บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย

งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย: แทรกคำชี้แจง (๓)

งานบอกกล่าวชวนกันรักษาพระธรรมวินัย: แทรกคำชี้แจง (๓)

————————————

ย้อนกลับไปที่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยกคำบาลีในคัมภีร์มาแสดง แล้วแปลเป็นไทย 

ทำอย่างนี้ก็ยังไม่ใช่ขั้น “ความคิดเห็นของสมเด็จประยุทธ์” เพราะท่านเพียงแต่แปลคำบาลีออกเป็นคำไทยเพื่อประโยชน์ของผู้ที่ไม่รู้บาลีเท่านั้น ท่านยังไม่ได้แสดง “ความคิดเห็น” ใดๆ ออกไปเลย 

ท่านใดรู้บาลี ก็ไม่จำเป็นต้องสนใจคำแปลของท่านด้วยซ้ำไป สนใจเฉพาะคำบาลีอย่างเดียวพอ – แล้วตรวจสอบพิจารณาว่า บาลีที่ท่านยกมาแสดงนั้นมีความหมายว่าอย่างไร สอดคล้องหรือขัดแย้งกับ “นิพพานเป็นอนัตตา” หรือ “นิพพานเป็นอัตตา” อย่างไรหรือไม่ เจาะลงไปตรงนั้น-ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ยังไม่ได้มี “ความคิดเห็นของสมเด็จประยุทธ์” ปะปนอยู่ด้วยเลยแม้แต่คำเดียว 

แต่เมื่อท่านแปลเป็นไทยไว้ให้ด้วย เราก็ควรถือเป็นโอกาสที่จะตรวจสอบไปด้วยว่า ท่านแปลถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไร 

ตรงนี้แหละที่จะ “วัดกึ๋น” กันว่ามีอยู่แค่ไหน ทั้งกึ๋นของท่านและกึ๋นของเรา 

ถ้าใครเห็นว่าท่านแปลผิดตรงไหน ก็เป็นโอกาสที่จะถล่มท่านให้แหลกไปเลย ว่าท่านแปลผิดตรงนั้นอย่างนั้น ไม่ต้องเกรงใจเลย เพราะท่านพูดไว้เองว่า “ไม่ต้องมัวถือสากัน

หรือใครไม่พอใจคำแปลแบบที่ท่านแปลไว้นั้น เพราะไม่สนองความเชื่อ ความเห็น หรือจะกลายเป็นเสีย “หน้า” ของตนที่ได้ประกาศออกไปแล้ว จะแปลใหม่ แบบไหน อย่างไร ก็สามารถแสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ เป็นการโชว์ “กึ๋น” ของตัวเองด้วยอีกทางหนึ่ง 

แต่เนื่องจากภาษาบาลีเป็นภาษาที่มีกฎเกณฑ์แม่นยำเคร่งครัดดังกล่าวแล้วข้างต้น ทั้งกฎเกณฑ์นั้นก็เป็นสากล ใครที่สนใจใฝ่รู้สามารถเข้าถึงได้โดยทั่วกัน เพราะฉะนั้น เราจะแปลแบบส่งเดชหรือตามความพอใจของเราก็คงไม่ได้ เพราะคนทั่วไปมีสิทธิ์ที่เข้ามาตรวจสอบได้เสมอว่าเราแปลโดยใช้กฎเกณฑ์อะไร ถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไร 

นี่คือหลักประกันความแม่นยำถูกต้องของหลักคำสอน 

(และต้องย้ำซ้ำลงไปว่า คำสอนท่านว่าไว้อย่างไร ภาษาบาลีมีหลักประกันที่จะทำให้ความหมายแห่งคำสอนนั้นถูกต้องคงที่อยู่เสมอ ไม่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยเหมือนภาษาอื่นๆ เช่นภาษาไทยเราเป็นต้นที่คำเดียวกันนั่นเองสมัยหนึ่งหมายถึงอย่างนี้ แต่พอตกมาถึงอีกสมัยหนึ่งความหมายเปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่ง ส่วนคำสอนเช่นนั้นจะถูกใจเราหรือถูกใจใครหรือไม่อย่างไร เป็นสิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคลที่จะยอมรับหรือปฏิเสธได้เสมอ)

ตรงนี้มีเรื่องเทียบ เพื่อให้เห็นชัดขึ้น 

คำว่า “อุโบสถ” ที่หมายถึงการรักษาศีลอุโบสถ (บาลี อุโปสถ อุ-โป-สะ-ถะ) เจ้าสำนักแห่งหนึ่งท่านแปลเป็นไทยว่า “เข้าใกล้ความเป็นยา” คือท่านแยกคำเป็น อุป (อุ-ปะ) = เข้าไป, ใกล้ + โอสถ = ยา 

อุป + โอสถ = อุโปสถ = อุโบสถศีล คือข้อปฏิบัติที่เข้าใกล้ความเป็นยา หมายถึงเป็นยารักษากิเลสให้เบาบางหรือเหือดหายไป 

ใครที่ไม่รู้ภาษาบาลี ฟังแล้วจะเห็นว่าคำแปลและคำอธิบายนี้ “เข้าท่า” มากทีเดียว 

แต่ผู้ที่ศึกษาภาษาบาลีมาแล้วจะรู้ได้ว่า เป็นคำแปลที่ผู้แปลจินตนาการเอาเอง ไม่มีหลักภาษาบาลีที่ไหนแยกคำแบบนี้และแปลแบบนี้ นอกจากจะคิดตั้งหลักเอาเอง

ถามว่า ถ้าเช่นนั้น เราจะตั้งเกณฑ์ของเราเองได้หรือไม่ว่า ภาษาบาลีคำนั้นคำนี้เราจะคิดแยกศัพท์แยกคำและสรรหาคำแปลอย่างไรก็ย่อมได้ แล้วแต่เราจะพอใจ 

ตอบว่า ถ้าอยากทำก็ย่อมได้ แต่ต้องไปทำกับภาษาที่เราคิดของเราขึ้นมาเอง จะใช้กฎเกณฑ์ของเราไปทำกับภาษาบาลีในพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ ย่อมไม่ได้ เพราะภาษาบาลีในคัมภีร์ท่านมีกฎเกณฑ์ของท่านเรียบร้อยแล้ว 

เราอยากรู้ความหมายในคำสอนของท่าน ก็ต้องใช้กฎเกณฑ์ทางภาษาของท่าน 

ถ้าจะตั้งกฎเกณฑ์ของเราขึ้นมาเอง ก็ต้องซื่อตรงหรือกล้าหาญที่จะบอกไปตรงๆ ว่า นี่เป็นคำสอนของข้าพเจ้า และไม่เกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้า

แบบนี้ก็จำกัดเสรีภาพนะสิ 

ไม่จำกัดเลย ตรงข้าม กลับมีเสรีภาพอย่างยิ่ง นั่นคือ ถ้าเราไม่ชอบกฎเกณฑ์ของท่าน ไม่ชอบคำสอนของท่าน (เพราะไม่สนองความเชื่อของเรา หรือเพราะเหตุอะไรก็ตาม) เราก็มีเสรีภาพที่จะไม่นับถือ มีเสรีภาพที่จะเลือกนับถือคำสอนแบบอื่น ตลอดจนมีเสรีภาพที่คิดระบบคำสอนของตัวเองขึ้นมาใหม่ 

แต่จะมาบอกใครๆ ว่าคำสอนที่เราเชื่อหรือที่เราคิดขึ้นมาเองนี่แหละคือคำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้า-ดังนี้ หาได้ไม่ ทั้งนี้เพราะ-อะไรคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านมีหลักอยู่แล้วในพระไตรปิฎก

เชื่อเอง คิดเอง แล้วอ้างยืนยันว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า แบบนี้ ท่านมีคำเรียกว่า “กล่าวตู่พระพุทธพจน์

ถ้าเราแน่จริง ก็ไม่จำเป็นจะต้องมาอิงอยู่กับพระพุทธเจ้าเลย ตั้งศาสนาของเราเองขึ้นมาก็ยังได้

หน้าที่ของผู้แสดงตัวว่าเป็นผู้อยู่ในพระพุทธศาสนาก็คือ ศึกษา สืบสวน ตรวจสอบคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจถูกต้องถ่องแท้ ทีเรียกว่า “ทำความเห็นให้ตรงกับความจริง” ไม่ใช่อธิบายความจริงให้ตรงกับความเห็นหรือความเชื่อของเรา 

แต่ถ้ามีปัญหาว่า ก็ใครเล่าจะตัดสินชี้ขาดได้ถูกต้องว่า อะไรอย่างไรเล่าคือความจริง 

วิธีที่ถูกต้องก็คือ ใครเชื่ออย่างไรก็จงเร่งปฏิบัติดำเนินไปให้ถึงที่สุดด้วยตัวของตัวเองก่อน จนประลุถึงตัวความจริง เมื่อนั้นก็ไม่ต้องมาถกเถียงกับใครอีกต่อไปว่า “นิพพานเป็นอนัตตา” หรือ “นิพพานเป็นอัตตา” กันแน่ ซึ่งนั่นก็คือ เมื่อบรรลุความจริงแล้ว ก็จะรู้ได้ด้วยตนเองว่าความจริงคืออะไรกันแน่-นั่นเอง

———————-

เขียนมายาวมาก ประเด็นก็มีมาก ขอย้ำสรุปในตอนท้ายนี้ว่า เรากำลังพูดกันถึงเรื่อง-หนังสือ – ดู “ธรรมกาย” แท้ของพระพุทธเจ้า เข้าใจ “อนัตตา” ให้ตรงตามจริง – ที่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) เขียน และผมยกข้อความมาเสนอเป็นตอนสั้นๆ เสนอมาแล้ว ๔ ตอน และยังมีเนื้อหาต่อไปอีกมาก ผมได้ขอแทรกคำชี้แจงของผมเองไว้อันเนื่องมาจากมีการแสดงความคิดเห็นต่อหนังสือเล่มนี้ว่า-ก็เป็นเพียงความคิดเห็นของสมเด็จประยุทธ์ท่าน และเหมือนกับจะบอกต่อไปว่า ใครๆ ก็แสดงความคิดเห็นกันได้ ไม่แปลกอะไร และน่าจะเป็นเพราะอย่างนี้ ท่านเจ้าพระคุณจึง “ดักคอ” ไว้ก่อนว่า “ไม่ใช่เป็นเรื่องของความคิดเห็น” 

ที่ผมเขียนมายืดยาวทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะอธิบายว่า เมื่อไม่ใช่เป็นเรื่องของความคิดเห็น แล้วมันเป็นเรื่องของอะไร 

สรุปคำตอบก็คือ-เป็นเรื่องความถูกตรงแม่นยำแห่งหลักคำสอนที่ยกมาแสดง โดยเฉพาะคำแปลที่พึงช่วยกันตรวจสอบบอกกันให้มั่นใจได้-อันนี้ก็เป็นคำที่ท่านเจ้าพระคุณตอบไว้เอง แล้วผมก็เอามาขยายความยืดยาวดังที่เขียนมา 

วิธีที่ท่านยกหลักคำสอนมาแสดงนั้น นอกจากแปลเป็นไทยให้รู้เนื้อความตามต้นฉบับแล้ว ท่านยังได้ขยายความในลักษณะเชื่อมโยงข้อมูลให้เห็นว่า ตรงนี้ว่าอย่างนี้ แล้วตรงโน้นหรือตรงไหนว่าอย่างไร เกี่ยวโยงกันอย่างไร ที่ยกมาแสดงหรือยกมาแปลกันว่าอย่างนั้นๆ ถูกต้องหรือผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร ท่านทำหน้าที่เชื่อมโยงประเด็นให้เราเห็นไว้ด้วย 

เราจะเห็นตามท่านหรือเห็นต่างจากท่าน ก็ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของเรา แต่ขอบเขตก็ยังคงอยู่ในกรอบแห่งหลักคำสอนที่ยกมาแสดงนั่นแหละ ไม่ออกไปไหน จะเห็นตามหรือเห็นต่างก็ต้องเอาหลักคำสอนเป็นแกนกลางอยู่นั่นเอง

หากใครเห็นว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ยกคำสอนมาแสดงล้วนๆ แต่ท่านได้แสดงความคิดเห็นไว้ด้วย 

ใครเห็นว่าตรงไหนเป็นความคิดเห็น และท่านไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นนั้น ท่านย่อมมีสิทธิ์ที่จะคัดค้านโต้แย้งได้อย่างเต็มที่ และถ้ารักและเห็นแก่พระศาสนาก็สมควรทำด้วย เพื่อให้หลักคำสอนที่ยกมาแสดงมีความถูกต้องบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง

เมื่อมีการยกหลักคำสอนมาแสดง เวลานี้คนมักแยกไม่ออก-หรือที่จริงก็คือไม่รู้จักแยกแยะ-ว่าอะไรส่วนไหนเป็นเนื้อเป็นตัวแท้ของหลักคำสอน และอะไรส่วนไหนเป็นความคิดเห็นหรือคำอธิบายขยายความของผู้ที่ยกมาแสดง 

จึงเป็นโอกาสให้ผู้ที่ไม่ซื่อตรง เอาความเห็นความเชื่อความเข้าใจของตัวเองแทรกใส่เข้าไปในหลักคำสอน สร้างความวิปริตผิดเพี้ยนให้เกิดขึ้นในพระศาสนา 

ยิ่งถ้าคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแม่นยำในหลักคำสอนเป็นพื้นฐานด้วยแล้ว ก็จะพากันยึดถือเอาความเห็นความเชื่อความเข้าใจของผู้สอนนั้นว่าเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า 

…………………..

ถ้าใครเคยฟังรายการปาฐกถาธรรม วันอาทิตย์ เวลา ๐๘:๐๐ น. ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย คงจะจำได้ว่า มีพระเถระรูปหนึ่งท่านได้รับอาราธนาให้แสดงปาฐกถาธรรมอยู่เนืองๆ ประมาณว่าเดือนละครั้ง สำนักของท่านอยู่ที่จังหวัดราชบุรีบ้านผมนี่แหละ 

จะมีประโยคหนึ่งที่ท่านกล่าวอยู่เสมอ มักจะเป็นตอนท้ายๆ รายการ คือประโยคว่า .. จะได้บรรลุถึงพระนิพพานเป็นบรมสุขอันถาวร … 

เราย่อมรู้กันว่า “พระนิพพานเป็นบรมสุข” นั้นเป็นพุทธภาษิต ภาษาบาลีว่า “นิพฺพานปรมํ สุขํ” (นิพพานะปะระมัง สุขัง โดยมากมักอ้างเป็น นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ) 

พุทธภาษิตบอกว่า “พระนิพพานเป็นบรมสุข” เท่านี้เท่านั้น ไม่ได้บอกเลยไปว่า “พระนิพพานเป็นบรมสุขอันถาวร” 

แต่เพราะท่านผู้ยกพุทธภาษิตมาอ้างท่านเชื่อว่า นิพพานเป็นอัตตา คือเป็น “ตัว” อะไรชนิดหนึ่งที่มีอยู่ยั่งยืนยาวนานตลอดไปไม่มีวันดับสูญ ท่านจึงเอาความเชื่อของท่านเสริมเข้าไปว่า “พระนิพพานเป็นบรมสุขอันถาวร” 

ถ้าไม่มีใครเฉลียวใจ (ซึ่งส่วนมากก็จะไม่เฉลียวใจกันอยู่แล้ว) ถึงพุทธภาษิตของเดิมแท้ที่ว่า “นิพฺพานปรมํ สุขํ” แล้วก็พากันฟังประโยคที่ว่า “พระนิพพานเป็นบรมสุขอันถาวร” อยู่เรื่อยไป จะเกิดอะไรขึ้น

สมมุติว่ามีพระสงฆ์ช่วยกันพูดว่า “พระนิพพานเป็นบรมสุขอันถาวร” สืบต่อกันไปสัก ๒๐๐ ปี จะเกิดอะไรขึ้น

อีก ๒๐๐ ปี คำว่า “พระนิพพานเป็นบรมสุขอันถาวร” ก็จะกลายเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ผู้คนในสมัยโน้นยอมรับนับถือว่าเป็นหลักคำสอนที่ถูกต้อง และนำไปอ้างอิงต่อๆ กันไป 

เห็นหรือไม่ว่าสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นได้ต่อหน้าต่อตาเรานี่เอง

เว้นไว้แต่ชาวเราจะช่วยกันศึกษา เรียนรู้ ตรวจสอบ สืบสวน ทบทวน ซักซ้อม หลักคำสอนอันปรากฏในพระไตรปิฎกให้ถูกต้องแม่นยำอยู่เสมอ พยายามทำความเห็นของตนให้ตรงกับความเป็นจริง แล้วส่งมอบหลักคำสอนที่ถูกต้องนั้นให้เป็นมรดกแก่ชนรุ่นหลังสืบไป ทำเช่นนี้จากรุ่นสู่รุ่นไม่ขาดสาย 

พระพุทธศาสนาก็จะดำรงอยู่เพื่อแสดงมรรคาที่ถูกต้องอันจะนำไปสู่ความสิ้นตัณหาเป็นเหตุให้สิ้นทุกข์แก่ชาวโลกไปตลอดกาลนาน

————————————

ดู “ธรรมกาย” แท้ของพระพุทธเจ้า

เข้าใจ “อนัตตา” ให้ตรงตามจริง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

……………………

ดาวน์โหลดหนังสือ:

http://www.watnyanaves.net/th/book_search

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๑

๒๒:๑๕

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *