
ภาพนี้ผมอ่านเจอทางเฟซบุ๊กนี่แหละครับ นานมาแล้ว จำไม่ได้แล้วว่าเป็นของท่านใดนำมาเผยแพร่
เห็นลงว่าเป็น “พุทธพจน์” ผมก็ต้องสนใจเป็นธรรมดา
อะไรที่ใครบอกว่าเป็น “พุทธพจน์” นี่ ผมอยากเชิญชวนให้ชาวพุทธเราสนใจกันให้มากสักหน่อย
ถ้าเป็นพุทธพจน์จริง เราก็ได้รับรสพระธรรมวินัย เป็นอันได้ประโยชน์โดยตรงจากพระศาสนา
ถ้าไม่ใช่พุทธพจน์ เราก็ได้ความรู้ คือรู้ว่ามีคนเอาสิ่งที่ไม่ใช่พุทธพจน์มาแอบอ้าง
การเอาสิ่งที่ไม่ใช่พุทธพจน์มาแอบอ้างว่าเป็นพุทธพจน์ ผู้รู้ท่านเรียกว่า-เป็นการประทุษร้ายทางปัญญาแก่สังคม คือทำให้คนทั้งหลายเกิดเข้าใจผิด
แต่ไม่ใช่จะมาชวนให้มองไปว่า อะไรที่ “ไม่ใช่พุทธพจน์” จะไม่ดีนะครับ
อะไรที่ “ไม่ใช่พุทธพจน์” นั้น อาจจะดี มีประโยชน์ เพียงแต่ขอให้บอกไปตามตรงว่า-นี่ไม่ใช่พุทธพจน์นะ อันเป็นความซื่อตรงตามวิสัยของสาธุชนทั้งหลาย
ทีนี้มาดูข้อความจากภาพ เมื่อบอกว่าเป็น “พุทธพจน์” ผมก็ใช้วิชาเท่าที่เรียนมาไปตรวจสอบดู
อันที่จริง นักเรียนบาลีในเมืองไทยถ้าได้เห็นข้อความนี้ย่อมจะระลึกได้ว่า “เคยผ่านตา” เพราะปรากฏอยู่ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔ เรื่อง ลกุณฏกภัททิยเถระ
คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔ ปัจจุบันนี้เป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลีชั้นประโยค ๑-๒
ควรรู้ต่อไปอีกด้วยว่า ที่มาต้นเดิมของ “พุทธพจน์” บทนี้อยู่ในคัมภีร์ธรรมบท อันเป็นคัมภีร์ชั้นพระบาลีหรือชั้นพระไตรปิฎก
ธัมมปทัฏฐกถาเป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถา อธิบายขยายความคัมภีร์ธรรมบทนั้นอีกทีหนึ่ง
เอาคร่าวๆ นะครับ พอให้มองภาพออก
เมื่อรู้ที่มาต้นเดิม เราก็ตามไปดูที่คัมภีร์ต้นเดิม ซึ่งในที่นี้คือคัมภีร์ธรรมบท
ลัดตัดตรงไปเลย – คัมภีร์ธรรมบทอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ช่วยกันจำตัวเลขนี้ไว้ด้วยก็จะดีนะครับ
…………………..
แค่ท่านพูดกับใครๆ ที่สนใจพระศาสนาว่า “คัมภีร์ธรรมบทอยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕” – รับรองว่าคนฟังจะรู้สึก “ทึ่ง” ในตัวท่านเป็นอันมาก (แม้ว่าตามสัตย์จริงท่านจะรู้แค่นั้นเองก็ตามทีเถิด!)
…………………..
แต่ว่าพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ นี่ไม่ใช่มีเฉพาะคัมภีร์ธรรมบทเรื่องเดียว แต่รวมเรื่องอื่นๆ ไว้อีกด้วย
แต่ไม่ต้องห่วงครับ ผ่านเรื่องอื่นๆ ไปก่อน เจาะตรงไปที่ธรรมบทกันเลย
คัมภีร์ธรรมบทจะแบ่งเรื่องออกเป็น “วรรค” หลายวรรค หนึ่งในจำนวนวรรคเหล่านี้มีชื่อเรียกแบบไทยๆ ว่า “บัณฑิตวรรค”
เปิดหา “บัณฑิตวรรค” ให้เจอ ถ้าไม่เคยเปิดก็อาจจะเสียเวลาหน่อย แต่รับรองว่าไม่หนีไปไหนหรอกครับ ในที่สุดก็ต้องเจอ
ในบัณฑิตวรรค (บาลี-ปณฺฑิตวคฺค) มีข้อความที่เป็นคาถา (คาถา = คำกลอนในภาษาบาลี) บทหนึ่ง ว่าดังนี้
…………………..
เสโล ยถา เอกฆโน
วาเตน น สมีรติ
เอวํ นินฺทาปสํสาสุ
น สมิญฺชนฺติ ปณฺฑิตา.
…………………..
พระไตรปิฎกภาษาไทยแปลไว้ว่า
…………………..
ภูเขาหินล้วน เป็นแท่งทึบ
ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะลม ฉันใด
บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่หวั่นไหว
เพราะนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น
…………………..
โปรดเทียบกับข้อความในภาพ
…………………..
ภูเขาศิลาแห่งเดียว
ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยลม
… ฉันใด …
บัณฑิตทั้งหลายก็ไม่หวั่นไหว
ด้วยการนินทาและสรรเสริญฉันนั้น
…………………..
ทีนี้ก็มาถึงประเด็นที่ผมตั้งใจจะพูด นั่นก็คือ ข้อความในภาพบอกว่า “ภูเขาศิลาแห่งเดียว”
พระไตรปิฎกภาษาไทยบอกว่า “ภูเขาหินล้วน เป็นแท่งทึบ”
ข้อความทั้งสองนี่แปลมาจากคำบาลีคำเดียวกันว่า “เสโล … เอกฆโน”
“เสโล” ข้อความในภาพแปลว่า “ภูเขาศิลา”
พระไตรปิฎกภาษาไทยแปลว่า “ภูเขาหินล้วน”
“เอกฆโน” ข้อความในภาพแปลว่า “แห่งเดียว”
พระไตรปิฎกภาษาไทยแปลว่า “เป็นแท่งทึบ”
จะเห็นได้ว่า คำแปล “เอกฆโน” นี้ ความหมายต่างกันจนกลายเป็นคนละเรื่อง
“เอก” แปลว่า “หนึ่ง” ไม่มีปัญหา คนไทยรู้ความหมายดีอยู่แล้ว
“ฆโน” รูปคำเดิมคือ “ฆน” (คะ-นะ) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลว่า solid, compact, massive; dense, thick (แข็ง, แน่น, เป็นก้อน, ทึบ, หนา)
ชี้แจงนิดนะครับ ที่ยกคำแปลเป็นอังกฤษมาอ้างนี้ไม่ใช่ว่าผมเก่งอังกฤษ แต่เป็นเพราะคนไทยสมัยนี้ได้ยินพระหรือใครพูดคำบาลีแล้วบ่นกันมากเหลือเกินว่าฟังไม่รู้เรื่อง
แต่พอใครพูดภาษาอังกฤษ ผมไม่เคยได้ยินใคร-โดยเฉพาะคนที่บ่นภาษาบาลี-บ่นเลยว่าฟังไม่รู้เรื่อง
จึงสันนิษฐานว่า คนสมัยนี้เห็นคำอังกฤษแล้วน่าจะเข้าใจคำบาลีได้ง่ายขึ้น
ทีนี้ คำว่า “ฆน” นี้ เมื่อรวมกับ “เอก” เป็น “เอกฆน” (ที่ในคาถาเป็น “เอกฆโน”) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็แปลว่า of one solid mass [of sela, rock] (เป็นก้อนตันก้อนหนึ่ง [พูดถึง สิลา, หิน])
สรุปความเพื่อไม่ให้ยืดยาวเกินไปว่า “เอกฆโน” แปลเป็นไทยว่า “เป็นก้อนตันก้อนหนึ่ง” (of one solid mass)
“เสโล … เอกฆโน” จึงหมายถึง ภูเขาที่เป็นหินตันทึบทั้งลูก ไม่มีโพรงไม่มีช่องเลย
ตรงกับที่พระไตรปิฎกภาษาไทยแปลว่า “เป็นแท่งทึบ”
ข้อความในภาพที่แปลว่า “แห่งเดียว” จึงผิดพลาด
ผมว่าหลายคน-พออ่านมาถึงตรงนี้ จะเดาได้แล้วว่า คำว่า “แห่งเดียว”ตามข้อความในภาพนั้น ต้นฉบับเขียนว่า “แท่งเดียว” (แท่ง- ท ทหาร) คือเป็นแท่งทึบแท่งเดียว (แท่ง = ฆน เดียว = เอก)
แต่คนที่คัดลอกข้อความ อ่าน “แท่ง” (ท ทหาร) ผิดไป คือเห็น ท ทหาร เป็น ห หีบ
“แท่งเดียว” จึงกลายเป็น “แห่งเดียว”
ตัวอักษรต่างกันตัวเดียว แต่ทำให้ความหมายคลาดเคลื่อนไปคนละโยชน์
มองเห็นโทษภัยกันมั่งนะครับ
นี่แหละครับ งานของคนชอบจับผิดชาวบ้าน
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓
๑๘:๕๙
…………………………….