บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ผู้บริหารบ้านเมืองควรมาจากไหน

ผู้บริหารบ้านเมืองควรมาจากไหน

———————————-

หรือ-จะอบรมสั่งสอนลูกหลานของเราอย่างไร

กล่าวเฉพาะสังคมไทย เดิมผู้บริหารบ้านเมืองมาจากตระกูลกษัตริย์ ส่วนตระกูลกษัตริย์มาจากไหน ขอตัดตอนไว้แค่นั้นก่อน

แต่ถ้ากล่าวตามธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งตามหลักวิชาบอกว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” มนุษย์ต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ต้องมีผู้นำกลุ่ม-ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของสัตว์ (ดูธรรมชาติของสัตว์ เช่น ลิง ช้าง วัว ควาย ต้องมีสัตว์ตัวหนึ่งที่เป็นหัวหน้าฝูง) —

ว่าตามหลักภาษา “กษัตริย์” มาจาก “เกษตร” หรือ “เขตฺต” ในบาลี ซึ่งแปลว่า ที่นา หรือที่ดิน 

จาก “เขตฺต” เป็น “ขตฺติย” แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ในที่ดิน คือผู้สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากที่ดินได้ดี

“ปัญหาอันเนื่องมาจากที่ดิน” ในยุคแรกของมนุษย์ ที่หนักหนาที่สุดก็คือ การรุกรานรบกวนจากมนุษย์กลุ่มอื่น ใครสามารถป้องกันหรือรุกไล่การรบกวนจากมนุษย์กลุ่มอื่นได้ดีได้เก่ง คนนั้นก็ได้รับยกย่องให้เป็น “ขตฺติย” 

ภาระสำคัญของ “ขตฺติย” ก็คือการรบ การรบที่เป็นหลักก็คือการป้องกันหรือรุกไล่การรบกวนจากมนุษย์กลุ่มอื่นนั่นเอง นี่ว่าคร่าวๆ ให้เห็นว่ากษัตริย์หรือตระกูลกษัตริย์เข้ามาทำหน้าที่ผู้บริหารบ้านเมืองได้อย่างไร หรือคำว่า “กษัตริย์” มีที่มาอย่างไร

เมื่อทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองจนลงตัวแล้ว คือจนเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าคนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่จะต้องทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ก็จึงเกิดระเบียบการเตรียมตัวหรือเตรียมคนจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งเพื่อให้ไปทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แม้ในพระพุทธศาสนาเรานี่เองก็มีหลักคำสอนซึ่งถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมคนเพื่อให้เป็นผู้บริหารบ้านเมืองที่ดี นั่นคือหลักธรรมที่เรียกว่า “ทศพิธราชธรรม”

ใครจะมาเป็นผู้บริหารบ้านเมือง จะไปจะมากันด้วยวิธีการอย่างไร พระพุทธศาสนาไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย เป็นเรื่องที่ผู้คนที่อยู่ในฝ่ายบ้านเมืองจะว่ากล่าวจัดการกันเอง 

แต่พระพุทธศาสนาสอนว่า ผู้บริหารบ้านเมืองที่ดีควรมี “ทศพิธราชธรรม”

……………………………………….

ตรงนี้ต้องมองให้ถูกมุม กล่าวคือ “ทศพิธราชธรรม” ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ยืนยันว่าพระพุทธศาสนาสนับสนุนระบบกษัตริย์

แต่พระพุทธศาสนายืนยันว่า กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล คนเก็บขยะ ฯลฯ จะเป็นใคร มาจากไหน มาด้วยระบบอะไรก็ตาม เมื่อทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ควรจะปฏิบัติตาม “ทศพิธราชธรรม” 

ถ้าไม่ปฏิบัติตาม “ทศพิธราชธรรม” ไม่ว่าผู้บริหารบ้านเมืองจะมาจากระบบไหน พระพุทธศาสนาก็ไม่สนับสนุนทั้งนั้น

……………………………………….

ข้อดีของระบบเตรียมตัวหรือเตรียมคนจากรุ่นสู่รุ่นก็คือ ผู้ที่จะทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองมีโอกาสอบรมกล่อมเกลาฝึกฝนการเป็นผู้บริหารบ้านเมืองที่ดีมาตั้งแต่เด็ก เท่ากับเป็นการคัดสรรกันมาตั้งแต่ต้นมือหรือต้นทาง ชั่วดีถี่ห่างขาดตกบกพร่องอะไรอย่างไร รู้เห็นกันมาตั้งแต่ต้นทาง มีโอกาสตกแต่งหรือปรับแก้กันมาตั้งแต่ต้น

ว่าตามระบบเป็นเช่นนั้น แต่ว่าตามข้อเท็จจริง ผู้เกิดในตระกูลกษัตริย์ไม่ได้ประเสริฐไปหมดทุกคน ที่เลวก็มี เลวแก้ได้ก็มี เลวแก้ไม่ได้ก็มาก

ต่อมา ก็เกิดแนวคิดว่า เรื่องอะไรจึงจะต้องให้ตระกูลกษัตริย์ได้สิทธิ์บริหารบ้านเมืองอยู่พวกเดียว พลเมืองควรมีสิทธิ์เลือกผู้บริหารบ้านเมืองเอง แนวคิดนี้คือที่มาของระบอบที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตย” 

ในเมืองไทยของเรานี้มีการเปลี่ยนแปลงที่มาของผู้บริหารบ้านเมืองจากตระกูลกษัตริย์มาเป็นวิธีให้พลเมืองเลือก ตั้งแต่ปี ๒๔๗๕

แม้กษัตริย์จะยังมีอยู่ แต่ผู้บริหารบ้านเมืองตัวจริงมาจากการเลือกของประชาชน ที่เราเรียกกันว่า “เลือกตั้ง” และถือกันว่าเป็นหัวใจหรือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของ “ประชาธิปไตย”

เมื่อมีการเลือกตั้ง ก็ต้องมีกติกา กติกาที่เอามาใช้มีทั้งกติกาที่ไทยเราคิดขึ้นเองและที่เอาอย่างมาจากต่างชาติ

กติกาที่สำคัญก็คือ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งและผู้มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติอย่างไร 

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง-ซึ่งก็คือคุณสมบัติของผู้บริหารบ้านเมือง-เท่าที่ปรากฏ เรากำหนดเฉพาะความรู้ความสามารถเท่านั้น แต่ความประพฤติหรือคุณธรรมเราไม่ได้กำหนด

หมายความว่า ผู้บริหารบ้านเมืองของเราจะเป็นใคร มาจากไหน มีความประพฤติดีเลวอย่างไร นิสัยใจคอเป็นอย่างไร เราไม่ได้คำนึงถึง เราคำนึงถึงอยู่อย่างเดียว คือมีความรู้ความสามารถที่จะบริหารบ้านเมืองได้

……………………………………….

ข้อเท็จจริงที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เราก็รู้กันอยู่ แต่ไม่มีใครยกขึ้นมาคิดพิจารณา นั่นก็คือ ใครก็ได้ มาจากไหนก็ได้ ความประพฤติดีเลวอย่างไรก็ได้ นิสัยใจคอเป็นอย่างไรก็ได้ ถ้าสามารถหาวิธีชนะเลือกตั้งได้ หรือสามารถหาวิธีเข้าสู่ตำแหน่งได้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีที่สะอาดหรือสกปรก ก็สามารถเป็นผู้บริหารบ้านเมืองได้ทันที

……………………………………….

จะเห็นได้ว่า ผู้บริหารบ้านเมืองที่ได้มาตามกฎกติกาและข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่ผู้ที่ได้เตรียมตัวตามระบบการเตรียมคนเพื่อให้เป็นผู้บริหารบ้านเมืองที่ดีมาตั้งแต่ต้น ทั้งไม่จำเป็นจะต้องผ่านการเตรียมตัวมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยเพื่อให้เป็นผู้บริหารบ้านเมืองที่ดีแต่อย่างใดทั้งสิ้น 

คุณสมบัติที่จำเป็นมีเพียงอย่างเดียว คือ สามารถหาวิธีชนะเลือกตั้งได้ หรือสามารถหาวิธีเข้าสู่ตำแหน่งได้-แค่นี้เท่านั้นพอ

ผู้บริหารบ้านเมืองที่มาด้วยวิธีการเช่นนี้ เมื่อเข้าไปทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองก็มักหาทางกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องกันอย่างเต็มที่ เป็นความเป็นจริงที่ปรากฏให้เห็นตลอดมา

……………………………………….

หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวไว้ว่า –

นักการเมือง คือผู้ทำงานสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

……………………………………….

เมื่อกล่าวตรงจุดนี้ ก็จะมีท่านจำพวกหนึ่งออกมาบอกว่า ผู้บริหารบ้านเมืองที่มาจากตระกูลกษัตริย์ตามระบอบเดิมก็กอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องเช่นเดียวกัน

คำบอกเช่นนี้น่าคิดอย่างยิ่ง 

คือน่าคิดว่า-แล้วนี่เราจะเปลี่ยนแปลงวิธีได้มาซึ่งผู้บริหารบ้านเมืองด้วยเหตุผลอะไรกัน? 

ก็เมื่อผู้บริหารบ้านเมืองที่มาจากระบบเก่ากอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องเช่นนั้น ผู้บริหารบ้านเมืองที่มาจากระบบใหม่ ก็จึงไม่ควรที่จะกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง-มิใช่หรือ

ถ้าผู้บริหารบ้านเมืองที่มาจากระบบใหม่ก็ยังกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องอยู่นั่นเองเช่นนี้แล้ว การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองก็มีความหมายเพียงอย่างเดียว คือเพียงแค่เปลี่ยนตัวผู้กอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องชุดใหม่-เท่านี้เอง ใช่หรือไม่

…………………………

เราคงเคยได้ยินเหตุผลของท่านจำพวกหนึ่งที่ออกมาบอกว่า ผู้บริหารบ้านเมืองที่เราเลือกตั้งมานั้น เมื่อให้เขามาทำงานเพื่อบ้านเมือง ก็ต้องมีผลประโยชน์ตอบแทนให้เขาบ้าง เป็นกฎธรรมดา ไม่น่าจะต้องไปตำหนิติเตียนอะไรกัน

เป็นอันว่า มาถึงบัดนี้มีเหตุผลรองรับแล้วว่า การกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องของผู้บริหารบ้านเมืองนั้นเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นความชอบธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ควรตำหนิติเตียน

อนึ่ง มีผู้แสดงข้อดีของระบบการสรรหาผู้บริหารบ้านเมืองด้วยวิธีเลือกตั้งว่า ถ้าเราไม่พอใจผู้บริหารบ้านเมืองชุดนี้ เราก็มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนตัวเป็นชุดอื่นได้-ซึ่งต่างจากระบบที่ผู้บริหารบ้านเมืองมาจากตระกูลผูกขาด เราไม่พอใจแค่ไหนก็ไม่มีสิทธิ์เปลี่ยน ต้องทนไปจนตาย

ข้อเท็จจริงที่ผู้แสดงข้อดีของระบบการสรรหาผู้บริหารบ้านเมืองด้วยวิธีเลือกตั้งไม่ได้พูดให้หมดก็คือ แม้เราจะมีสิทธิ์เปลี่ยนตัวผู้บริหารบ้านเมืองเป็นชุดอื่นได้ก็จริง แต่ผู้ที่เข้าแถวเสนอตัวมาให้เราเปลี่ยนตามสิทธิของการเลือกตั้งนั้น ไม่ว่าจะกี่ชุดกี่ครั้งก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่ตั้งใจเข้ามากอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องทั้งสิ้น

อุปมาเหมือนเรากินมะม่วงในส่วน 

เราบอกว่า ถ้าลูกนี้เปรี้ยว เราก็มีสิทธิ์เลือกกินลูกอื่นได้

แต่มะม่วงที่เรามีเป็นมะม่วงเปรี้ยวทั้งสวน

เลือกเก็บลูกไหน ก็เปรี้ยวทุกลูก

…………………………

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะชวนให้คิดว่า เราจะมีวิธีหาพันธุ์มะม่วงที่ไม่เปรี้ยวเอามาปลูกในส่วนของเราได้อย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้มีสิทธิ์เลือกกินมะม่วงหวานได้จริงๆ กันบ้าง

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ขอความกรุณาอ่านให้ละเอียดนะครับ ผมยังไม่ได้บอกว่าระบบไหนดีกว่าระบบไหน และยังไม่ได้บอกว่าผมชอบหรือชังระบบไหน ชอบใครหรือชังใคร เพราะฉะนั้น ขอความกรุณาอย่าตีความเอาเอง 

ย้ำอีกที – ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะชวนให้คิดเท่านั้น ไม่ได้ชวนให้ชอบระบบไหนชังระบบไหน หรือชวนให้ชอบใครหรือชังใคร 

ขอให้ช่วยกันคิดแต่เพียงว่า ทำอย่างไรผู้ทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองของเราจึงจะไม่กอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง

ถ้าเรามั่นใจว่าเราฉลาดกว่าปู่ย่าตายายของตัวเอง เราก็ต้องคิดออกและทำได้จริงๆ-ทำให้ผู้บริหารบ้านเมืองของเราไม่กอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง ทำอย่างไร

หรือคิดให้ไกลกว่านั้นและเป็นหลักประกันได้มั่นคงกว่านั้นก็คือ เราจะช่วยกันอบรมสั่งสอนปลูกฝังลูกหลานไทยของเราด้วยวิธีการอย่างไร —

เพื่อที่ว่า-เมื่อเขาเติบโตขึ้นไปเป็นผู้บริหารบ้านเมืองในอนาคต เขาจะไม่กอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง-อย่างที่บรรพบุรุษของพวกเขาคือคนรุ่นเรากำลังกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องอยู่ในวันนี้ 

และเพื่อที่ว่า-เขาจะได้ไม่ถูกลูกหลานของเขาเองรุ่นต่อไปรุมประณามหยามหมิ่นดูถูกดูแคลนเหมือนกับที่ผู้บริหารบ้านเมืองรุ่นเราถูกกระทำอยู่ในวันนี้

ที่เขียนมาทั้งหมดมีเจตนาจะให้ช่วยกันคิดตรงจุดนี้ครับ

ถ้าไม่คิดและทำให้ได้ตรงจุดนี้ การบริหารบ้านเมืองของเราก็จะอยู่ในวังวนของการกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องต่อไปชั่วกาลนาน

หรือถ้าเราตกลงยอมรับกันว่า การบริหารบ้านเมืองก็คือการกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง ไม่ว่าผู้บริหารบ้านเมืองจะมาจากระบบไหนเราก็ควรเลิกตำหนิด่าว่ากันเสียที เพราะนั่นเท่ากับตำหนิสิ่งที่เรายอมรับเองแท้ๆ

ถ้าจะทำให้การตำหนิของเราชอบธรรม เราก็ต้องไม่ยอมรับว่าการกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้องเป็นความชอบธรรม

ซึ่งนั่นก็คือย้อนกลับไปที่คำถามว่า-เราจะช่วยกันอบรมสั่งสอนปลูกฝังลูกหลานไทยของเราด้วยวิธีการอย่างไรเพื่อที่ว่า-เมื่อเขาเติบโตขึ้นไปเป็นผู้บริหารบ้านเมืองในอนาคต เขาจะไม่กอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ มกราคม ๒๕๖๕

๑๐:๔๓

………………………………………………….

ผู้บริหารบ้านเมืองควรมาจากไหน

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *