บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

หอไตร

หอไตร

——-

คำว่า “หอไตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายไว้ว่า –

………………………………………

หอไตร : (คำนาม) หอสําหรับเก็บพระไตรปิฎก.

………………………………………

สมัยพุทธกาล การศึกษาพระธรรมวินัยใช้วิธีทรงจำคำสอนไว้ด้วยใจ ยังไม่มีระบบบันทึกคำสอนเป็นเล่มคัมภีร์ 

จนเมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปตั้งมั่นอยู่ในลังกาทวีป พระเถระผู้บริหารการพระศาสนาคำนึงว่า สืบไปภายหน้ากุลบุตรจะถอยปัญญา บมิอาจจะทรงจำคำสอนไว้ได้ครบถ้วนบริบูรณ์เหมือนกาลก่อน ควรจารึกพระธรรมวินัยลงเป็นลายลักษณ์อักษร จึงประชุมกันจารพุทธพจน์ลงในใบลานเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๕ (พ.ศ.๔๕๐ บางมติว่า พ.ศ.๔๓๖) พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือเล่มคัมภีร์ที่เรียกรู้กันว่า “พระไตรปิฎก” จึงมีมาตั้งแต่บัดนั้น

ตั้งแต่นั้น พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปถึงถิ่นไหน พระไตรปิฎกก็มีไปถึงถิ่นนั้น และมีผู้มีจิตศรัทธานิยมคัดลอกพระไตรปิฎกหรือที่เรียกกันในภาษาไทยสมัยเก่าว่า “สร้าง” แล้วนำไปถวายภิกษุหรือถวายไว้ประจำวัดเพื่อใช้ศึกษาพระธรรมวินัย นับถือกันว่าเป็นของสำคัญเสมือนเป็นองค์พระบรมศาสดา และถือว่าเป็นวิธีสืบอายุพระศาสนาที่สำคัญยิ่ง

ด้วยเหตุว่าเป็นของสำคัญเช่นนี้จึงต้องมีสถานที่เก็บรักษาโดยเฉพาะโดยนิยมสร้างขึ้นเป็นเอกเทศต่างหากจากเสนาสนะอื่นๆ ในภาษาไทยเรียกสถานที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกว่า “หอพระไตรปิฎก” และเรียกตัดลัดลงไปเป็น “หอไตร

เมื่อมีการสร้างอารามถวายเป็นของสงฆ์แพร่หลายขึ้นแล้ว “หอไตร” จึงเป็นส่วนหนึ่งที่นิยมสร้างขึ้นไว้ในอาราม เป็นที่สำหรับให้ภิกษุค้นคว้าศึกษาพระธรรมวินัยประจำอารามนั้นๆ การสร้าง “หอไตร” ขึ้นในวัดได้กลายเป็นแบบแผนในการสร้างวัดสืบมาจนถึงปัจจุบัน 

และ “หอไตร” จึงเป็น “หอ” ที่สำคัญในบรรดา “ห้าหอ” ที่วัดต่างๆ อันสร้างถูกต้องตามแบบแผนจะต้องมี กล่าวคือ 

๑ หอฉัน 

๒ หอสวดมนต์ 

๓ หอระฆัง 

๔ หอกลอง 

๕ หอไตร

………………………………………

๏ ถ้าไม่ทำวัดให้เป็นศูนย์การศึกษาพระธรรมวินัย

ถึงจะมีหอไตรก็เหมือนไม่มี

๏ ถ้าทำวัดให้เป็นศูนย์การศึกษาพระธรรมวินัย

วัดทั่วแผ่นดินไทยก็เป็นหอไตรทันที

………………………………………

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ มกราคม ๒๕๖๕

๑๕:๔๑

………………………………………

หอไตร

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *