มกระมะหามะหรรนพเดช (บาลีวันละคำ 2,594)
มกระมะหามะหรรนพเดช
ชื่อเรือ – อ่านและแปลว่ากระไร
“มกระมะหามะหรรนพเดช” เป็นการสะกดตามอักขรวิธีโบราณ แยกคำได้ดังนี้ มกระ + มะหา + มะหรรนพ + เดช
(๑) “มกระ”
สะกดตามอักขรวิธีปัจจุบันเป็น “มกร” บาลีอ่านว่า มะ-กะ-ระ รากศัพท์มาจาก มุข (หน้า) + กิรฺ (ธาตุ = เรี่ยราย, ซัดส่าย) + อ ปัจจัย, แปลง มุข เป็น ม, แปลง อิ ที่ กิรฺ เป็น อะ (กิรฺ > กร)
: มุข + กิรฺ = มุขกิร + อ = มุขกิร > มกิร > มกร แปลตามศัพท์ว่า “ปลาที่ส่ายหน้าเมื่อถูกจับ”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “มกร” ว่า ปลามังกร, ม้าน้ำ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มกร” ว่า a mythical fish or sea monster, Leviathan (ปลาในนิทานหรือสัตว์ที่น่ากลัวในทะเล, มังกร)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มกร, มกร– : (คำนาม) มังกร, ชื่อดาวราศีที่ ๑๐. (ป., ส.).”
(๒) “มะหา”
สะกดตามอักขรวิธีปัจจุบันเป็น “มหา” (มะ-หา) รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ “มหนฺต” เปลี่ยนรูปเป็น “มหา”
(๓) “มะหรรนพ”
สะกดตามอักขรวิธีปัจจุบันเป็น “มหรรณพ” อ่านว่า มะ-หัน-นบ บาลีเป็น “มหณฺณว” (มะ-หัน-นะ-วะ) แยกศัพท์เป็น มหา + อณฺณว
(1) “มหา” (มะ-หา) ดูที่ข้อ (๒) “มะหา” ข้างต้น
ในที่นี้ “มหนฺต” เปลี่ยนรูปเป็น “มห-”
(2) “อณฺณว” (อัน-นะ-วะ) รากศัพท์มาจาก อณฺณ + ว
(ก) “อณฺณ” (อัน-นะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อณฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + อ ปัจจัย, ซ้อน ณฺ
: อณฺ + ณฺ + อ = อณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ส่งเสียงได้”
(2) อรฺ (ธาตุ = ไป) + ต ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ณฺณ
: อรฺ + ต = อรต > อณฺณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไหลไป”
“อณฺณ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง น้ำ
(ข) อณฺณ + วา (ธาตุ = ไป) + อ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ วา (วา > ว)
: อณฺณ + วา = อณฺณวา > อณฺณว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “พื้นที่เป็นที่ไหลไปแห่งน้ำ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อณฺณว” ว่า –
(1) ห้วงน้ำใหญ่, ทะเลหรือมหาสมุทร (a great flood, the sea or ocean)
(2) ลำธาร, แม่น้ำ (a stream, river)
“อณฺณว” ในภาษาไทยใช้ว่า “อรรณพ” (อัน-นบ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรรณพ : (คำนาม) ห้วงนํ้า, ทะเล, มหาสมุทร. (ส. อรฺณว; ป. อณฺณว).”
บาลี “อณฺณว” สันสกฤตเป็น “อรฺณว”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อรฺณว : (คำนาม) สมุทร์; an ocean.”
เป็นอันย้ำว่า อณฺณว > อรฺณว > อรรณพ คือทะเล หรือมหาสมุทร
มหนฺต > มหา > มห + อณฺณว = มหณฺณว แปลตามศัพท์ว่า “ห้วงน้ำใหญ่”
ในที่นี้ ไม่ใช่ “อณฺณว” หรือ “อรรณพ” ธรรมดา แต่เป็น “ มหณฺณว” เป็นการขยายขนาดของ “อณฺณว” ให้กว้างใหญ่ออกไปอีก ตรงกับที่แปลว่า ห้วงน้ำใหญ่ (a great flood)
(๔) “เดช”
บาลีเป็น “เตช” (เต-ชะ) รากศัพท์มาจาก ติชฺ (ธาตุ = ทำให้ร้อน, ลับให้คม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ ติ-(ชฺ) เป็น เอ (ติชฺ > เตช)
: ติชฺ + ณ = ติชณ > ติช > เตช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เผาภูตรูปและอุปาทายรูปให้มอดไหม้” หมายถึง ความร้อน, เปลวไฟ, ไฟ, แสงสว่าง; ความเปล่งปลั่ง, ความรุ่งโรจน์, ความโชติช่วง, ความงดงาม, พลัง, ความแข็งแรง, อำนาจ (heat, flame, fire, light; radiance, effulgence, splendour, glory, energy, strength, power)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “เตช” แปลตามศัพท์ว่า “sharpness” (ความคม)
บาลี “เตช” ในภาษาไทยใช้เป็น “เดช” “เดชะ” และ “เดโช”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) เดช, เดชะ : (คำแบบ) (คำนาม) อํานาจ; ความร้อน, ไฟ. (ป. เตช; ส. เตชสฺ).
(2) เดโช : (คำนาม) อํานาจ; ความร้อน, ไฟ. (ป. เตช; ส. เตชสฺ).
การประสมคำ :
๑ มะหา + มะหรรนพ = มะหามะหรรนพ แปลว่า “มหรรณพใหญ่” คือท้องทะเลหลวง
อันที่จริง “มะหรรนพ” ก็มี “มหา” อยู่แล้ว แต่เมื่อกลายรูปเป็น “มะหรรนพ” ก็เป็นคำใหม่ ดูด้วยตาก็ไม่เห็นรูปคำ “มหา” ตรงตัว จึงอนุโลมให้ใช้ “มหา” มาเป็นคำขยายซ้ำได้อีก
๒ มกระ + มะหามะหรรนพ = มกระมะหามะหรรนพ แปลว่า “มังกรในท้องทะเลหลวง”
๓ มกระมะหามะหรรนพ + เดช = มกระมะหามะหรรนพเดช แปลว่า “มังกรผู้มีเดชในท้องทะเลหลวง”
“มกระมะหามะหรรนพเดช” เขียนตามอักขรวิธีปัจจุบันเป็น “มกรมหามหรรณพเดช”
แยกคำเป็น : มกร + มหา + มหรรณพ + เดช
อ่านว่า มะ-กะ-ระ-มะ-หา-มะ-หัน-นบ-พะ-เดด
แปลโดยประสงค์ว่า “เรือที่มีอานุภาพปานมังกรคะนองเดชในท้องทะเลหลวง”
“มกระมะหามะหรรนพเดช” เป็นชื่อเรือลำหนึ่งในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคสมัยกรุงศรีอยุธยา
…………..
ดูก่อนภราดา!
อันท่อนซุงท่อนไม้ไร้ชีวิต
ช่างประดิษฐ์เป็นมังกรกระฉ่อนสินธุ์
เป็นมนุษย์ไม่ฝึกตนเป็นมลทิน
ควรซุกสิ้นหน้าซ่อนอายท่อนซุง
——————
(ตอบคำถามของ Tham Thornthan) ผู้กำลังศึกษาสืบค้นกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง และได้พบชื่อเรือลำนี้)
#บาลีวันละคำ (2,594)
20-7-62