ลัฏฐิวัน (บาลีวันละคำ 3,501)
ลัฏฐิวัน
สวนอะไรกันแน่
อ่านว่า ลัด-ถิ-วัน
ประกอบด้วยคำว่า ลัฏฐิ + วัน
(๑) “ลัฏฐิ”
เขียนแบบบาลีเป็น “ลฏฺฐิ” (มีจุดใต้ ฏฺ) อ่านว่า ลัด-ถิ รากศัพท์มาจาก ยตฺ (ธาตุ = พยายาม) + ติ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (ยตฺ > ย), แผลง ติ เป็น ฏฺฐิ, แปลง ย เป็น ล
: ยตฺ + ติ = ยตฺติ > ยติ > ยฏฺฐิ > ลฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ไม้สำหรับพยายาม”
หมายเหตุ: รากศัพท์ตามนัยที่แสดงไว้ในพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่คำว่า “ลฏฺฐิ”
“ลฏฺฐิ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) คทา, ไม้เท้า (a staff, stick)
(2) ลำอ้อย (stick of sugar cane)
(3) หน่อไม้, แขนงไม้ (sprout of a plant, offshoot)
(๒) “วัน”
บาลีเป็น “วน” (วะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วนฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา, ส่งเสียง) + อ (อะ) ปัจจัย
: วนฺ + อ = วน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เสพสุขแห่งเหล่าสัตว์” (2) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่อันผู้ต้องการวิเวกเสพอาศัย”
“วน” นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “ป่า”
คำว่า “ป่า” ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าเป็นสถานที่รกทึบ มีอันตรายจากสัตว์ป่า และเป็นสถานที่น่ากลัว
คำว่า “วน” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ :
(1) สถานที่อันน่ารื่นรมย์และเป็นที่เล่นกีฬา (as a place of pleasure & sport) : wood = ป่าไม้
(2) สถานที่มีอันตรายและน่าสะพรึงกลัว (as well as of danger & frightfulness) : jungle = ไพรสณฑ์
(3) สถานที่อาศัยของนักบวช มีชื่อเสียงในทางวิเวก (as resort of ascetics, noted for its loneliness) : forest = ป่าดงพงไพร
บาลี “วน” สันสกฤตก็เป็น “วน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วน : (คำนาม) อรัณย์, ป่า; น้ำ; ที่อยู่, ที่อาศรัย, บ้าน, เรือน; น้ำตก; a forest, a wood, a grove; water; a residence, a dwelling or abode, a house; a cascade or waterfall.”
ลฏฺฐิ + วน = ลฏฺฐิวน (ลัด-ถิ-วะ-นะ) แปลทับศัพท์ว่า “สวนลัฏฐิ”
“ลฏฺฐิวน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ลัฏฐิวัน” (ลัด-ถิ-วัน)
อภิปรายขยายความ :
“ลัฏฐิวัน” หรือ “สวนลัฏฐิ” คือสวนอะไร หรืออีกนัยหนึ่ง “ลัฏฐิ” ในที่นี้หมายถึงอะไร
ดูตามคำแปลที่แสดงไว้ข้างต้น ข้อ (1) คทา ไม่ใช่แน่ ข้อ (2) ลำอ้อย กับข้อ (3) หน่อไม้ มีความเป็นไปได้ทั้ง 2 ข้อ
ศัพท์นี้ในพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐของไทยเป็น “ลฏฺฐิวนุยฺยาน” (ลัด-ถิ-วะ-นุย-ยา-นะ) แปลว่า “อุทยานลัฏฐิวัน” (วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 56, 57) และมีเชิงอรรถบอกไว้ว่า พระไตรปิฎกฉบับพม่าเป็น “ลฏฺฐิวน”
คัมภีร์สมันตปาสาทิกา (อรรถกถาพระวินัยปิฎก) ภาค 3 หน้า 28 ไขความไว้ว่า –
ลฏฺฐิวเนติ ตาลุยฺยาเน.
ตัวบทพระบาลี คัมภีร์สมันตปาสาทิกาใช้ว่า “ลฏฺฐิวเน” (ลฏฺฐิวน) ตรงกับฉบับพม่า ไม่ได้ใช้ “ลฏฺฐิวนุยฺยาเน” (ลฏฺฐิวนุยฺยาน) ตามฉบับไทย
แต่คำที่ตัดสิน คือ “ตาลุยฺยาเน” (ตาลุยฺยาน) แปลว่า “สวนตาล”
นี่ก็คือที่นักแปลบาลีบ้านเราแปล “ลฏฺฐิวน” ว่า “สวนตาลหนุ่ม” ไม่ใช่ทั้ง “ลำอ้อย” ทั้ง “หน่อไม้”
แต่ “ลำอ้อย” มีนัยที่สอดคล้อง คือ “ตาล” กับ “อ้อย” มีลักษณะร่วมกันคือ “ความหวาน” ดังนั้น “ลฏฺฐิวน” ถ้าแปลว่า “สวนอ้อย” ก็น่าจะได้
แต่อย่างไรก็ตาม คำแปลว่า “หน่อไม้” นั้น จะทิ้งเสียเลยก็คงไม่ได้ โปรดดูคำอธิบายในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่บรรยายคำว่า “ลัฏฐิวัน” ไว้ดังนี้ –
…………..
ลัฏฐิวัน : สวนตาลหนุ่ม (ลัฏฐิ แปลว่า “ไม้ตะพด” ก็ได้ บางท่านจึงแปลว่า “ป่าไม้รวก”) อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่นั่น พระเจ้าพิมพิสารไปเฝ้าพร้อมด้วยราชบริพารจำนวนมาก ทรงสดับพระธรรมเทศนา ได้ธรรมจักษุ ประกาศพระองค์เป็นอุบาสกที่นั่น
…………..
คำแปลว่า “ป่าไม้รวก” ก็ตรงกับ “หน่อไม้” นั่นเอง
สรุปแล้ว คำว่า “ลัฏฐิวัน” อาจมีความหมายถึง 3 อย่าง –
(1) สวนตาลหนุ่ม
(2) สวนอ้อย
(3) สวนไม้รวก
ฝากนักเรียนบาลีไปขบคิดพิจารณาเพื่อความเรืองปัญญา มิใช่เพื่อให้ให้เกิดปัญหาขัดแย้งกัน
แถม :
สถานที่ซึ่งในพุทธประวัติเรียกว่า “ลัฏฐิวัน” ปัจจุบันอยู่ตรงไหนในประเทศอินเดีย นักแสวงบุญที่มีภาพอยู่ใกล้ตัว ถ้าจะกรุณานำมาร่วมบูรณาการ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ขออนุโมทนาล่วงหน้ามา ณ ที่นี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
ยังจำกันได้ไหม –
: ศัพท์เดียวมีอรรถตั้งร้อย
: กรรมการรู้น้อยหาว่าขรัวโตบ้า
เป็นวาทะของใคร?
#บาลีวันละคำ (3,501)
12-1-65
…………………………….