จาตุมหาราชิกา (บาลีวันละคำ 3,508)

จาตุมหาราชิกา
สวรรค์ชั้นแรก
อ่านว่า จา-ตุ-มะ-หา-รา-ชิ-กา
ประกอบด้วยคำว่า จาตุ + มหาราชิกา
(๑) “จาตุ”
รูปคำเดิมเป็น “จตุ” อ่านว่า จะ-ตุ เป็นศัพท์จำพวก “สังขยา” (คำสำหรับนับจำนวน) แปลว่า สี่ (จำนวน 4)
สมาสกับ “มหาราชิกา” ทีฆะ อะ ที่ จ– เป็น อา (จตุ > จาตุ)
(๒) “มหาราชิกา”
รากศัพท์มาจาก มหา + ราช + อิก ปัจจัย
(ก) “มหา” ศัพท์เดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ, ขยายตัว) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เมื่อผ่านกรรมวิธีทางไวยากรณ์ได้รูปเป็น “มหา-” มักใช้เป็นส่วนหน้าของสมาส
(ข) “ราช” บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (อะ) ปัจจัย = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา
: รญฺชฺ + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา. (ป., ส.).”
“ราช” ความหมายตรงๆ ที่เข้าใจกัน คือ พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน
มหนฺต > มหา + ราช = มหาราช แปลตามศัพท์ว่า “พระราชาผู้ยิ่งใหญ่” (great king)
“มหาราช” บาลีอ่านว่า มะ-หา-รา-ชะ ภาษาไทยอ่านว่า มะ-หา-ราด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหาราช : (คำนาม) คำซึ่งมหาชนถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์; ชื่อธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์เรียกว่า ธงมหาราช; ชื่อกัณฑ์ที่ ๑๑ ของมหาชาติ.”
ในที่นี้ “มหาราช” หมายถึง เทวดาผู้ใหญ่
จตุ + มหาราช = จตุมหาราช > จาตุมหาราช บาลีอ่านว่า จา-ตุ-มะ-หา-รา-ชะ แปลตามศัพท์ว่า “เทวดาผู้ใหญ่ทั้งสี่”
“จาตุมหาราช” ภาษาไทยอ่านว่า จา-ตุ-มะ-หา-ราด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จาตุมหาราช : (คำนาม) ชื่อสวรรค์ชั้นแรกแห่งสวรรค์ ๖ ชั้น มีท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ผู้รักษาโลกในทิศทั้ง ๔ ร่วมกันปกครอง, จาตุมหาราชิก หรือ จาตุมหาราชิกา ก็ว่า (ดู ฉกามาพจร ประกอบ); เรียกหัวหน้าเทวดาผู้มีหน้าที่รักษาโลกในทิศทั้ง ๔ ว่า ท้าวจาตุมหาราช คือ ๑. ท้าวธตรฐ จอมภูตหรือจอมคนธรรพ์ รักษาโลกด้านทิศบูรพาหรือทิศตะวันออก ๒. ท้าววิรุฬหก จอมเทวดาหรือจอมกุมภัณฑ์ รักษาโลกด้านทิศทักษิณหรือทิศใต้ ๓. ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค รักษาโลกด้านทิศประจิมหรือทิศตะวันตก ๔. ท้าวกุเวร จอมยักษ์ รักษาโลกด้านทิศอุดรหรือทิศเหนือ, จตุโลกบาล หรือ จัตุโลกบาล ก็ว่า. (ป., ส.).”
(ค) จาตุมหาราช + อิก ปัจจัย
: จาตุมหาราช + อิก = จาตุมหาราชิก (จา-ตุ-มะ-หา-รา-ชิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำรงอยู่ในหมู่เทวดาผู้ใหญ่ทั้งสี่”
“จาตุมหาราชิก” เป็นคุณศัพท์ขยายคำว่า “เทวา” (เทวดาทั้งหลาย) เปลี่ยนรูปเป็น “จาตุมหาราชิกา” (จา-ตุ-มะ-หา-รา-ชิ-กา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จาตุมหาราชิก, จาตุมหาราชิกา : (คำนาม) ชื่อสวรรค์ชั้นแรกแห่งสวรรค์ ๖ ชั้น มีท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ผู้รักษาโลกในทิศทั้ง ๔ ร่วมกันปกครอง, จาตุมหาราช ก็ว่า. (ป., ส.).”
ขยายความ :
“จาตุมหาราชิกา” เป็น 1 ในสวรรค์ 6 ชั้น ที่เรียกว่า “ฉกามาพจร” (ฉะ-กา-มา-พะ-จอน) หรือ “ฉกามาวจร” (ฉะ-กา-มา-วะ-จอน) ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ฉกามาพจร, ฉกามาวจร : (คำนาม) สวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ ๑. จาตุมหาราช หรือจาตุมหาราชิกหรือจาตุมหาราชิกา ๒. ดาวดึงส์ ๓. ยามา ๔. ดุสิต ๕. นิมมานรดี ๖. ปรนิมมิตวสวัตดี. (ป. ฉ + กาม + อวจร).”
…………………………….
เพื่อเชื่อมโยงความเข้าใจให้เห็นภาพรวม โปรดดูเพิ่มเติมที่คำว่า “ภูมิ”
https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/4773940002699699
…………………………….
ดูก่อนภราดา!
: แบ่งกันเป็นใหญ่ เป็นใหญ่ทุกคน
: แย่งกันเป็นใหญ่ ไม่ได้เป็นใหญ่สักคน
#บาลีวันละคำ (3,508)
19-1-65
…………………………….
…………………………….