บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อันลิงค่างกลางป่า

อันลิงค่างกลางป่า

…………………………………

—————————

อันลิงค่างกลางป่าจับมาหัด

สารพัดสมใจนึกเพราะฝึกฝน

เราทั้งหลายประเสริฐเกิดเป็นคน

ถ้าฝึกตนไม่ได้ก็อายลิง

—————————

…………………………………

กลอนบทนี้แต่งปลอมสำนวนของเดิม ซึ่งไม่ทราบว่าท่านผู้ใดแต่งไว้ ผมจำถ้อยคำได้เฉพาะคำขึ้นต้น “อันลิงค่างกลางป่าจับมา…” และคำลงท้าย “… ก็อายลิง” 

ผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงมีอาการเดียวกับผม คือเคยได้ยินกลอนบทนี้ แต่จำถ้อยคำไม่ได้ทั้งหมด และแต่ละคนก็มักจะจำแตกต่างกัน

อย่างวรรคขึ้นต้น “อันลิงค่างกลางป่าจับมา…”

“…จับมาฝึก”

“…จับมาหัด”

คำไหนกันแน่?

วรรคกลาง ๒ วรรคก็จะมีผู้จำหรือเขียนแตกต่างกันออกไป “ถ้อยความ” มักจะตรงกัน แต่ “ถ้อยคำ” ผิดแผกกันไป และไม่รู้ว่าของเดิมแท้ๆ ว่าอย่างไรกันแน่

ทำไมจึงเป็นอย่างนี้?

เหตุที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเราขาดความรอบคอบในการนำไปอ้างอิงหรือนำไปเผยแพร่ต่อ

ตรงนี้แหละจะเห็นได้ถึงความสำคัญของ “สังคายนา” ซึ่งแปลตามตัวว่า “การขับขานขึ้นพร้อมกัน” 

การขับขานขึ้นพร้อมกันก็เหมือนการขับร้องหมู่ ผู้ร้องทุกคนต้องร้องถ้อยคำตรงกันทุกคำ ผิดกันแม้แต่คำเดียวก็จะสะดุดทันที เป็นการบอกให้รู้ว่าร้องผิดไปจากต้นฉบับ

พระธรรมวินัยหรือหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาท่านนำสืบกันมาด้วยวิธี “สังคายนา” คือการซักซ้อมให้พร้อมกันให้ถูกต้องตรงกันทุกถ้อยคำ 

การสวดมนต์จากความทรงจำก็เป็นส่วนหนึ่งของวิธีสังคายนา 

เวลานี้เราละเลย มองข้าม ไม่เห็นความสำคัญของการรักษาต้นฉบับ

กลอน “อันลิงค่างกลางป่าจับมา…” เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

และที่นิยมประพฤติกันทั่วไปอยู่ในขณะนี้-โดยเฉพาะทางเฟซทางไลน์-ก็คือ เอาเรื่องราวต่างๆ มาถ่ายทอดต่อโดยไม่บอกต้นทาง อ่านแล้วก็ไม่รู้ว่าใครเขียนหรือใครแปล ต้นฉบับที่เขียนหรือแปลอยู่ที่ไหนก็ไม่บอก บอกก็บอกอย่างคลุมเครือสืบหาไปถึงต้นทางได้ยากที่สุด เช่นใช้คำว่า “เครดิตของ…” แต่ไม่บอกที่มาอันเป็นต้นฉบับ คนอ่านอยากรู้ต้นฉบับก็ไม่รู้ว่าจะไปเริ่มต้นที่ไหน 

ทำแบบนี้กันทั่วไปหมด

เวลานี้ลามเข้าไปถึงการนำเรื่องราวในคัมภีร์พระไตรปิฎกหรือเรื่องราวที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาไปเผยแพร่ต่อด้วยแล้ว คือเอาไปเล่าเป็นตุเป็นตะเป็นฉากเป็นช่อง แต่ไม่บอกว่ามาจากพระสูตรไหน มาจากคัมภีร์อะไร

แบบนี้ ใครอยากจะบอกว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอนอะไร ก็บอกเองเล่าเองแต่งเองได้หมด เพราะตรวจสอบไม่ได้ว่าต้นฉบับอยู่ที่ไหน สัทธรรมปฏิรูปก็แทรกปนเข้ามาได้สบาย

ทำไมเราทำอย่างนี้?

ความรอบคอบ ความรับผิดชอบ ไปอยู่ที่ไหนหมด?

………………..

กลอน “อันลิงค่างกลางป่าจับมา…” ญาติมิตรท่านใดรู้ที่มา รู้ถ้อยคำที่เป็นต้นฉบับเดิมแท้ และรู้ว่าท่านผู้ใดเป็นแต่ง ขอความกรุณานำข้อมูลมาแสดงเพื่อให้เป็นองค์ความรู้ของคนทั้งหลายด้วยนะครับ

และในระหว่างที่ยังไม่รู้ว่าใครแต่ง ก็ขอน้อมจิตคารวะยกความดีบูชาคุณท่านผู้นั้นมา ณ ที่นี้ด้วย

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ มกราคม ๒๕๖๔

๑๑:๑๙

…………………………………………

อันลิงค่างกลางป่า

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *