บาลีวันละคำ

ภูมิ (บาลีวันละคำ 3,507)

ภูมิ

คำสั้น แต่เรื่องยาว

ภูมิ” ภาษาไทยอ่านว่า พูม บาลีอ่านว่า พู-มิ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + มิ ปัจจัย

: ภู + มิ = ภูมิ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่มีอยู่เป็นอยู่แห่งสัตว์โลก” มีความหมายหลายอย่าง กล่าวคือ พื้นดิน, ดิน, แผ่นดิน, สถานที่, ถิ่น, แคว้น, แถบ, ภูมิภาค, พื้น, พื้นราบ, ขั้นตอน, ระดับ (ground, soil, earth, place, quarter, district, region, plane, stage, level)

ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “ภูมิ” เหมือนบาลี ถ้าอยู่ท้ายคำอ่านว่า พูม ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า พู-มิ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ภูมิ” ในภาษาไทยไว้ว่า (1) แผ่นดิน, ที่ดิน (2) พื้น, ชั้น, พื้นเพ; ความรู้ (3) สง่า, โอ่โถง, องอาจ, ผึ่งผาย

ตามความหมายในพจนานุกรมฯ ไม่มีความหมายข้อใดที่ตรงกับความหมายของ “ภูมิ” ที่ประสงค์ในที่นี้ ซึ่งหมายถึง ภพภูมิที่กำเนิดของสัตว์ทั้งหลาย

ขยายความ :

ขอนำคำว่า “ภูมิ” ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาแสดงไว้ในที่นี้ เพื่อความเข้าใจที่ดี

ในที่นี้ขออนุญาตจัดย่อหน้าใหม่เพื่อสะดวกแก่การอ่านจับใจความ โปรดค่อยๆ อ่านไปที่ละน้อยๆ จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น

…………..

ภูมิ :

1. พื้นเพ, พื้น, ชั้น, ที่ดิน, แผ่นดิน 

2. ชั้นแห่งจิต, ระดับจิตใจ, ระดับชีวิต มี ๔ คือ

๑. กามาวจรภูมิ ชั้นที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในกาม 

๒. รูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป หรือชั้นของพวกที่ได้รูปฌาน

๓. อรูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป หรือชั้นของพวกที่ได้อรูปฌาน

๔. โลกุตตรภูมิ ชั้นที่พ้นโลกหรือระดับพระอริยบุคคล, 

เรียกให้สั้นว่า กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และโลกุตตรภูมิ, 

ภูมิ ๔ นี้ จัดประเภทได้เป็น ๒ ระดับ คือ สามภูมิแรก เป็นโลกิยภูมิ ส่วนภูมิที่สี่ เป็นโลกุตตรภูมิ, 

บางทีเรียกโลกิยภูมิ ๓ นั้นรวมกันว่า “ไตรภูมิ” 

ใน ภูมิ ๔ นี้ สามภูมิแรก คือโลกิยภูมิ ๓ แยกย่อยออกไปได้เป็น ภูมิ ๓๑ คือ

……………………..

๑. กามาวจรภูมิ ๑๑ 

……………………..

แบ่งเป็นอบายภูมิ ๔ (นิรยะ – นรก, ติรัจฉานโยนิ – กำเนิดดิรัจฉาน, ปิตติวิสัย – แดนเปรต, อสุรกาย – พวกอสูร) 

และกามสุคติภูมิ ๗ (กามาวจรภูมิที่เป็นสุคติ คือ มนุษย์ และเทพชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี)

……………………..

๒. รูปาวจรภูมิ ๑๖ 

……………………..

ระดับของรูปพรหม แบ่งเป็น

ก. ปฐมฌานภูมิ ๓ (พรหมระดับปฐมฌาน ๓ คือ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา มหาพรหมา)

ข. ทุติยฌานภูมิ ๓ (พรหมระดับทุติยฌาน ๓ คือ ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา)

ค. ตติยฌานภูมิ ๓ (พรหมระดับตติยฌาน ๓ คือ ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา)

ง. จตุตถฌานภูมิ ๗ (พรหมระดับจตุตถฌาน ๗ คือ เวหัปผลา อสัญญีสัตว์ สุทธาวาส ๕ [ที่เกิดของพระอนาคามี ๕ คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา])

……………………..

๓. อรูปาวจรภูมิ ๔ 

……………………..

ระดับของอรูปพรหม (พรหมระดับอรูปฌาน ๔ คือ อากาสานัญจายตนภูมิ วิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ)

คำว่า “ภูมิ” นี้ มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “ภพ” ซึ่งบางทีก็พูดควบคู่ไปด้วยกัน 

แต่ที่แท้นั้น ภูมิหมายถึงระดับของจิตใจ 

ส่วนภพหมายถึงภาวะชีวิตของสัตว์ หรือโลกที่อยู่ของสัตว์ 

ดังนั้น ภูมิจึงมี ๔ เพราะนับโลกุตตรภูมิด้วย ส่วนภพมีเพียง ๓ เพราะโลกุตตรภพไม่มี 

แต่ในที่ทั่วไป เมื่อยกโลกุตตรภูมิออกไปแล้ว ภูมิ ๓ ที่เป็นโลกีย์ บางทีก็ใช้อย่างคลุมๆ รวมไปถึงโลกที่อยู่ของสัตว์ มีความหมายคล้ายกับคำว่า ภพ ๓ ด้วย (เช่นคำว่า “ไตรภูมิ” ที่นำมาพูดกันในภาษาไทย)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ภูมิมนุษย์เป็นชุมทาง

: จะขึ้นบนหรือลงล่าง เลือกได้ดังใจ

——————–

ภาพประกอบ: จาก google

#บาลีวันละคำ (3,507)

18-1-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *