บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จักได้อนุโมทนาโดยทั่วกัน

จักได้อนุโมทนาโดยทั่วกัน

—————————

ผมเป็นเด็กวัด ๕ ปีเต็มๆ 

วัดของผมคือวัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี หลวงปู่ป๋อง (พระครูขันตยาภิรัต) เป็นเจ้าอาวาส 

ช่วงเข้าพรรษา ชีวิตชาววัดจะคึกคักเป็นพิเศษตลอด ๓ เดือนเต็ม 

วันพระช่วงเข้าพรรษาเป็นวันที่พิเศษสุดในชีวิตของเด็กวัด 

ได้กินอิ่มกินเต็ม สารพัดจะบริบูรณ์พูนผล 

พูดอย่างนี้คงจะเข้าใจกันได้ดีว่า ชีวิตเด็กวัดเป็นชีวิตที่อดมากกว่าอิ่ม 

เด็กวัดจึงต้องมีเทคนิคในการเอาชีวิตรอดด้วยทรัพยากรในมืออันจำกัดอย่างยิ่ง 

เชื่อหรือไม่-เรามีเทคนิคในการกินข้าวบูดที่เหลือเชื่อ

ข้าวต้มมัดที่ล้นเหลือในวันพระ ในยุคสมัยที่ไม่มีตู้เย็น เรามีเทคนิคการถนอมอาหารที่เหนือชั้น เก็บไว้ได้นานโดยไม่บูด 

บอกสูตรแล้วจะตกตะลึง

แต่-แน่นอน การเอาตัวรอดทุกวิถีทางต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งศีลธรรมอันดีด้วย 

แต่เพราะความเป็นเด็กอันมีความซุกซนเป็นพื้นฐาน เราจึงโดนปราบด้วย “หางกระเบน” ของหลวงปู่โดยถ้วนหน้า 

จนมีคำกล่าวกันว่า 

“ไม่โดนหางกระเบนหลวงปู่ซัด 

ไม่ใช่เด็กวัดหนองกระทุ่ม”

…………………..

ช่วงเข้าพรรษา ชีวิตชาววัดจะคึกคักเป็นพิเศษตลอด ๓ เดือนเต็ม 

ทุกวัน – ยกเว้นวันโกนและวันพระ – พระเณรในวัดจะต้องเรียนพระปริยัติธรรม 

“โรงเรียนพระปริยัติธรรม” เป็นอาคารหรือสถานที่แห่งหนึ่งที่จะต้องมีทุกวัด 

อาจเป็นอาคารทั้งหลังที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนโดยตรง หรืออาจเป็นศาลา หรือเป็นเพียงห้อง หรือมุมใดมุมหนึ่งภายในวัด 

หรือวัดใดขัดข้อง พระเณรวัดนั้นก็จะไปเรียนร่วมกับวัดใกล้เคียง 

ความจริงแล้ว การศึกษา อบรม สั่งสอนพระธรรมวินัย ทำกันอยู่แล้วทุกวันในชีวิตประจำวันอันเป็นชีวิตจริง 

หลวงปู่อบรมพระทั้งวัด ไม่ใช่ด้วยการเรียกเข้าชั้นเรียน แต่ด้วยวิธีสั่งสอน ว่ากล่าว แนะนำ ดุ หรือบางทีก็ด่า ตามเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน 

พระเก่าแนะนำพระใหม่

พระแนะนำสั่งสอนสามเณร 

พระเณรอบรมสั่งสอนเด็กวัด

ด้วยวิธี-บอกให้จำ ทำให้เห็น เป็นให้ดู 

แต่พอถึงเข้าพรรษา การศึกษาพระธรรมวินัยจะเข้มข้นขึ้น เพราะจะทำด้วยวิธีเปิดชั้นเรียน 

เด็กวัดอย่างพวกเราจะพลอยได้ซึมซับบรรยากาศการเรียนไปด้วย 

เริ่มกันตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป จนถึงราวๆ สี่โมงครึ่งใกล้ๆ เวลาทำวัตรเย็น

พอบ่ายโมงจะตีระฆังเรียน ไม่ใช่ระฆังบนหอระฆัง แต่เป็นระฆังแบบที่ใช้ตามโรงเรียน 

เมื่อครูและนักเรียนมาพร้อมกันแล้ว จะเริ่มต้นด้วยการไหว้พระ 

พระที่เป็นครู ว่านำ 

พระเณรที่เข้าเรียน ว่าตาม 

อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา,

พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ.

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม,

ธมฺมํ นมสฺสามิ.

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ,

สงฺฆํ นมามิ. 

(พระที่เป็นครูว่า) หนฺท มยํ พุทฺธสฺส ภควโต ปุพฺพภาคนมการํ กโรม เส. 

(รับพร้อมกัน) นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส (๓ จบ)

จากนั้นจึงเริ่มเรียน

เลิกเรียนประจำวันก็จะไหว้พระอีกครั้ง แต่สวดเฉพาะ อรหํ สมฺมา… ถึง … สงฺฆํ นมามิ. (ไม่ต้อง นโม) 

…………………..

ผมยกเรื่องนี้มาเขียน เพราะไม่แน่ใจว่า ทุกวันนี้ — 

๑ วัดต่างๆ ยังมีการเปิดชั้นเรียนพระปริยัติธรรมในระหว่างเข้าพรรษากันอยู่หรือเปล่า 

๒ ธรรมเนียมไหว้พระก่อนลงมือเรียนและเมื่อเลิกเรียนแต่ละวัน ยังทำกันอยู่หรือเปล่า 

ธรรมเนียมไหว้พระก่อนเรียนในชั้นเรียนนั้น ผมว่าโรงเรียนทั่วไปก็ควรทำด้วย 

แต่-เชื่อได้เลย แค่เอ่ยปากเสนอขึ้นมา ก็จะมีเสียงค้านอึงคะนึง 

จะมีคนยกภูเขามาขวางหน้า แล้วอ้างสารพัดขัดข้อง 

หนึ่งในข้ออ้างยอดนิยมนั้นก็คือ-นักเรียนในห้องที่นับถือศาสนาอื่นเขาจะไม่สะดวกใจ – นั่นแน่! 

แย้งอะไรไม่ได้จริงๆ (อันที่จริงยังแย้งได้อีกเยอะ) ก็จะบอกว่า สวดมนต์หน้าเสาธงแค่นั้นก็น่าจะพอสมควรแล้ว จะเอาอะไรกันนักหนา

เราจะช่วยกันหาเหตุผลมาถ่วงรั้งขวางหน้าเพื่อที่จะ-ไม่ทำ 

แทนที่จะพยายามช่วยกันแก้ปัญหาและหาทางที่จะทำ 

นี่แหละครับ ครูไทย เด็กไทย ค่านิยมไทยสมัยนี้ 

…………………..

จึงขอเรียนถามด้วยความเคารพว่า ช่วงเข้าพรรษา ณ สมัยเพลาบัดนี้ วัดวาอารามต่างๆ ในสังฆมณฑลไทย ยังมีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมกันอย่างเข้มข้นกว่าช่วงเวลาปกติ-เหมือนที่ผมเคยเห็นสมัยเป็นเด็กวัดอยู่หรือเปล่า 

และธรรมเนียมไหว้พระก่อนและหลังเรียนยัง “ทำกันได้ ไหว้กันเป็น” อยู่หรือเปล่า

หรือจะยกภูเขามาขวางหน้าว่า เดี๋ยวนี้วัดต่างๆ ไม่มีพระเณรที่จะเข้าชั้นเรียนกันแล้ว 

ถ้าท่านไม่ได้เรียน แล้วท่านทำอะไรกัน 

หรือว่าท่านไปเรียนอะไรกัน

หรือว่าท่านรู้พระธรรมวินัยแจ่มแจ้งชัดเจนทั่วถ้วนทั่วถึงแล้ว ไม่ต้องเรียนอีกแล้ว

สามารถรักษาตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วได้แล้ว

และสามารถรักษานำพาพระศาสนาให้วัฒนาถาวรสืบไปได้เป็นอย่างดีแล้ว

จึงในช่วงฤดูกาลเข้าพรรษานี้ต่างก็เพียรพยายามปฏิบัติบำเพ็ญภาวนาขัดเกลาจิตใจตนอย่างขะมักเขม้น เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ประการหนึ่ง และเพื่อเข้าใกล้มรรคผลควรแก่วิสัยสามารถแห่งตนๆ อีกประการหนึ่ง-อยู่โดยทั่วกัน 

ดังที่กระผมเข้าใจมานี้ยังจะถูกต้องอยู่ฤๅหาไม่ประการไร 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒

๑๑:๓๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *