บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย

งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย: แทรกคำชี้แจง (๒)

งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย: แทรกคำชี้แจง (๒)

————————————

เวลานี้มีแนวคิดเกิดขึ้นว่า นับถือคำสอนและแนวปฏิบัติของอาจารย์ที่มองเห็นสดๆ อยู่ตรงหน้า น่าจะจับหลักได้ชัดเจนแน่นอนดีกว่าถือหลักคำสอนในคัมภีร์ซึ่งเขียนไว้เมื่อตั้งร้อยปีพันปีมาแล้ว ทั้งล่วงกาลผ่านเวลามานานถึงปานนั้นจะถูกแทรกเสริมเติมแต่งสิ่งแปลกปลอมอะไรเข้าไปอีกบ้างก็ไม่อาจทราบได้ มิหนำซ้ำยังเขียนด้วยภาษาที่ตายแล้ว คนปัจจุบันเข้าใจได้ยากมาก แต่ส่วนมากแล้วไม่เข้าใจเลย 

ใครเห็นเป็นยังไงกับแนวคิดนี้?

กรณีนับถือคำสอนอาจารย์ที่เห็นกันสดๆ ตรงหน้าดีกว่า ผมไม่มีเรื่องที่จะค้านศรัทธาของใคร แต่มีเรื่องที่อยากชวนคิดเป็นแนวเทียบ 

แนวเทียบที่ชวนคิดก็คือ เรื่องค่านิยมเกี่ยวกับสตรีไทย 

สตรีไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีค่านิยมรักนวลสงวนตัว ภรรยายกย่องสามีอย่างยิ่ง (กินทีหลังสามี เวลานอนกราบเท้าสามี ฯลฯ) การหลับนอนกับชายโดยที่ไม่ได้แต่งงาน (เสียตัวมาก่อนแต่ง) ถือเป็นเรื่องเสื่อมเสียอย่างยิ่ง 

แต่สตรีไทย พ.ศ.ปัจจุบันนี้มีค่านิยมที่แทบจะตรงกันข้าม เช่นกรณีเสียตัวมาก่อนแต่ง เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด ไม่มีใครเห็นเป็นข้อเสียหายใดๆ มิหนำซ้ำกลับมีแนวคิดสวนทาง คือเห็นกันว่ายิ่งผ่านผู้ชายมามากยิ่งดี มีประสบการณ์ เวลาอยู่กับสามีจะได้ปรนนิบัติสามีให้ถูกใจได้ดี

ดูเอาเถิด เวลาเพียง ๒๐๐ ปี หลักการปฏิบัติตัวของสตรีไทยแปรไปได้ถึงเพียงนี้

อีก ๒๐๐ ปีข้างหน้า ไม่มีใครบอกได้ว่าค่านิยมหรือการปฏิบัติตัวของสตรีไทยจะแปรไปอีกถึงขนาดไหน 

ถ้าใครสักคนต้องการจะถือค่านิยมและแนวการวางตัวของสตรีไทยเป็นแบบฉบับ เธอหรือเขาคนนั้นควรจะยึดถือตามแบบไหน?

คำสอนและแนวปฏิบัติของอาจารย์ที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าเดี๋ยวนี้ก็ทำนองเดียวกัน 

อาจารย์ที่อยู่ตรงหน้าเราใน พ.ศ.นี้ ท่านสอนอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้ แต่อาจารย์ของอาจารย์-ของอาจารย์ เมื่อ พ.ศ.โน้น ถอยไป ๒๐๐ ปีที่แล้วท่านปฏิบัติอย่างไร เรารู้ได้หรือไม่

แล้วถ้าถอยเรื่อยไปจนถึง ๒,๐๐๐ ปี หรือ ๒,๖๐๐ ปีที่แล้ว ต้นตระกูลโคตรกระกูลของอาจารย์ท่านมีคำสอนและแนวปฏิบัติอย่างไร เรารู้ได้หรือไม่ 

โดยนัยเดียวกัน นับต่อไปข้างหน้าอีก ๒๐๐ ปี หรือ ๒,๐๐๐ ปี อาจารย์ที่สืบทอดคำสอนและแนวปฏิบัติไปจากอาจารย์ที่อยู่ตรงหน้าเราเดี๋ยวนี้ท่านจะมีคำสอนและแนวปฏิบัติตรงกับคำสอนและแนวปฏิบัติของอาจารย์ที่อยู่ตรงหน้าเราเดี๋ยวนี้หรือไม่ ใครจะสามารถบอกได้บ้าง

และถ้าถือตามหลักการเช่นนี้-คือหลักการที่ว่านับถือคำสอนอาจารย์ที่เห็นกันสดๆ ตรงหน้าดีกว่า-คำสอนและแนวปฏิบัติในพระพุทธศาสนาจะเคลื่อนที่แปรเปลี่ยนไปจากเดิมถึงขนาดไหน

แต่คำสอนในคัมภีร์เมื่อ ๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว กับคำสอนในคัมภีร์ที่อยู่ตรงหน้าเราใน พ.ศ.นี้ ยังเป็นคำสอนเดียวกัน-ถ้าเรายังรักษาสืบทอดคัมภีร์ไว้ให้แม่นยำได้ 

ที่ว่ามานี้ไม่ได้แปลว่าไม่ให้นับถือคำสอนอาจารย์

ที่ว่ามานี้แปลเพียงว่า-เราไม่ควรทิ้งคัมภีร์ แต่ควรช่วยกันรักษาสืบทอดไว้ให้ถูกต้องเที่ยงตรง เพื่อเป็นคู่มือหรือเครื่องมือตรวจสอบอาจารย์

ทีนี้มาถึงกรณีภาษาและความน่าเชื่อถือของคัมภีร์ 

ใครที่เรียนบาลีและศึกษาคัมภีร์มาพอสมควรจะตอบได้ว่า ภาษาในคัมภีร์คือภาษาบาลีเป็นภาษาที่มนุษย์สามัญสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ นี่ประการหนึ่ง 

อีกประการหนึ่ง เนื้อหาในคัมภีร์เป็นสิ่งที่ผู้นำพระศาสนาสืบมาท่านระวังรักษาไว้อย่างรอบคอบ อย่างหลักที่ว่า พระวินัยต้องลงกันสมกันกับพระสูตร พระสูตรก็ต้องลงกันสมกันกับพระวินัย-อย่างนี้เป็นต้น 

หลายๆ แห่งที่เนื้อหาในคัมภีร์เองท่านก็ตรวจสอบกันเองอยู่ในตัว เช่นบอกว่าคัมภีร์นั้นว่าอย่างนี้ๆ อาจารย์นั้นว่าอย่างนี้ๆ แต่ที่ควรถือเอาคืออย่างนี้ เป็นการแสดงวิธีตรวจสอบให้ผู้ศึกษาได้เห็นไว้ 

อีกทั้งปราชญ์ในแต่ละยุคสมัยก็ได้แสดงมติในเรื่องต่างๆ เป็นหลักที่ปรากฏให้เห็นได้ทั่วไปว่าอะไรควรเชื่อ อะไรไม่ควรเชื่อ 

กล่าวได้ว่าหากจะมีการแทรกเสริมเติมแต่งสิ่งแปลกปลอมอะไรลงไป ก็ไม่พ้นไปได้จากการเฝ้าระวังสังเกตของผู้รักการศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

พึงเข้าใจให้ถูกต้องว่า คัมภีร์-โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวพระไตรปิฎกนั้น-ไม่ใช่ book ที่ใครคนใดคนหนึ่งไปนั่งซุ่มเขียนขึ้นมาเงียบๆ ซึ่งจะเขียนอะไรจะแทรกเสริมอะไรก็อาจทำได้ตามใจชอบ 

(มีเพียงคัมภีร์เดียวที่ท่านระบุไว้โดยเปิดเผยชัดเจนว่าเป็นการรวบรวมเรียบเรียงของบุคคล นั่นคือคัมภีร์ “กถาวัตถุ” ในพระอภิธรรมปิฎก พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ ๓ เรียบเรียงขึ้น เพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกไปแล้วถึง ๑๘ นิกาย เช่นความเห็นว่า พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตผลได้ เป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้ ทุกอย่างเกิดจากกรรม เป็นต้น ประพันธ์เป็นคำปุจฉาวิสัชนา มีทั้งหมด ๒๑๙ กถา)

พระไตรปิฎกไม่ใช่งานเขียนส่วนบุคคลของใคร แต่เป็นคัมภีร์ที่เกิดขึ้นจากผลการรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งกระทำโดยคณะพระสาวกที่ได้ฟังคำสอนมาจากพระโอษฐ์โดยตรง ทุกข้อความทุกเรื่องราวผ่านการรับฟัง กลั่นกรอง และเห็นชอบร่วมกัน ทั้งมีการซักซ้อมตรวจสอบกันอยู่เป็นระยะๆ (การสวดมนต์ที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ก็มีมูลมาจากการซักซ้อมคำสอนนี่เอง) เพื่อให้มีความถูกต้องแม่นยำตรงกันอยู่เสมอ 

ครั้นเมื่อถึงสมัยที่มีการจารึกคำสอนเป็นตัวอักษร พระไตรปิฎกก็มีฉบับที่คัดลอกแพร่หลายออกไปยังถิ่นต่างๆ กว้างขวางขึ้น และมีการเทียบทานตรวจสอบกันได้ การที่ใครจะแทรกเสริมเติมแต่งอะไรลงไปย่อมทำไม่ได้อยู่เอง เพราะจะกลายเป็นฉบับที่แปลกแยกไปจากฉบับที่รับรู้รับรองร่วมกันมาไปทันที

———————-

ไหนๆ ก็พูดถึงคัมภีร์ ขอพูดต่อไปอีกประเด็นหนึ่ง นั่นคือคำกล่าวคำบอกเล่าหรือคำที่มีผู้พูดกันว่า ปริยัติกับปฏิบัติไม่จำเป็นจะต้องตรงกัน 

“ปริยัติกับปฏิบัติไม่จำเป็นจะต้องตรงกัน” ที่ว่านี้หมายความว่า ใครที่เรียนคัมภีร์หรือเรียนปริยัติมา ปริยัติจะบอกว่าการปฏิบัติต้องทำแบบนี้ๆ ผลของการปฏิบัติจะเกิดขึ้นเป็นแบบนี้ๆ

แต่ฝ่าย “ปริยัติกับปฏิบัติไม่จำเป็นจะต้องตรงกัน” ก็จะบอกว่า มันไม่ใช่อย่างที่ปริยัติว่าไว้นั่นหรอก คนที่ปฏิบัติเท่านั้นจึงจะรู้ ต้องเอาผลการปฏิบัติเป็นมาตรฐาน เรียนแต่ปริยัติไม่มีทางรู้หรอก

ทฤษฎี “ปริยัติกับปฏิบัติไม่จำเป็นจะต้องตรงกัน” นี่ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นมาจากเหตุผลอันใด แต่พื้นฐานน่าจะมาจาก “ความรู้สึก” หรืออคติที่ต่างฝ่ายต่างมองกัน 

คือฝ่ายหนึ่งเรียนไปทางปริยัติ ไม่เคยประกาศหรือแสดงตัวว่าเป็นนักปฏิบัติ 

ฝ่ายหนึ่งไม่ได้เรียนสูงทางปริยัติ แต่แสดงตัวว่าเป็นนักปฏิบัติ

ฝ่ายหนึ่งก็ว่า ไม่เรียนปริยัติ ปฏิบัติไม่ถูก 

ฝ่ายหนึ่งก็ว่า ดีแต่เรียนปริยัติ ปฏิบัติไม่เป็น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่เรียนสูงทางปริยัติมักถูกมองว่าเป็นนักปริยัติ แต่ปฏิบัติไม่เป็น 

อย่างเช่นท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ป.อ. ปยุตฺโต ภาพที่คนทั่วไปมองเห็นคือท่านเป็นพระนักวิชาการ จบ ป.ธ.๙ บริหารกิจการของมหาจุฬาฯ บรรยาย ปาฐกถา สอนหนังสือ เขียนหนังสือทางวิชาการเป็นอันมาก 

แบบนี้ใครก็ต้องบอกว่าท่านเป็นพระปริยัติ ท่านเองก็ไม่เคยแสดงตัวว่าเป็นพระปฏิบัติ

แต่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เห็นชีวิตประจำวันของท่าน หรือรู้จักท่านดีเท่านั้นที่จะรู้ความจริง 

———————-

และด้วยวิธีมองวิธีคิดทำนองเดียวกันนี้เอง ทำให้เห็นความจริงอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือคนไทยส่วนมากยังพากันยึดถือหรือเชื่อว่า ใครจะ “ปฏิบัติธรรม” จะต้องไปวัด หรือไปที่สำนักปฏิบัติ ต้องใส่ชุดขาว ต้องยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ตามแบบแผนที่วัดนั้นๆ หรือสำนักนั้นๆ กำหนดเป็นเวลา ๓ วัน ๗ วันแล้วจึงกลับบ้านได้ แล้วก็บอกกันว่าไป “ปฏิบัติธรรม” มา 

ต้องทำแบบนี้จึงจะได้ชื่อว่า “ปฏิบัติธรรม” ใครไม่ได้ทำแบบนี้ คนนั้นไม่ได้ปฏิบัติธรรม

อ้าว งั้นที่ทำๆ กันอยู่นั่นก็ไม่ถูกนะสิ

ไม่ได้ว่าไม่ถูก เพียงแต่ชวนให้ทำความเข้าใจให้ถูก 

ทำแบบนั้นก็ดี-ถึงดีที่สุด แต่ต้องเข้าใจว่า ทำแบบนั้นคือ “แบบฝึกหัด” เรียกเป็นคำสมัยใหม่ก็ว่า เป็นเพียงการทำ “กิจกรรม” 

แบบฝึกหัดนั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจหรือยังไม่ถนัดกับหลักการ “ปฏิบัติธรรม” 

ทำแบบฝึกหัดจนเข้าใจเจนใจดีแล้ว ก็เอาไปทำจริง ทำในชีวิตจริง

“แบบฝึกหัด” หรือ “กิจกรรม” นั้นมีวันเริ่มต้นและมีวันจบ

แต่การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาไม่มีวันจบ-จนกว่าจะบรรลุธรรมระดับที่ท่านเรียกว่า “อยู่จบพรหมจรรย์” นั่นคือวันจบ 

“ปฏิบัติธรรม” จึงไม่ใช่เป็นแค่ “จัดเป็นกิจกรรม” แต่ต้อง “ทำเป็นกิจวัตร” คือทำอยู่ในชีวิตประจำวันจริงๆ และทำจนเป็นวิถีชีวิต

ในคัมภีร์มีเรื่องเล่าอยู่ทั่วไป-ที่เล่าถึง-บางคนบรรลุธรรมขณะที่กำลังจุดตะเกียง บางคนขณะกำลังตักน้ำ สตรีบางคนบรรลุธรรมขณะที่กำลังทำกับข้าวอยู่หน้าเตาไฟ 

ไม่ใช่เรื่องตลก แต่เป็นเรื่องที่บ่งชี้ยืนยันว่าคนที่เข้าใจเข้าถึงย่อมสามารถปฏิบัติธรรมได้ในขณะที่กำลังทำกิจในชีวิตประจำวันอยู่นั่นเอง 

ดังนั้น นักปฏิบัติจึงไม่จำเป็นจะต้องแขวนป้ายทุกคนไป 

———————-

กลับมาที่-ทฤษฎี “ปริยัติกับปฏิบัติไม่จำเป็นจะต้องตรงกัน”

ทฤษฎี “ปริยัติกับปฏิบัติไม่จำเป็นจะต้องตรงกัน” น่าจะมาจากฝ่ายที่ไม่ได้เรียนสูงทางปริยัติ แต่แสดงตัวให้สังคมเห็นว่าเป็นนักปฏิบัติ พยายามที่จะหาหลักพิงหรือเครื่องรองรับการปฏิบัติของตนไม่ให้ถูกมองหรือถูกตัดสินว่าไม่ถูกต้อง และหลักอันนั้นก็คือ “ปริยัติกับปฏิบัติไม่จำเป็นจะต้องตรงกัน” 

ยุติควรเป็นอย่างไร หยุดไว้แค่นี้ก่อน 

ขอเล่าเรื่องจริงให้ฟังเป็นข้อคิด 

สมัยที่ผมเป็นสามเณรอายุ ๑๖-๑๗ อยู่กับหลวงลุงที่ถ้ำเขาพลอง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี 

ไม่ได้อยู่ในถ้ำ แต่มีกุฏิหลังหนึ่งอยู่เชิงเขาหน้าถ้ำ 

อยู่กัน ๒ รูป แต่ขึ้นการปกครองกับวัดหนองกระทุ่ม ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ ซึ่งมีพระครูขันตยาภิรัต หรือหลวงปู่ป๋อง พระอุปัชฌาย์บวชเณรให้ผมเป็นเจ้าอาวาสและเป็นเจ้าคณะตำบล 

ถ้ำเขาพลองเงียบสงบ เหมาะแก่การศึกษาและปฏิบัติธรรม อาหารการขบฉันไม่สู้ลำบาก มีโคจรคามอาศัยบิณฑบาตได้พอสมควร

วันหนึ่ง หลวงลุงบอกผมว่า ท่าน “ได้แล้ว” 

“ได้แล้ว” ของหลวงลุงหมายถึงท่านปฏิบัติธรรมตามวิธีของท่าน วันหนึ่งท่านก็เห็นแสงสว่างโพลงขึ้นมาในขณะนั่งปฏิบัติอยู่ ท่านจึงรู้ว่าท่าน “ได้แล้ว” 

ผมฟังเฉยๆ ไม่ได้พูดอะไรและไม่ได้นึกอะไร ท่านบอก ก็ฟังท่านไป 

ต่อมาเมื่อได้ศึกษาเรื่อง “วิปัสสนูปกิเลส” จึงได้รู้ว่า แสงสว่างโพลงที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติธรรมนั้น เรียกว่า “โอภาส” เป็นอาการอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในขณะที่กำลังปฏิบัติธรรม เรียกว่า “วิปัสสนูปกิเลส” มีความหมายว่า “อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา” หรือ “สภาวะที่ทำให้วิปัสสนามัวหมองข้องขัด” เป็นอาการที่ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงเข้าใจผิดว่าได้บรรลุธรรมแล้ว มีโทษคือทำให้หยุดอยู่เพียงนั้น ไม่ปฏิบัติให้ก้าวหน้าต่อไป

วิปัสสนูปกิเลสนี้ไม่เกิดขึ้นแก่ท่านที่บรรลุมรรคผลแล้ว ไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่ปฏิบัติผิดทาง และไม่เกิดขึ้นแก่คนเกียจคร้านผู้ทอดทิ้งกรรมฐาน แต่เกิดขึ้นเฉพาะแก่ผู้ที่เจริญวิปัสสนามาอย่างถูกต้องเท่านั้น

หลวงลุงท่านมรณภาพไปนานแล้ว ก็คงจะมรณภาพไปพร้อมกับความเข้าใจว่าท่าน “ได้แล้ว”

ปริยัติกับปฏิบัติต้องตรงกันหรือไม่จำเป็นจะต้องตรงกัน โปรดไตร่ตรองจงดีเถิด

———————-

ยังมีความจริงอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือสำนักสอนธรรมหรือตัวบุคคลผู้สอนธรรม-แสดงธรรม เมื่อสอนอย่างไร แสดงอย่างไรออกไปแล้ว มักเป็นประเภท “ข้าต้องไม่ผิด” คือจะไม่ยอมรับเป็นอันขาดว่าสำนักของตนหรือคำสอนของตนผิดพลาดคลาดเคลื่อน ตรงกันข้าม จะพยายามทุกวิถีทางที่จะยืนยันว่า แนวทางปฏิบัติของตนหรือคำที่ตนสอนไปบอกไปแล้วนั้นถูกต้องแล้ว

ตัวอย่างง่ายๆ ที่รู้เห็นกันอยู่ ก็อย่างเช่น เจ้าสำนักแห่งหนึ่งแปลคำบาลี “สกิเทว” (สะ-กิ-เท-วะ) ว่า “เทวดาคราวเดียว” คือท่านแยกคำตามที่ตาเห็นเป็น สกิ = คราวเดียว + เทว = เทวดา 

คำว่า “สกิเทว” นั้น ผู้ที่รู้หลักภาษาบาลีย่อมเข้าใจตรงกันหมดว่า แยกคำเป็น สกึ (สะ-กิง) = ครั้งเดียว + เอว (เอ-วะ) = นั่นเทียว (เป็นคำย้ำ) คำนี้ ตามหลักไวยากรณ์เมื่อประสมคำกันท่านเติมอักษร “” (ทะ) กลางคำ และลบนิคหิตคือ อํ ที่ สกึ (สกึ จึงเป็น สกิ) หรืออีกนัยหนึ่งว่า แปลงนิคหิตเป็น จึงเท่ากับ สกิ + + เอว = สกิเทว แปลว่า “ครั้งเดียวเท่านั้น” คำฝรั่งก็แปลว่า once only 

ไม่มีคำที่หมายถึง “เทวดา” อยู่ด้วยเลย

แม้หลักภาษาจะยืนยันได้เช่นนี้ แต่ท่านเจ้าสำนักก็คงยืนยันว่า คำนี้ต้องแปลว่า “เทวดาคราวเดียว” จึงจะถูกต้อง แล้วท่านก็พยายามอธิบายไปต่างๆ 

เข้าใจว่า เวลานี้ตัวท่านเองก็คงรู้แล้วว่าท่านแปลผิด แต่จะยอมรับว่าแปลผิดก็ไม่ได้ เพราะไปเกี่ยวกับ “หน้า” ของท่านซึ่งจะยอมให้เสียไม่ได้ เพราะฉะนั้น จนถึงเดี๋ยวนี้-อย่างน้อยก็เท่าที่ทราบ-ท่านก็ยังไม่เคยยอมรับว่าท่านแปลผิด 

นักสอนธรรมปฏิบัติธรรมที่รักหน้าของตัวเองมากกว่ารักความถูกต้องคือรักพระศาสนาเช่นนี้มีอยู่ทั่วไป 

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงก็รู้กันอยู่ว่า การยอมรับผิดนั้น-ถ้าจะทำให้เสียหน้า-ก็เสียเพียงชั่วครู่เดียวเท่านั้น แต่จะได้รับความนับถือไปตลอดกาลนาน 

แต่ผลสำคัญที่สุดที่พึงปรารถนาก็คือ การไม่ก่อให้เกิดความเบือนบิดผิดเพี้ยนขึ้นในพระศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

(มีต่อตอน ๓)

————————————

ดู “ธรรมกาย” แท้ของพระพุทธเจ้า

เข้าใจ “อนัตตา” ให้ตรงตามจริง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

……………………

ดาวน์โหลดหนังสือ:

http://www.watnyanaves.net/th/book_search

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๑

๑๙:๓๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *