จงเรียกมันว่าความเสื่อม (1)
จงเรียกมันว่าความเสื่อม (4)
จงเรียกมันว่าความเสื่อม (4)
————————-
ตอน-กฎหมายคือพระเจ้า
เมื่อมีการพูดกันว่าใครทำผิดหรือใครไม่ได้ทำผิด สิ่งหนึ่งที่จะถูกเรียกหาหรือถามถึงคือ พยานหลักฐาน
การตัดสินถูก-ผิดทางคดีโลก ใช้พยานหลักฐานเป็นหลัก คือถามกันว่า-มีพยานหลักฐานหรือเปล่า
แต่การตัดสินถูก-ผิดทางคดีธรรม ใช้ความจริงเป็นหลัก คือถามกันว่า-มันเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า
มีเรื่องเป็นอันมากที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่มีพยานหลักฐาน หรือผู้กระทำเรื่องนั้นๆ สามารถหาพยานหลักฐานมาหักล้างข้อกล่าวหาหรือยืนยันให้เชื่อได้ว่าตนไม่ได้กระทำ
ถ้าฟ้องศาล ศาลก็ต้องพิพากษาว่าไม่มีความผิด-ทั้งๆ ที่ผู้นั้นกระทำความผิดจริงๆ
เรื่องแบบนี้เป็นที่รู้เห็นกันทั่วไป-ในกระบวนการยุติธรรมแบบโลก
ในทางธรรม มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า
อตฺตนา ว กตํ ปาปํ……อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ
อตฺตนา อกตํ ปาปํ…….อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ
สุทฺธิ อสุทฺธิ ปจฺจตฺตํ….นาญฺโญ อญฺญํ วิโสธเย.
ทำชั่วด้วยตัวเอง
ย่อมมัวหมองด้วยตัวเอง
ไม่ทำชั่วด้วยตัวเอง
ย่อมบริสุทธิ์ด้วยตัวเอง
ความบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน
คนอื่นทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้
ที่มา: อัตตวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๒
นั่นก็คือยึดถือความเป็นจริงเป็นหลักแห่งความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์
ถ้าไม่ได้ทำผิด แม้ศาลจะตัดสินว่าผิด ก็ยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่นั่นเอง
ถ้าทำผิด แม้ศาลจะตัดสินว่าไม่ผิด ก็ยังคงเป็นคนผิดอยู่นั่นเอง
เราจึงได้ยินคำว่า มีความผิดหรือไม่มีความผิด “ตามกฎหมาย”
แต่ไม่เคยได้ยินคำว่า มีความผิดหรือไม่มีความผิด “ตามความเป็นจริง”
———————-
สมมุติว่า ภิกษุเสพเมถุน ถ้าเสพจริง ครบองค์ประกอบ ก็ต้องอาบัติปาราชิกทันที
ไม่ว่าจะมีใครฟ้องร้องกล่าวหาหรือไม่ก็ตาม
ไม่ว่าจะมีพยานหลักฐานมายืนยันหรือไม่ก็ตาม
และไม่ว่าจะยังครองผ้ากาสาวพัสตร์อยู่หรือไม่ก็ตาม
ระบบนี้ท่านเรียกว่า “อริยวินัย” คือระบบของผู้เจริญแล้ว
ตัดสินกันด้วยความเป็นจริง ไม่ใช่ด้วยพยานหลักฐาน
เป็นระบบที่เที่ยงตรงและยุติธรรมที่สุด
แต่ก็เปราะบางที่สุด-ถ้ามีคนที่ยังไม่เจริญหลุดเข้าไปแฝงตัวเป็นสมาชิกของสังคมนั้นๆ อยู่ด้วย
ภาษาบาลีเรียกว่า “ทุมฺมงฺกุ” (ทุม-มัง-กุ) แปลว่าคนหน้าด้าน
ทำผิดจริงๆ แต่เรียกหาพยานหลักฐาน
คุณว่าฉันผิด เอาพยานหลักฐานมายืนยันสิ
เหมือนกับสมัยหนึ่งที่นักการเมืองโกงกิน แล้วท้าว่า-ไปหาใบเสร็จมายืนยันสิ
ไม่มีใบเสร็จอย่ามากล่าวหากันง่ายๆ
———————-
ในโลกแห่งความเป็นจริง คนไม่ได้เจริญแล้วทั้งหมด จะหวังให้ทุกคนมีหิริโอตตัปปะ มีสำนึกบูชาความจริงไปหมดทุกคนย่อมไม่ได้
เพราะฉะนั้น สังคมจึงต้องใช้มาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นมาตรฐานกลาง
มาตรฐานกลางที่ยอมรับกันทั่วโลกก็คือ-หลักกฎหมาย
เมื่อต้องอยู่ในสังคมที่ทุกคนไม่ได้บูชาหลักความจริง
ก็ต้องไม่ลืมที่จะหันหลังพิงหลักกฎหมายไว้บ้าง
มิเช่นนั้นก็อาจจะเป็นเหมือน-วัดโง่ๆ แห่งหนึ่ง ที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้-
และฝากไว้เป็นแง่คิดสำหรับท่านที่บูชากฎหมายเป็นพระเจ้าทั้งหลาย
——————–
หญิงชราผู้หนึ่งมีฐานะดี มีกุศลจิตถวายที่ดินแปลงหนึ่งให้เป็นสมบัติของวัดแห่งหนึ่ง ได้ทำพิธีมอบโฉนดที่ดินผืนนั้นให้แก่คณะสงฆ์แห่งวัดนั้น ขณะที่มอบถวายโฉนด มีพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาท่ามกลางหมู่ญาติมิตรทั้งปวงเป็นที่ปลื้มปีติอนุโมทนาสาธุการทั่วกัน
ต่อมาหญิงชราผู้นั้นได้ถึงแก่กรรมลง ลูกสาวคนหนึ่งเป็นผู้รับมรดกตามกฎหมาย
ในจำนวนมรดกที่ได้รับก็มีที่ดินแปลงที่ถวายวัดไปแล้วนั้นรวมอยู่ด้วย เพราะที่ดินแปลงนั้นยังไม่ได้โอนให้วัด
ลูกสาวซึ่งเป็นผู้รับมรดกมาบอกพระที่รักษาโฉนดที่ดินว่าจะขอยืมโฉนดไปตรวจสอบเนื้อที่หรืออะไรสักอย่าง
พระท่านก็พาซื่อมอบโฉนดให้ไป
ลูกสาวได้โฉนดไปแล้วก็ไม่คืนให้วัด อ้างว่าที่ดินเป็นของตนผู้รับมรดกตามกฎหมาย
สรุปรวบรัดว่า เป็นคดีความฟ้องร้องกันถึง ๓ ศาล
และวัดก็แพ้ทั้ง ๓ ศาล
ด้วยหลักกฎหมายที่ว่า ที่ดินจะเป็นของผู้ใดก็ต่อเมื่อได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้เป็นของผู้นั้นแล้วเท่านั้น
ในเมื่อที่ดินผืนนั้นยังไม่ได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้วัด ก็จึงตกเป็นสมบัติของผู้รับมรดกตามกฎหมาย
ที่ดิน-ซึ่งได้มีพิธีมอบถวายแก่สงฆ์แล้วโดยผู้เป็นเจ้าของที่ดินประเคนโฉนดให้แก่สงฆ์ด้วยมือของตัวเองแท้ๆ ท่ามกลางญาติมิตรเป็นพยานรู้เห็นเป็นอันมาก-ก็มีอันหลุดลอยกลับไปเป็นสมบัติของผู้รับมรดกโดยถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยประการฉะนั้น-มาจนกระทั่งบัดนี้
อยากรู้ว่าใคร วัดไหน เมื่อไร อย่างไร
ถามหลังไมค์
จะพาไปวัดนั้นและให้ผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุเล่าให้ฟังด้วยตัวเอง
จะบอกว่า วัดโง่ พระโง่
ไวยาวัจกรวัดก็โง่ ไม่รู้หลักกฎหมาย
เรื่องยังงี้มันต้องทำยังงั้นๆ จึงจะถูกต้อง
ทำยังงี้ๆ จะไปว่าเขาก็ไม่ถูก
วัดอยากโง่เองทำไม
ฯลฯ
เชิญวิพากษ์ได้ตามสบายเถิดท่านสาธุชนทั้งปวง
ยอมรับโดยดุษณีทุกประการ
ไม่ใช่จะมาประท้วงหรือมาขอความเห็นใจใดๆ
เล่าให้ฟังเป็นแง่คิดเท่านั้นว่า เมื่อเราถือกฎหมายเป็นพระเจ้า
พระเจ้าท่านก็เหยียบศรัทธาของคนที่มีศรัทธาจริงๆ ถวายไปแล้วจริงๆ ด้วยศรัทธาจริงๆ นั้นให้จมธรณีลงไปด้วยประการฉะนี้แหละ
เห็นหรือยังว่าศรัทธา-เจตนาจริงๆ กับหลักกฎหมาย ใครใหญ่กว่ากัน?
เวลาจะเรียกหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความเป็นจริง
เคยระลึกบ้างไหมว่า-อย่าลืมเรียกหาความเป็นจริงด้วย
คนที่เขียนกฎหมายเคยคำนึงถึงแง่มุมแบบนี้บ้างหรือเปล่า?
หรือมองเห็นแต่เพียงว่าโลกนี้มีมิติเดียว คือมิติทางกฎหมายเท่านั้น
มิติแห่งศรัทธา มิติแห่งความเป็นจริง เอาไปพูดกันที่โลกอื่น
…………….
เพราะฉะนั้น จะเรียกว่าเป็นความโง่ของวัด หรือจะเรียกว่าอะไร ก็เชิญเรียกกันไปตามสะดวกปากเถิด
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓ ตุลาคม ๒๕๖๐
๑๖:๕๒
……………..
ตอน 5 นะจังงัง
……………..
ตอน 3 มุมที่ลืมมอง
……………..